‘วีรชัย’ ในความทรงจำ

หนึ่งในงานที่ท่านทูต วีรชัย พลาศรัย หรือ “ทูตแสบ” มีบทบาทสำคัญในฐานะฟันเฟืองที่ช่วยผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จ คือการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือที่เราท่านคุ้นกันในชื่อเรียกว่า “เจเทปป้า” แม้จะผ่านมานานถึง 17 ปีแล้ว น.ส.อาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ จะมาย้อนความหลังถึงการทำงานในทีมเจรจาเจเทปป้า ที่มีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยให้การค้าการลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ ซึ่งยังประโยชน์ให้กับทั้งสองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

///////

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2562 พวกเราหลายคนที่เคยร่วมทีมฝ่ายไทยในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ Japan-Thailand Economic Partnership Agreement (JTEPA) ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งที่ยังรับราชการอยู่และที่เกษียณอายุแล้ว ได้พบกันอีกครั้งหนึ่งที่งานสวดพระอภิธรรมเอกอัครราชทูตวีรชัย พลาศรัย ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม บางคนไม่ได้พบกันนานกว่า 10 ปี ค่ำวันนั้นเราได้พูดคุยรำลึกถึงวันเก่าๆ ที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับท่านทูตวีรชัยในการเจรจาจัดทำ JTEPA

ท่านทูตวีรชัยทำงานเกี่ยวข้องกับ JTEPA ตั้งแต่ปี 2545 เมื่อไทยกับญี่ปุ่นตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาเรื่องนี้ ตอนนั้น ท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศดึงท่านทูตวีรชัยขณะเป็นผู้อำนวยการกองอยู่ที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายเข้ามาในทีมด้วยเพราะมีประสบการณ์เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศที่เจนีวาและชำนาญด้านกฎหมาย ซึ่งหากนับเวลามาจนนายกรัฐมนตรีไทยกับญี่ปุ่นลงนาม JTEPA เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ก็เป็นเวลาร่วม 5 ปี

Advertisement

ส่วนตัวผู้เขียนนั้นเข้ามาทำงานที่สำนักงานเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่นหลังครบวาระประจำการในต่างประเทศช่วงกลางปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่เข้าสู่โหมดการเจรจาอย่างเป็นทางการแล้ว (เจรจาทางการรอบแรกกุมภาพันธ์ 2547) กระทรวงการต่างประเทศตั้งสำนักงานแห่งนี้ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า สำนักงาน JTEP ขึ้นมาเฉพาะกิจหลังจากที่รัฐบาลแต่งตั้งให้ท่านทูตพิศาล (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของไทย โดยท่านทูตวีรชัย (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และต่อมาขึ้นเป็นอธิบดี) ควบตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน

ผู้เขียน(นั่งทางขวามือของทูตแสบ)กับทูตวีรชัย

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยได้ยินรุ่นพี่ๆ พูดถึงท่านทูตวีรชัยหรือ “แสบ” มานาน คราวนี้ได้มาทำงานด้วย รู้สึกว่าโชคดีที่ได้มีโอกาสเห็นและเรียนรู้จากแบบอย่างของท่านทูตที่เป็นทั้งนักการทูต นักเจรจา นักกฎหมายที่มีและใช้ความรู้ความสามารถ ความมุ่งมั่น ความเป็นมืออาชีพเพื่อการทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด รวมทั้งยังเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานและรุ่นพี่ที่ดี ซึ่งความเป็นตัวตนของท่านทูตนี้ทำให้ท่านเป็นที่ประทับใจ ได้รับการยอมรับและเคารพจากทีมงานฝ่ายไทยและคู่เจรจาฝ่ายญี่ปุ่น

ความตกลง JTEPA ประกอบด้วย 15 บท การเจรจาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นจึงแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ความร่วมมือซึ่งครอบคลุม 9 สาขา เป็นต้น แต่ละกลุ่มจะมีหน่วยงานหลักรับผิดชอบ เช่น กระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้ากลุ่มเจรจาเรื่องการค้าสินค้า กรมศุลกากรเป็นหัวหน้ากลุ่มเจรจาเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า โดยหัวหน้าคณะเจรจาดูภาพรวมทั้งหมด สำนักงาน JTEP มีหน้าที่สนับสนุนหัวหน้าคณะเจรจาประสานงาน จัดประชุมหารือและการเจรจา รวมทั้งรายงานผลให้รัฐบาลทราบ นี่เป็นงานของท่านทูตวีรชัยซึ่งเป็นเสมือนรองหัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายไทยที่ต้องทราบความคืบหน้าในทุกเรื่องและดูภาพรวมในเชิงกฎหมาย ขณะเดียวกันท่านก็เป็นหัวหน้ากลุ่มเจรจาในเรื่องการค้าบริการ การลงทุนและการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาด้วย

