วิเทศวิถี : ความตื่นตัวของคนไทย ในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

อีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ก็จะถึงวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคมนี้ หลังจากว่างเว้นกันไปเกือบ 5 ปี ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะได้รับความสนใจอย่างสูงจากประชาชนคนไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและในต่างประเทศ การตื่นตัวในการออกมาใช้สิทธิใช้เสียงของประชาชนนับเป็นสัญญานบวกที่สะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนในการกำหนดอนาคตของประเทศไทยที่ทุกคนอยากเห็น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกเช่นกัน การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่อยู่ภายใต้ความดูแลของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งกำหนดจัดขึ้นในช่วงวันที่ 4-16 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก

ปัจจุบันประมาณว่ามีคนไทยอาศัยอยู่นอกราชอาณาจักรเป็นจำนวนประมาณ 1,300,000 คน โดยอยู่ในทวีปเอเชียและทวีปอเมริกาเหนือมากที่สุด คือประมาณ 500,000 คนในทวีปเอเชีย และในทวีปอเมริกาเหนือ 400,000 คน อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมีจำนวนไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนประชากร โดยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักรเมื่อปี 2554 มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 146,142 ราย มีผู้มาใช้สิทธิเป็นจำนวน 76,689 ราย คิดเป็นร้อยละ 52 ขณะที่การเลือกตั้งส.ส.นอกราชอาณาจักรเมื่อปี 2557 มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 143,807 มีผู้มาใช้สิทธิเป็นจำนวน 38,350 ราย คิดเป็นร้อยละ 27

Advertisement

สำหรับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 119,184 ราย แน่นอนว่าจำนวนอาจจะดูน้อยกว่าการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในครั้งก่อนๆ แต่เหตุผลสำคัญน่าจะมาจากครั้งนี้เป็นการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด โดยมีการเปิดให้การลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 23 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องรอให้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเสียก่อน ขั้นตอนอื่นๆ จึงจะสามารถดำเนินการได้

กระทรวงการต่างประเทศมีเวลาเตรียมการในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้สั้นมากเพียงไม่ถึง 3 เดือน และได้มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่กงสุลไทยทั่วโลก ซึ่งจะรับหน้าที่ผู้จัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562

Advertisement

สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกซึ่งมีอยู่ 94 แห่งใน 67 ประเทศ ได้กำหนดวิธีการลงคะแนนเป็น 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย 1.การจัดคูหา 70 แห่ง 2.การจัดให้มีการลงคะแนนทางไปรษณีย์ 50 แห่ง และ 3.วิธีอื่นๆ คือการจัดหน่วยเคลื่อนที่ หรือโมบาย ยูนิต 24 แห่ง โดยในหลายประเทศก็มีการจัดการเลือกตั้งในหลายรูปแบบผสมผสานกัน

จากการที่ได้พูดคุยสอบถามกับนักการทูตหลายคนในหลายสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก สิ่งที่ได้รับการสะท้อนออกมาเหมือนกันในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้คือประชาชนคนไทยตื่นตัวที่จะออกมาใช้สิทธิกันอย่างมาก นับจนถึงขณะนี้มีสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยหลายสิบแห่งที่ได้จัดการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วอย่างเป็นทางการและได้มีการทยอยส่งบัตรเลือกตั้งกลับมาทางถุงเมล์การทูตแล้ว ซึ่งตัวเลขการใช้สิทธิในสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่แต่ละแห่งนั้น มีผู้มาเลือกตั้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอดีต ต้องถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเป็นประวัติการณ์

โดยสถิติคนไทยในต่างประเทศที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ตามข้อมูลเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ 1. สถานทูตไทย ณ สิงคโปร์ มีผู้ใช้สิทธิ 4,151 ราย 2. สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย 1,291 คน 3.สถานทูตไทย ณ ประเทศบาห์เรน 761 คน 4.สถานกงสุลใหญ่ ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 752 คน 5. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม 649 คน หลังวันที่ 16 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ จะมีการสรุปตัวเลขอย่างเป็นทางการออกมาอีกครั้ง คาดว่าตัวเลขการใช้สิทธิโดยรวมจะสูงกว่านี้มาก

แม้จะมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในบางประเทศออกมาบ้าง อาทิ ในมาเลเซียที่ผู้คนต้องมาเข้าคิวรอใช้สิทธิเป็นเวลานาน หรือที่มีการกล่าวหาว่ามีบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์หาย แต่ในที่สุด สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้การจัดการเลือกตั้งผ่านไปได้ด้วยความเรียบร้อย

หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้หลังเห็นข่าวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น แต่หากจะมองด้วยใจเป็นธรรมจะเห็นว่า การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้วิธีการจัดการเลือกตั้งหลากหลายรูปแบบ ยังไม่ต้องพูดถึงขั้นตอนการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้บัตรเลือกตั้งแบบใหม่ ที่แต่ละเขตเลือกตั้งจะมีบัตรเลือกตั้งเฉพาะเป็นของตนเอง การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจึงมีความวุ่นวายมากกว่าการจัดการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งทั่วไป เพราะในหลายประเทศมีผู้มาลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งครบทั้ง 350 เขต

นั่นหมายความว่าหลังขั้นตอนแรกในการตรวจสอบเพื่อระบุเขตของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วเสร็จ ก็ต้องมีการไปรับบัตรเลือกตั้งให้ตรงตามเขตของตน ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องค้นจากบัตรเลือกตั้งที่เตรียมไว้ทั้ง 350 เขต ด้วยการที่บัตรเลือกตั้งทั้ง 350 เขต มีเลขของพรรคต่างๆ ไม่ตรงกันสักเขตเดียว ผู้มาใช้สิทธิส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาในการเดินไปเปิดหาข้อมูลของผู้สมัครในเขตเลือกตั้งที่ตนตั้งใจจะเลือก เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการลงคะแนนขึ้น ก่อนที่ผู้มาใช้สิทธิจะไปกาบัตรในคูหา และนำไปหย่อนใส่ตู้

ความวุ่นวายในการจัดการเลือกตั้งไม่ได้จบลงเท่านั้น เมื่อจัดการเลือกตั้งเสร็จ เจ้าหน้าที่ของสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ต้องมาคัดแยกบัตรลงคะแนนทั้งหมดแบ่งตามเขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขต ก่อนที่จะส่งลงถุงเมล์ทางการทูตกลับมายังประเทศไทย ซึ่งงานที่ว่ามาทั้งหมดนั้นต้องดำเนินการกันภายใต้บุคลากรที่มีอยู่ไม่มากนักของสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยแต่ละแห่ง

ขณะที่การส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่มีรายงานว่ามีปัญหาหลายแห่งนั้น ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการจ่าหน้าซองที่ไม่ชัดเจน กรอกที่อยู่ไม่สมบูรณ์ หรือให้ที่อยู่ที่เป็นบ้านของคนอื่น หรือเป็นสถานที่ทำงาน เมื่อทราบข้อมูลในกรณีที่มีการนำมาโพสต์ตามโซเชียลมีเดีย สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ได้พยายามประสานงานกับเครือข่ายคนไทยในพื้นที่ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ก็ได้รับการแก้ไขไปแล้ว โดยในส่วนของบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่ได้รับล่าช้า หากส่งมาหลังวันที่ 16 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กระทรวงต่างประเทศก็ได้เตรียมขั้นตอนในการนำบัตรเลือกตั้งส่วนนี้กลับมาประเทศไทยแล้วเช่นกัน ขณะที่การส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศทั้งหมดจะดำเนินการภายในวันที่ 20 มีนาคม เพื่อส่งมอบให้กับกกต. สำหรับนำไปนับคะแนนรวมกับบัตรเลือกตั้งในประเทศในวันที่ 24 มีนาคมนี้

เป็นเรื่องจริงที่มีปัญหาเกิดขึ้นบ้างในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้ แต่หากเข้าใจว่าในขั้นตอนการจัดการเลือกตั้งนั้นมีรายละเอียดวุ่นวายมากมายเพียงไหน ก็น่าจะพอเข้าใจได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว แน่นอนว่าหลังจากนี้สิ่งที่เป็นปัญหาจะถูกนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น

เมื่อดูจากตัวเลขว่าเรามีสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ที่จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรครั้งนี้รวม 94 แห่ง ปัญหาที่พบถือได้ว่าน้อยมาก และท่ามกลางการตำหนิติเตียนที่มีการเผยแพร่กันออกมา ก็ยังมีเสียงชื่นชมจากประชาชนที่พอใจกับการบริหารจัดการของสถานทูตที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเช่นกัน อาทิ สถานทูตไทยที่ประเทศฝรั่งเศส ที่ถือว่ามีคนมาใช้สิทธิอย่างคึกคักเช่นกัน

ขอให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี ในช่วงเวลาที่เรากำลังนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญของคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image