คอลัมน์ โกลบอล โฟกัส: โศกนาฏกรรมที่เวเนซุเอลา

Allison Joyce/Reuters

เมื่อถึงเวลาเช้าของวันธรรมดาวันหนึ่ง ที่โรงพยาบาลประจำกรุงการากัส นครหลวงของเวเนซุเอลา

ทารกแรกเกิดในวอร์ดแม่และเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย!

เช้าวันนั้นเริ่มต้นด้วยความโกลาหลเป็นปกติ ทุกอย่างที่แวดล้อมบุคลากรทุกๆ คนในโรงพยาบาลล้วนแต่เต็มไปด้วยอันตราย เริ่มตั้งแต่การขาดแคลนยาปฏิชีวนะอย่างรุนแรง น้ำเกลือไม่มีเหลือ ไม่มีแม้กระทั่งอาหาร…แล้วอีกอย่างก็ตามมา เป็นปกติอีกเช่นกัน

ไฟดับ!

Advertisement

เครื่องช่วยหายใจประจำวอร์ดยุติการทำงานลงเฉียบพลัน หมอกับพยาบาลพยายามสุดกำลังเพื่อปั๊มอากาศเข้าสู่ปอดของเด็กๆ แรกเกิดด้วยอุปกรณ์ปั๊มด้วยมือนานนับเป็นชั่วโมงๆ

ตกค่ำวันเดียวกันนั้น เด็กแรกเกิดอีก 4 ราย เสียชีวิต!

ออสเลดี คาเมโฮ ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาล “แห่งชาติ” แห่งนั้น บอกกับ นิโคลัส คาซีย์เมย์ ผู้สื่อข่าว นิวยอร์กไทมส์ ด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย ไร้ความรู้สึกเจือปนว่า

Advertisement

“ความตายของเด็กแรกเกิด มีมาให้เห็นประจำเหมือนขนมปังที่เราต้องกินทุกวัน”

ข้อเท็จจริงดิบๆ ภายใต้คำบอกเล่าเรียบๆ นั้นก็คือ ระบบสาธารณสุขของเวเนซุเอลากำลังล่มสลาย

“โรงพยาบาล” กลายเป็นภาพสะท้อนของโศกนาฏกรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมที่นี่ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อหน้า ให้เห็นกันจะจะ ขึ้นอยู่กับว่า ใคร “มอง” แล้วจะ “เห็น” ข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์หายนะนี้หรือไม่

ตัวเลขไม่กี่ตัวแสดงให้เห็นสภาวะเลวร้ายน่าใจหาย อัตราการเสียชีวิตของทารกอายุไม่เกิน 1 เดือนในบรรดาโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศเวเนซุเอลาที่บริหารงานโดยรัฐบาลผ่านทางกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มจากระดับ 0.02 เปอร์เซ็นต์ในปี 2012 เป็นกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2015

เป็นอัตราการเพิ่มที่ทำลายสถิติ คือมากกว่า 100 เท่าตัว

อัตราการเสียชีวิตของผู้เป็นมารดาในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าตัว

ทุกอย่างน่าจะดีกว่านี้ ถ้าอุปกรณ์การแพทย์ ไม่เว้นแม้แต่ถุงมือยาง สบู่ล้างมือ จะไม่ถูกลอบขโมยออกไป เวชภัณฑ์แทบทุกชนิดไปโผล่ในตลาดมืด อุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชิ้นที่มีค่า หากไม่ระมัดระวังจะล่องหนไปจากที่ตั้ง ไม่เว้นแม้แต่กล้องจุลทัศน์ ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยโรค

และไฟฟ้า จำกัดจำเขี่ยอย่างมาก ชนิดรัฐบาลต้องประกาศให้ข้าราชการทั้งหมดทำงานสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อสงวนพลังงานไฟฟ้าที่หลงเหลืออยู่