Advertisement

ตลอดช่วงการเจรจาแบบเต็มคณะ 9 รอบ รวมทั้งการเจรจากลุ่มเล็กอีกหลายครั้ง พวกเราได้เห็นท่านทูตวีรชัยเตรียมการอย่างเข้มข้นจริงจังลงทุกรายละเอียดทุกครั้ง ไม่ใช่เฉพาะการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมท่าทีแต่รวมถึงการหารือกับภาคเอกชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ในช่วงเจรจาก็ได้เห็นการต่อรองชิงไหวชิงพริบกับคณะของฝ่ายญี่ปุ่นอยู่เสมอ ซึ่งนำไปสู่ความตกลงในหลักการเกี่ยวกับสาระสำคัญของ JTEPA ที่สมดุล สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่ทั้งสองประเทศรับได้

อย่างไรก็ดี การเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นยังคงดำเนินต่อไปอีกในขั้นการนำสิ่งที่ตกลงกันมาเขียนเป็นตัวบทซึ่งต้องหารือประเด็นรายละเอียด เช่น กฎเกณฑ์ ขั้นตอนการปฏิบัติ และจัดทำตารางข้อผูกพัน เช่น ตารางลดภาษีสินค้าแต่ละรายการ และเงื่อนไขต่างๆ ที่จะผนวกกับความตกลงรวมแล้วหนาเป็นร้อยๆ หน้าด้วย สองฝ่ายเจรจากันอีกหลายรอบจนถึงเดือนมิถุนายน 2549 ประกอบกับการโต้ตอบกันทางหนังสือและอีเมล์ต่อเนื่อง ถือได้ว่าเป็นช่วงที่ตึงเครียดไม่แพ้กัน สมกับคำที่ว่า The devil is in the details. ซึ่งช่วงของการยกร่างตัวบทนี้ไม่ใช่การเจรจาในระดับหัวหน้าคณะแล้ว ท่านทูตวีรชัยเป็นผู้รับบทนำทีมงานประกอบด้วยกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศ พาณิชย์ อุตสาหกรรม เกษตรและสหกรณ์ คลัง ในการเจรจากับญี่ปุ่น โดยรับแนวทางและปรึกษาหารือกับหัวหน้าคณะเจรจาคือท่านทูตพิศาลอย่างใกล้ชิด

การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีเกี่ยวข้องและเป็นที่สนใจของภาคส่วนต่างๆ งานอีกส่วนหนึ่งที่ท่านทูตวีรชัยมีบทบาทสำคัญคือ การเผยแพร่และชี้แจงให้ข้อมูลทั้งกับหน่วยงาน ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ร่วมไปกับ หัวหน้าคณะเจรจา ซึ่งรวมถึงการเข้าร่วมงานสัมมนา เวทีประชาพิจารณ์ การเข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการชี้แจงคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเวลาต่อมา

ขึ้นเวทีประชาพิจารณ์

ภาระงานทั้งหมดข้างต้นมีมากแต่พวกเราในสำนักงาน JTEP ก็ไม่เคยได้ยินท่านทูตวีรชัยบ่น ท่านมุ่งมั่นทำงาน ผลักดันให้พวกเราทำงานให้ผลงานออกมาดีที่สุด แต่ท่านทูตก็จะดูแลพวกเราเสมอ หลายครั้งเวลาไปเจรจาที่ญี่ปุ่น เรามักเดินทางไปถึงค่ำของวันก่อนเริ่มเจรจา ท่านทูตก็จะนำทีมพวกเราไปซื้อบะหมี่สำเร็จรูปที่ร้านสะดวกซื้อกลับมาต้มน้ำร้อนใส่ นั่งทานร่วมกันระหว่างที่หารือเตรียมการสำหรับการเจรจาที่ห้อง secretariat ที่โรงแรมที่พัก และเมื่อเจรจาเสร็จ ท่านก็จะชวนพวกเราไปหาอะไรทานและดื่มแถวใกล้ๆ โรงแรมที่พักเพื่อผ่อนคลาย หากเป็นที่กรุงเทพฯ บางวันหลังงานเสร็จ ท่านก็จะชวนพวกเรานั่งคุยพร้อมดื่มวิสกี้โซดาหรือไม่ก็ไวน์บ้างเป็นครั้งคราว บางครั้งก็จะสั่งอาหารที่เราไม่เคยได้ลองทานจากร้านเก่าแก่มาให้ลอง เช่น เกาเหลาสมองหมู แต่ที่ไม่เคยขาดเมื่อมีการตั้งวงกันคือ เรื่องเล่าสนุก ๆ เกี่ยวกับตัวท่านหรือประสบการณ์ในอดีต กับเสียงหัวเราะฮาที่ดังและเป็นเอกลักษณ์

