วิจัยชี้ ‘คนวัย 65’ ขึ้นไปแชร์ ‘ข่าวปลอม’ มากกว่าคนรุ่นอื่น

REUTERS/Regis Duvignau/File Photo

เว็บไซต์บิสซิเนสอินไซเดอร์ รายงานอ้างผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก พบว่า ชาวอเมริกันวัย 65 ปีมีโอกาสแชร์ข่าวปลอมมากกว่าคนในช่วงวัยอื่นๆ โดยแนวโน้มดังกล่าวเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลมากกว่าการศึกษา เพศ หรือแม้แต่มุมมองทางการเมือง

รายงานระบุว่านักวิจัยเก็บตัวอย่างทางออนไลน์จำนวน 3,500 คน ในจำนวนนี้ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊กโดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาว่ามีตัวแปรอะไรบ้างที่มีผลต่อการแชร์ข้อมูลที่ผิดพลาดบนเฟซบุ๊กในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2016

โดยผลการศึกษาพบว่า สำหรับผู้ที่ใช้เฟซบุ๊ก มีเพียง 49 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พร้อมแบ่งปันข้อมูลโปรไฟล์ของตนเอง โดยในจำนวนนี้ผู้ที่มีอายุ 65 ปีเท่านั้นที่เป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักวิจัย โดย 11 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปแชร์บทความที่เป็นข่าวปลอม เปรียบเทียมกับกลุ่มผู้ใช้อายุ 18-29 ปีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แชร์ข่าวปลอม จากลิสต์ข่าวปลอมที่รวบรวมโดย เครก ซิลเวอร์แมน นักข่าวจากสำนักข่าวบัซฟีดนิวส์

แอนดริว เกสส์ หนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัยระบุว่าสิ่งที่น่าสนใจคือความสัมพันธ์ดังกล่าวยังคงเป็นเช่นเดิมแม้จะมีการควบคุมตัวแปรเรื่องแนวคิดหรือความเกี่ยวข้องทางการเมือง นั่นแสดงให้เห็นว่าการแชร์ข่าวปลอมนั้นไม่เพียงเพราะผู้สูงอายุนั้นเป็นอนุรักษ์นิยมเพียงอย่างเดียว

Advertisement

ผลการศึกษายังพบด้วยว่า แม้ผู้ที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน จะมีโอกาสมากกว่าในการแชร์ลิงก์ที่มาจากเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาด แต่ผู้ที่ระบุว่าตนมีแนวคิดการเมืองเป็นอิสระ ก็แชร์ข้อมูลจากเว็บไซต์เดียวกันในสัดส่วนที่พอๆกัน

ทั้งนี้ผลการศึกษาสรุปว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปนั้นแชร์ข่าวที่มีข้อมูลผิดพลาดและบิดเบือนอย่างจงใจในโซเชียลมีเดีย มากกว่า และผลการวิจัยดังกล่าวอาจช่วยให้บริษัทสื่อสัมออนไลน์ถอดรหัสวิธีแก้ปัญหาการเผยแพร่ข่าวปลอมได้มากขึ้น

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image