ที่โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแอนดีส ไม่มีแม้แต่น้ำมากพอจะล้างเลือดออกจากเตียงผ่าตัด บรรดาศัลยแพทย์เตรียมตัวผ่าตัดด้วยน้ำล้างมือที่กรอกใส่ขวดน้ำอัดลมไว้ และหลงเหลือเพียงไม่กี่ขวด

นายแพทย์ คริสเตียน ปินโญ ศัลยแพทย์ที่นั่นสรุปความว่า “สภาพเหมือนโรงพยาบาลเมื่อศตวรรษที่ 19 ไม่มีผิด”

ที่โรงพยาบาลในเมืองบาร์เซโลนา เมืองท่าชายฝั่งทะเลแคริบเบียน ทารกคลอดก่อนกำหนด 2 รายเสียชีวิตลงระหว่างเดินทางสู่โรงพยาบาล เพราะรถพยาบาลไม่มีถังออกซิเจนประจำรถ ที่นี่ไม่มีเครื่องเอกซเรย์ที่ทำงานได้เต็มที่ เช่นเดียวกันกับเครื่องฟอกไต เพราะที่มีอยู่พังไปนานแล้วและเจ้าหน้าที่เทคนิคทำดีที่สุดเพื่อให้มันทำงานได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

กระนั้นเตียงคนไข้ก็ไม่หลงเหลือ ผู้ป่วยฉุกเฉินส่วนหนึ่งต้องนอนรอจมกองเลือดตัวเองอยู่กับพื้น

สภาพเหมือนโรงพยาบาลสนามในสภาวะสงคราม…เพียงแต่ที่เวเนซุเอลาไม่มีสงคราม

นายแพทย์ เลอันโดร เปเรซ แห่งแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลหลุยส์ ราเซตติ บอกอย่างอับจนปัญญาว่า

บางคนตอนมาก็มีชีวิตปกติดี แต่กลับออกไปในสภาพเป็นคนตาย!

ทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับเวเนซุเอลา ล้วนเป็นปัจจัยประกอบให้เป็นสาเหตุที่มาแห่งโศกนาฏกรรมได้ทั้งสิ้น

นี่คือประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบสำรองขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เท่าที่มีการสำรวจพบกันมาก็จริง แต่ด้วยการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาล ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ ที่มีทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ หลบหนีออกจากประเทศรายแล้วรายเล่า ถึงตอนนี้กำลังการผลิตน้ำมันของประเทศลดลงมาหลงเหลือเพียง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เป็น 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในสภาพที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของราคาเมื่อปี 2014 แต่ปริมาณการผลิตจากที่อื่นทะลักออกมาอยู่ในสภาพ “ล้นตลาด”

นโยบาย “ประชานิยม” สุดโต่ง และ “ไม่ลืมหูลืมตา” ของรัฐบาล ทำลายอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศลงอุตสาหกรรมแล้วอุตสาหกรรมเล่า ในนามของ “การควบคุมราคาอย่างเข้มงวด” เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อหาข้าวของใช้ในชีวิตประจำวันได้ในราคาถูก กดดันจนผู้ผลิตแต่ละรายเลิกราการผลิตไปในทันทีที่ราคาสินค้าที่ถูกกำหนดให้ขาย ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตมากจนไม่สามารถดำรงธุรกิจอยู่ได้อีกต่อไป

ในยามที่ทุกอย่างขาดแคลน ไม่เว้นแม้กระดาษชำระ คิวของชาวบ้านที่ต้องรอคอยเพื่อให้ได้สิทธิซื้อหาของใช้จำเป็น ยาวขึ้นและยาวขึ้นเรื่อยๆ

นโยบายประชานิยมทำให้รัฐบาลต้องลงทุนมหาศาลมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน เมื่อไม่มีเงินเข้ามามากเพียงพอ สิ่งที่จะทำให้ประชานิยมมืดบอดดำรงอยู่ต่อไปก็คือการพิมพ์แบงก์ออกมาใช้เองโดยไม่คำนึงถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผลที่ได้ก็คือภาวะเงินเฟ้อ