เหตุการณ์หนึ่งซึ่งพวกเราที่อยู่ด้วยกันตอนนั้นทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานอื่นยังจำได้และพูดถึงกันอยู่คือ การร่วมชะตากรรมกับ “มุก” ของท่านทูตวีรชัยในห้องเย็นที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ตอนนั้นเป็นการไปเจรจายกร่างความตกลงและรายละเอียดทางเทคนิค อากาศที่โตเกียวหนาวแล้ว เราเริ่มคุยกับฝ่ายญี่ปุ่นตอนเช้าตามปกติ มีเบรคเป็นช่วงๆ เพื่อแต่ละฝ่ายหารือท่าทีภายในซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นได้จัดห้องให้เราคุยกันอยู่ที่ชั้นล่าง วันนั้นเจรจากันจนดึก บรรยากาศเครียด อากาศก็หนาวเพราะญี่ปุ่นปิดระบบทำความร้อน พวกเราต้องหยิบเสื้อหนาวมาใส่ คู่เจรจาฝ่ายญี่ปุ่นก็มีน้ำใจเอาถุงร้อน (heat pack) มาให้ แต่ท่านทูตวีรชัยก็เตรียมพร้อมเช่นกัน หยิบวิสกี้ขวดหนึ่งออกจากกระเป๋าเอกสาร บอกให้ดื่มแก้หนาว สร้างรอยยิ้มและเสียงฮาจากบรรยากาศที่ตึงเครียด วันนั้นกว่าสองฝ่ายจะหารือได้ผลที่พอใจก็น่าจะตีห้ากว่าแล้ว เราเดินฝ่าความหนาวข้ามสวนสาธารณะกลับถึงโรงแรมก็ได้เวลาอาหารเช้าพอดี เลยนั่งทานข้าว แล้วแยกย้ายไปงีบก่อนตื่นไปประชุมกับฝ่ายญี่ปุ่นอีกทีตอนประมาณ 11.00 น. เพื่อสรุปสำหรับการเจรจารอบนั้น

หลังจากจัดทำร่างความตกลงเสร็จกลางปี 2549 พวกเราก็ทยอยแยกย้ายไปทำงานที่กรมอื่นควบคู่ไปกับการดำเนินการเพื่อเสนอ JTEPA ผ่านกระบวนการภายในของไทยและการลงนาม สำนักงาน JTEP ก็ปิดตัวลงในช่วงกลางปี 2550 โอนงานไปกรมเอเชียตะวันออก แต่กระนั้นท่านทูตวีรชัยก็ยังคงเชิญชวนพวกเรารวมตัว พบปะสังสรรค์สนทนากันอยู่อย่างสม่ำเสมอซึ่งรวมถึงการนั่งเชียร์การซ้อมของวงดนตรีกระทรวงฯ ที่ท่านตั้งและเป็นหัวหน้าวง จนพวกเราทีละคนแยกย้ายไปประจำการต่างประเทศ

ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา JTEPA เป็นความตกลงด้านเศรษฐกิจที่เป็นเสาสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ช่วยส่งเสริมการขยายตัวของการค้าการลงทุนของสองฝ่าย จากปี 2550 ที่ JTEPA มีผลใช้บังคับจนถึงปี 2561 มูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 20% โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 27% ปัจจุบันเอกชนไทยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ JTEPA สำหรับราว 90% ของสินค้าทั้งหมดที่ได้รับสิทธิเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น ขณะที่การลงทุนของญี่ปุ่นที่เป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้วในไทยขยายตัวกว่า 150% ขณะที่มูลค่าของการลงทุนไทยในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 1,400% ซึ่งการมี JTEPA ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเอื้ออำนวยอยู่ไม่มากก็น้อย นอกเหนือจากเป็นกรอบของการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านระหว่างไทยกับญี่ปุ่นซึ่งช่วยยกระดับศักยภาพและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย

JTEPA เป็นเพียงหนึ่งในงานสำคัญมากมายของท่านทูตวีรชัย และการที่ในงานสวดพระอภิธรรมของท่านมีหลายคนจากหลายหน่วยงานที่เคยทำงานด้วยกันซึ่งบัดนี้ต่างเติบโตตามสายงาน บางท่านก็เป็นผู้บริหารหรือเกษียณแล้ว ก็ทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงการเป็นที่ยอมรับด้วยความสามารถ การเป็นผู้นำ-ผู้ประสาน ทำงานเป็นทีมและยึดมั่นในความเป็นมืออาชีพของท่านทูตวีรชัย ซึ่งแม้ท่านจะจากไปแล้ว ผลงานเหล่านี้ที่ท่านได้ทำไว้เพื่อประเทศและประชาชนไทย แบบอย่างที่ท่านได้ให้ไว้ในการทำงาน รวมทั้งความทรงจำดีๆ จะยังคงอยู่ เป็นที่จดจำและเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image