กฎหมายกีดกันผู้หญิง

AFP PHOTO / Ye Aung THU

กรณี ออง ซาน ซูจี ไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ทั้งๆ ที่นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าไปได้อย่างถล่มทลาย

เหตุเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้อยู่มีบทบัญญัติห้ามผู้หญิงที่มีคู่สมรสและบุตรถือสัญชาติต่างด้าว ขึ้นเป็นประธานาธิบดี

กรณีของซูจี เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนผลการศึกษาของ “อีควอลิตี้ นาว” องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้อย่างชัดเจน ที่ศึกษาพบว่ากว่า 1 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีตัวบทกฎหมายที่เป็นการกีดกันทางเพศด้านเชื้อชาติ ที่ทำให้ผู้หญิงถูกลิดรอนสิทธิหรือสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนพึงมีไป

กฎหมายกีดกันทางเพศด้านสัญชาติมีตั้งแต่ การเพิกถอนสิทธิความเป็นพลเมืองของผู้หญิงที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ ที่ยังส่งผลพวงปัญหาเป็นโดมิโนให้ผู้หญิงต้องสูญเสียโอกาสในการทำงาน โอกาสทางการศึกษา ไปจนถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ควรได้รับ ให้กลับไปตกอยู่ในมือของผู้ชายแทน รวมถึงกฎหมายที่ปฏิเสธสิทธิของเด็กในการสืบทอดสิทธิความเป็นพลเมืองหรือถือสัญชาติสืบจากผู้เป็นแม่ นอกจากนี้ กฎหมายบางมาตราในบางประเทศยังทำให้ผู้หญิงต้องติดอยู่ในกับดักชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยความรุนแรงหรือทำให้ผู้หญิงไม่สามารถได้รับสิทธิในการเลี้ยงดูลูกได้

Advertisement

รายงานการศึกษาของ อีควอลิตี้ นาว พบว่าใน 53 ประเทศ มีกฎหมายกีดกันทางเพศในลักษณะข้างต้นบังคับใช้อยู่ ในจำนวนนี้ 20 ประเทศ อยู่ในภูมิภาคซับซาฮาราในทวีปแอฟริกา และ 16 ประเทศ อยู่ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

ผู้หญิงที่อยู่ในประเทศอย่าง บาฮามาส บาร์บาโดส และ มอริเชียส จะไม่สามารถให้ลูกบุญธรรมที่รับเลี้ยงถือสัญชาติของตนเองได้ ซึ่งต่างจากผู้ชาย ขณะที่นประเทศอย่างบาห์เรน โตโก  ตูนีเซีย และเยเมน สตรีชาวต่างชาติที่ได้สัญชาติเดียวกับผู้เป็นสามีเมื่อแต่งงาน จะสูญเสียการถือสัญชาติดังกล่าวไปในทันทีเมื่อชีวิตการแต่งงานจบสิ้นลง

อย่างไรก็ตาม รายงานของ อีควอลิตี้ นาว ยังระบุว่ายังมีสถานการณ์ในหลายประเทศที่ถือว่ามีพัฒนาการก้าวหน้าดีขึ้นอย่างในประเทศเซเนกัล และ ซูรินาม ที่ได้มีการแก้ไขกฎหมายให้ผู้หญิงมีสิทธิทัดเทียมผู้ชายในการให้สามีและลูกสามารถเปลี่ยนมาถือสัญชาติเดียวกับตนเองได้ เช่นเดียวกับ วานูอาตู ที่ผู้หญิงก็ได้รับสิทธิในลักษณะเดียวกันนี้แล้ว

กรณีศึกษานี้เป็นเพียงกระจกสะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นบนโลกแค่เศษเสี้ยว หากยังมีปัญหาอีกมากของความไม่เท่าเทียมบนโลกทั้งที่เรารู้และไม่รู้ ที่เวลาผ่านไปเท่าไรก็ยังไม่ได้รับการตระหนักหรือมีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image