เงินสกุล “โบลิวาร์” ของเวเนซุเอลา แทบไม่เหลือคุณค่าอีกแล้ว

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าภาวะเงินเฟ้อ ณ สิ้นปีนี้ของเวเนซุเอลาจะอยู่ที่ 720 เปอร์เซ็นต์

เงิน 100 โบลิวาร์ หลงเหลือค่าเงินให้ใช้เพียงไม่ถึง 30 โบลิวาร์

นั่นยังไม่เลวร้ายเท่ากับการประเมินแบบคาดการณ์ถึงสภาวะของปีหน้าว่า หากยังไม่มีการปรับแก้ อาจจะอยู่ที่ระดับ 2,200 เปอร์เซ็นต์!

เมื่อตกอยู่ภายในโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่เลวร้าย ผิดพลาดและมืดบอด เหตุปัจจัยอย่างหนึ่งก็ยิ่งช่วยหนุนเสริมให้เหตุปัจจัยอีกอย่าง ส่งพลานุภาพร้ายกาจของมันออกมาได้หนักหน่วงมากยิ่งขึ้น อย่าว่าแต่เหตุปัจจัยแห่งความย่ำแย่ของเวเนซุเอลานั้นมีมากมายยิ่ง

ปรากฏการณ์เอลนิโญที่ก่อความแห้งแล้งยืดเยื้อยาวนานผิดปกติ ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก แต่ไม่มีที่ไหนกระทบมากเท่ากับการกลายเป็นเหตุปัจจัยของความตายเหมือนที่เวเนซุเอลา

โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เคยผลิตไฟฟ้าป้อนประเทศได้เหลือเฟือ มีน้ำหลงเหลือมากเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่กี่แห่ง ทำให้สภาพ “ไฟดับ” ลุกลามออกไปกว้างขวางครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงการากัสที่เป็นเมืองหลวง ซึ่งก่อนหน้านี้นานทีจะเคยเกิดขึ้นสักครั้ง

นี่คือเหตุผลว่าทำไมท่านประธานาธิบดีถึงกลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ ออกมาขอร้องให้ “คุณผู้หญิง” ลดการใช้ไดร์เป่าผมลงครึ่งหนึ่ง หรือเลิกใช้ไปเลยยิ่งดี!

ระยะเวลาไฟดับที่ยาวนานขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความย่ำแย่ของการบริหารจัดการ การคาดการณ์ด้านพลังงานของประเทศ พร้อมๆ กับสะท้อนถึงปรากฏการณ์อีกอย่างที่ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงสาหัสนัก นั่นคือ “คอร์รัปชั่น”

เมื่อปี 2009 รัฐบาลหว่านเงินหลายล้านดอลลาร์ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติขึ้นจำนวนหนึ่ง ด้วยเล็งเห็นถึงการสำรองไฟของประเทศ แต่จนป่านนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้

เงินมหาศาลหายเข้ากลีบเมฆ!

นักธุรกิจ 2 รายที่คนทั่วเวเนซุเอลารู้ว่า คือคนที่รับผิดชอบกับโครงการที่ล้มเหลวเหลือเชื่อดังกล่าว ใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบายในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้

ไม่มีใครแม้แต่รายเดียวในองคาพยพของรัฐบาลเวเนซุเอลา คิดจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับสองคนนี้

ไม่แม้แต่จะเริ่มต้นการสืบสวนสอบสวน!

ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว คอร์รัปชั่นไม่เพียงระบาดหนัก อาชญากรรมยิ่งเบ่งบานตามไปด้วย ในทางหนึ่งเป็นเพราะผู้คนที่อยู่ในวงจรแห่งอำนาจยังคงจำเป็นต้องมีเงินเพื่อค้ำจุนความสะดวกสบายและความยิ่งใหญ่ของตัวเอง

เมื่อนโยบายรัฐก่อให้เกิดการขาดแคลน ตลาดมืดย่อมรุ่งเรือง ในทางหนึ่งคือการลักลอบนำน้ำมัน (ราคาถูกมาก เพราะรัฐบาลอุดหนุน) ออกไปขายต่างแดน ในอีกทางหนึ่งคือนำสินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาขายในประเทศ ทั้งหมดต้องลอบเร้น เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย นั่นไม่เพียงเป็นอาหารโอชะป้อนให้คอร์รัปชั่นเติบใหญ่เท่านั้น ยังทำลายฐานรายได้ของรัฐ และยิ่งส่งผลให้เงินเฟ้อหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้นไปอีก

แก๊งอาชญากรรมยิ่งเติบโตและอหังการตามขนาดของธุรกิจมืด สรรพาวุธหลากหลายชนิดอยู่ในมือของแก๊งเหล่านี้ ชนิดที่ในการจับกุมครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ อาวุธชนิดหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากแก๊ง ก็คือ “ปืนต่อต้านรถถัง”

ปืนชนิดที่เรียกกันสามัญในภาษาพูดว่า “บาซูก้า”

ยิ่งสังคมถูกทำร้าย ประชาชนตกอยู่ในภาวะกดดันรอบด้าน ยาเสพติดยิ่งกล่นเกลื่อน เพราะทำรายได้ดีเมื่อเป็นที่ต้องการของคนที่อยากหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงชั่วครั้งคราว

เมื่อทำรายได้ดี ยิ่งมีคนใหญ่คนโตเข้ามามีเอี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่น่าแปลกใจนักที่ ในการล่อซื้อครั้งหนึ่งของหน่วยปราบปรามยาเสพติดเวเนซุเอลา พบว่าคนที่ตกลงขายยาเสพติดล็อตใหญ่ให้กับตน คือ คนสนิทที่พำนักอาศัยอยู่ในทำเนียบประธานาธิบดี

มีศักดิ์เป็น “หลาน” ของภริยาผู้นำประเทศ!

อาชญากรรมเกิดขึ้นดกดื่น แก๊งอาชญากรก่อกำเนิดมากมาย สิ่งที่ตามมาก็คือ การากัส กลายเป็นเมืองที่มีอัตราการฆาตกรรมสูงที่สุดในโลกไปแล้ว

หลายประเทศในละตินอเมริกา ถูกคุกคามด้วยเชื้อไวรัสซิกา ที่แพร่ระบาดเพราะยุงลายสาหัสสากรรจ์ แต่ไม่มีประเทศไหนที่แทบไม่มีการเตรียมการรับมือหรือแก้ไขปัญหาเหมือนกับเวเนซุเอลา เหตุผล? สถาบันเวชศาสตร์เมืองร้อนในสังกัดยูนิเวร์ซิดัด เดอ เวเนซุเอลา มหาวิทยาลัยระดับชาติของประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการรับมือกับปัญหานี้ ตกอยู่ในสภาพเลวร้ายยิ่งกว่าศูนย์วิจัยโรคแห่งไหนๆ ในโลกนี้

สถาบันแห่งนี้ ถูก “ยกเค้า” รวดเดียว 11 ครั้ง ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ 2 ครั้งหลังสุดเกิดขึ้นห่างกันไม่ถึง 48 ชั่วโมง

ไม่มีอะไรเหลือให้ใช้สำหรับงานวิจัย ไม่มีเงินงบประมาณในการจัดซื้ออย่างน้อยก็ในปีสองปีนี้!

