สถานทูตแนะนำคนไทยเที่ยวฝรั่งเศสเดือนเม.ย. ระมัดระวัง-ติดตามข่าวสาร

(แฟ้มภาพ) AFP

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ออกประกาศเรื่องข้อแนะนำสำหรับการท่องเที่ยวในฝรั่งเศส ความว่า ด้วยเดือนเมษายนของทุกปีเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมเดินทางมาประเทศฝรั่งเศส และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสมักได้รับคำร้องทุกข์กรณีทรัพย์สินและหนังสือเดินทางสูญหายหรือถูกขโมย สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอแจ้งคำแนะนำที่อาจเป็นประโยชน์แก่คนไทยที่จะเดินทางมาฝรั่งเศส ดังนี้

1. การเตรียมตัวก่อนเดินทาง
1.1 ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด ทั้งจากสื่อทั่วไปและช่องทางของสถานเอกอัครราชทูตฯ (เฟซบุ๊ค Royal Thai Embassy – Paris, France และเว็บไซต์ http://www.thaiembassy.fr/) และอาจดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เป็นประโยชน์ไว้ล่วงหน้า เช่น ThaiConsular (กรมการกงสุล) France 24 (สำนักข่าวฝรั่งเศส) RATP (การขนส่งในกรุงปารีสและปริมณฑล) และ SNCF (การรถไฟฝรั่งเศส) เป็นต้น

1.2 ถ่ายสำเนาเอกสารสำคัญ (หรือสแกนแล้วส่งเข้าอีเมล์ตนเอง) ได้แก่ หนังสือเดินทาง วีซ่า บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน บัตรโดยสารเที่ยวบิน และเก็บแยกไว้จากทรัพย์สินมีค่า เนื่องจากในกรณีหนังสือเดินทางสูญหาย ต้องใช้สำเนาเอกสารเหล่านี้ประกอบการออกเอกสารประจำตัวเพื่อเดินทางออกจากฝรั่งเศส

1.3 พกพาเงินสดเท่าที่จำเป็น โดยแบ่งเก็บในที่ต่าง ๆ พยายามใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เป็นหลัก (ใช้ได้แทบทุกแห่งในฝรั่งเศส) และจดหมายเลขโทรศัพท์บริษัทบัตรเครดิตไว้หากต้องแจ้งอายัดบัตร

Advertisement

1.4 บันทึกหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ คือ +33 1 56 26 50 50 สำหรับติดต่อในวันและเวลาทำการ (วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.30-12.30 น. และ 14.00-17.00 น.) หรือหมายเลขฉุกเฉิน +33 6 03 59 97 05 และ +33 6 46 71 96 94 สำหรับติดต่อนอกเวลาทำการเท่านั้น ทั้งนี้ สามารถสอบถามเรื่องทั่วไปกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ที่อีเมล์ [email protected]

2. การระมัดระวังทรัพย์สิน มิจฉาชีพ และผู้ก่อความไม่สงบ
2.1 อย่าละสายตาจากกระเป๋าหรือทรัพย์สินในที่สาธารณะเป็นเวลานาน รวมถึงสถานที่ซึ่ง ดูเหมือนว่าปลอดภัย เช่น ล็อบบี้โรงแรม ร้านอาหาร และสนามบิน

2.2 เพิ่มความระมัดระวังขณะเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน สถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้คนหนาแน่น รวมถึงห้างสรรพสินค้าซึ่งมิจฉาชีพอาจแอบแฝง โดยเก็บของมีค่าให้มิดชิด เช่น ด้านในเสื้อคลุมที่มีซิปหรือกระดุมปิด เพื่อป้องกันการถูกล้วงกระเป๋า

Advertisement

2.3 หลีกเลี่ยงการแต่งกายด้วยเครื่องประดับราคาแพงและการแสดงทรัพย์สินมีค่า ในที่สาธารณะ ซึ่งจะดึงดูดความสนใจของมิจฉาชีพ

2.4 อย่าสนทนาหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น เนื่องจากบ่อยครั้งที่การเข้ามาทักทาย ถามเส้นทาง หรือขอความช่วยเหลือ เป็นเพียงการเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อให้ขบวนการมิจฉาชีพ ที่หลากหลายเชื้อชาติและอาจแต่งตัวดี และมักมากันเป็นกลุ่ม ฉวยโอกาสล้วงกระเป๋าโดยไม่ทันระวังตัว ตัวอย่างลักษณะมิจฉาชีพในปัจจุบัน เช่น กลุ่มวัยรุ่นเข้ามาขอให้ตอบแบบสอบถาม เป็นต้น

2.5 หากเช่ารถขับ อย่าวางกระเป๋าหรือของมีค่าในจุดที่สังเกตได้ง่ายจากนอกรถ และ อย่าจอดรถในที่เปลี่ยว เพราะมีหลายกรณีที่มิจฉาชีพทุบกระจกรถเพื่อขโมยของ (แม้อยู่ระหว่างการจราจร)

2.6 ปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของทางการฝรั่งเศสอย่างเคร่งครัด และสังเกตสิ่งผิดปกติขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ หากสงสัยว่าจะมีมิจฉาชีพหรือผู้ก่อความไม่สงบ ขอให้แยกตัวออกมาและพยายามเดินหาเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารในเครื่องแบบ หรือเดินเข้าร้านค้าใกล้เคียงเพื่อขอความช่วยเหลือจากพนักงานในการแจ้งตำรวจ

3. กลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลือง (“gilets jaunes” หรือ “yellow vests”)
3.1 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 ชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งได้รวมตัวชุมนุมประท้วงในกรุงปารีสและตามเมืองต่าง ๆ โดยใส่เสื้อกั๊กสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อปัญหาทางเศรษฐกิจและต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสในภาพรวม โดยการชุมนุมใหญ่มีขึ้นทุกวันเสาร์ ซึ่งแต่ละครั้งมีจุดนัดพบและเส้นทางเดินขบวนต่างกัน ระดับความรุนแรงต่างกัน และยังไม่มีแนวโน้มว่าการชุมนุมจะสิ้นสุดเมื่อใด ทั้งนี้ การชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาส่งผลให้มีการปิดร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยว ถนน และสถานีรถไฟใต้ดินในพื้นที่เสี่ยงด้วย

3.2 ทุกค่ำวันศุกร์ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะลงข้อความทางเฟซบุ๊คเพื่อแจ้งข้อมูลเท่าที่ทราบเกี่ยวกับการชุมนุมในวันเสาร์ เพื่อให้คนไทยหลีกเลี่ยงบริเวณที่คาดว่าจะมีการชุมนุม และสามารถ วางแผนการท่องเที่ยวและเดินทางได้อย่างเหมาะสม

4. กรณีต้องการความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตฯ
4.1 หนังสือเดินทางหาย รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจ เตรียมเอกสารประกอบและค่าธรรมเนียมตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ http://www.thaiembassy.fr/services/passport/passport-lost/ และติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ตามหมายเลขในข้อ 1.4 เพื่อนัดหมายการทำหนังสือสำคัญประจำตัว (C.I.) หรือหนังสือเดินทางชั่วคราว ทั้งนี้ ท่านอาจจำเป็นต้องเลื่อนการเดินทางออกจากฝรั่งเศสในบางกรณี

4.2 กรณีอื่น ๆ ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ตามหมายเลขในข้อ 1.4

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image