คอลัมน์ไฮไลต์โลก: เจ้าสาวส่งออก

แฟ้มภาพรอยเตอร์

อาจเป็นแค่เส้นบางๆ ระหว่างคำว่า “เหยื่อ” กับ “ผู้สมคบคิด” ในกรณีของพ่อแม่ขายลูกสาวกิน ที่ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของปัญหาการค้ามนุษย์ ที่มีกรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นดาษดื่นในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา หนึ่งในชาติอาเซียนที่ความยากจนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งข้อเขียนของสำนักข่าวรอยเตอร์หยิบยกปัญหาการขายลูกสาวของครอบครัวชาวกัมพูชาให้ไปแต่งงานกับชายชาวจีนผ่านนายหน้าคนกลางขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่าง

รอยเตอร์อ้างข้อมูลจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวบอกว่ามีผู้หญิงจากกัมพูชา ลาว เวียดนามและเมียนมานับหลายแสนคนที่ถูกส่งไปจีนเพื่อแต่งงานกับชายชาวจีนที่นั่น ในขณะที่ข้อมูลของสถาบันสังคมวิทยาของจีนชี้ว่าภายในปี 2563 จะมีผู้ชายชาวจีนถึงราว 40 ล้านคนที่อาจจะต้องอิมพอร์ตเจ้าสาวมาจากต่างประเทศ แทนที่จะหาผู้หญิงชาติเดียวกันแต่งงานได้ เพราะปัญหาความไม่สมดุลกันของประชากรเพศชายกับเพศหญิงในจีนที่เหลื่อมล้ำกันอยู่อย่างมาก อันเป็นผลพวงมาจากนโยบายลูกโทนของทางการจีนและค่านิยมลูกชายมากกว่าลูกสาว

ผู้หญิงบางคนอาจโชคดีได้แต่งงานใช้ชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุขกับสามีชาวจีน แต่ส่วนใหญ่ชีวิตเป็นไปในทางตรงกันข้าม ต้องเผชิญกับความรุนแรง ถูกทารุณทำร้าย หรือการกดขี่บังคับใช้แรงงาน ตลอดจนการอาจถูกริดสิทธิเสรีภาพ

รอยเตอร์ระบุว่า ครอบครัวที่มีฐานะยากจนในต่างจังหวัดของกัมพูชา เช่นในจังหวัดกัมปงจาม หนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหานี้หนักสุด ตกเป็น “ซอฟท์ ทาร์เก็ต” หรือกลุ่มเป้าหมายของเหล่า “นายหน้าคนกลาง” ที่อาจเป็นเพื่อนบ้าน คนรู้จัก หรือเครือญาติกันเอง ที่ทำการจัดหาเด็กสาวเขมรส่งไปประเทศจีน โดยใช้ “เงิน” เป็นตัวล่อ นอกเหนือจากเล่ห์เพทุบายอื่นๆ มาใช้หลอกล่อพ่อแม่เด็กกล่อมลูกสาวให้ยอมแต่งงานไปกับชายชาวจีนด้วยการวาดฝันภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าให้

Advertisement

กรณีในลักษณะนี้อาจทำให้พ่อแม่ของเด็กดูจะคาบเกี่ยวกับการตกเป็นเหยื่อไปพร้อมกับการเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับขบวนการค้ามนุษย์ไปโดยปริยาย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของกัมพูชารายหนึ่งที่มีประสบการณ์การทำงานในการปราบปรามการค้ามนุษย์มานานถึง 16 ปีบอกว่าปัญหาการส่งออกเจ้าสาวเขมรไปจีนกำลังเป็นปัญหาที่น่าห่วงกังวลที่สุดอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากมีแนวโน้มเด็กสาวชาวเขมรถูกล่อลวงไปแต่งงานกับชายชาวจีนมากขึ้น ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนเด็กสาวที่ถูกครอบครัวขายไปให้แต่งงานกับหนุ่มจีน มีค่าตัวรายละเพียง 500 ดอลลาร์สหรัฐ (16,000 บาท) แต่ตอนนี้พ่อแม่เด็กจะได้เงินค่าตัวลูกสาวถึงรายละ 3,000 ดอลลาร์ (ราว 95,000 บาท) ซึ่งเงินล่อใจสูงขนาดนี้ ทำให้ครอบครัวที่มีฐานะยากจนและยังมีหนี้สินท่วมตัว ยากที่จะปฏิเสธ ไม่ขายลูกสาวได้

ในส่วนของนายหน้าจัดหาเด็กสาวส่งออกไปต่างประเทศ ก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับเจ้าหน้าที่ในการติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี เนื่องจากแก๊งค้ามนุษย์เหล่านี้มักใช้ชื่อแฝงหรือชื่อเล่นและไร้ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อีกทั้งยังว่าจ้างผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่เป็นเครือข่ายบังหน้าในการเกลี้ยกล่อมครอบครัวเด็กสาวให้ขายลูกสาวกิน

Advertisement

ปัญหานี้เป็นเพียงหนึ่งในกรณีศึกษาของปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ยังคงเป็นปัญหาแพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่กัมพูชา ซึ่งภาครัฐและฝ่ายบังคับใช้กฎหมายจะต้องหามาตรการและบังคับใช้อย่างจริงจังในการปราบปรามวงจรการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image