ย้อนกลับไปที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแอนดีส ศัลยแพทย์กลุ่มหนึ่งเตรียมการผ่าตัดแม้ว่าห้องผ่าตัดที่หลงเหลือใช้งานได้นั้นยังเต็มไปด้วยเลือดจากผู้ป่วยรายที่แล้ว พวกเขาไม่มีทางเลือกเพราะไส้ติ่งของผู้ป่วยรายใหม่กำลังจะแตก

ที่โรงพยาบาลเด็ก เจ.เอ็ม. เดอ ลอสริออส ในเมืองหลวงของประเทศ ห้องผ่าตัด 9 ห้องใช้งานได้เพียง 2 ห้องเท่านั้น

แพทย์หญิง ยามิลา บัตตากลีนี บอกว่า มีคนป่วยกำลังตกอยู่ในสภาพรอความตายเพราะไม่มียา เด็กๆ กำลังจะตายด้วยสภาวะทุพโภชนาการ อีกส่วนหนึ่งเสี่ยงเป็นตายเท่ากันเพราะขาดบุคลากรทางการแพทย์

แต่ที่นั่นยังไม่เลวร้ายเท่ากับที่ หลุยส์ ราเซตติ โรงพยาบาลในเมืองบาร์เซโลนา

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้อำนวยการของหลุยส์ ราเซตติ ถูกจับกุมและปลดออกจากตำแหน่ง

รายงานข่าวในสื่อท้องถิ่นระบุว่า เขาถูกกล่าวหาว่าขโมยอุปกรณ์การแพทย์รวมทั้งเครื่องช่วยหายใจออกไปจากโรงพยาบาล พร้อมกับน้ำเกลือและเวชภัณฑ์นานาชนิดอีก 127 หีบ

เฟรดดี ดิแอซ นายแพทย์ประจำวอร์ดฉุกเฉิน เดินพล่านไปทั่วห้องโถงของโรงพยาบาลที่กลายเป็นวอร์ดจำเป็นเพราะไม่มีเตียงหลงเหลืออยู่ ตรวจอาการผู้ป่วยรายหนึ่ง แล้วคว้าใบเสร็จรับเงินที่ใครสักคนขว้างลงถังขยะขึ้นมา รีดหยาบๆ เขียนข้อความสั่งยาลงบนด้านหลังที่ว่าของใบเสร็จใบนั้น

“เราไม่เหลือกระดาษให้ใช้แล้ว” หมอดิแอซบอก

แซมมวล คาสติลโย วัย 21 ปี มาถึงโรงพยาบาลในสภาพต้องการเลือดเร่งด่วน แต่เลือดของหลุยส์ ราเซตติ หมดเกลี้ยงไปพักใหญ่แล้ว

วันนั้นเป็นวันหยุดตามประกาศของรัฐบาลให้ทำงานเพียง 2 วันเพื่อประหยัดไฟ และกว่าธนาคารเลือดจะทำงานอีกครั้งก็ต้องรอสัปดาห์ถัดไป

คาสติลโยเสียชีวิตลงในคืนนั้น!

โอเนอิดา กัวไอเป ส.ส.ฝ่ายค้านที่เคยเป็นผู้นำสหภาพแรงงานโรงพยาบาล ยื่นคำร้องต่อรัฐบาล

“เรานั่งทับน้ำมันจำนวนมหาศาลอยู่ในเวลานี้ แต่ผู้คนกำลังตายเพราะขาดยาปฏิชีวนะ นี่มันอาชญากรรมชัดๆ”

แต่นิโกลาส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา กลับมองไม่เห็นสิ่งที่กัวไอเปมองเห็น ท่านผู้นำปรากฏตัวทางโทรทัศน์ ปฏิเสธความพยายามของฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้ปรับปรุงระบบสาธารณสุข ยืนยันด้วยน้ำเสียงกร้าวว่า นี่คือความพยายามบ่อนทำลายรัฐบาล และเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อให้ทางการแปรรูปกิจการสถานพยาบาลให้เป็นของเอกชน

“ผมสงสัยนักว่าจะมีที่ไหนอีกในโลกนี้ อาจยกเว้นที่คิวบา ที่มีระบบสาธารณสุขดีกว่าระบบของประเทศนี้”

เอ่อ……?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image