ดอน ปรมัตถ์วินัย “ประธานอาเซียน”เยือน เมียนมา-บังกลาเทศ

หมายเหตุ “มติชน” นาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับเมียนมาและบังกลาเทศ ในฐานะที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ขณะที่ประเด็นโรฮีนจาเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจและถูกประชาคมระหว่างประเทศจับตามองอย่างใกล้ชิด
////////

เรื่องสถานการณ์ในรัฐยะไข่เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่การประชุมผู้นำอาเซียนที่สิงคโปร์ปีก่อนก็เห็นว่าอาเซียนควรจะมีบทบาทต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ เมื่อไทยมาเป็นประธานอาเซียนในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่เชียงใหม่ เราได้เริ่มเดินเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจเต็มร้อยระหว่าง 10 ประเทศอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน โดยให้ศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ(อาฮา เซ็นเตอร์ – AHA Center) กับเลขาธิการอาเซียนทำหน้าที่หลัก

ทั้งนี้อาฮาเป็นกลไกที่สามารถทำในมิติของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาทุกข์ในภัยพิบัติได้ โดยได้ส่งทีมเข้าไปประเมินสถานการณ์ในพื้นที่แล้ว และกำลังรอรายงานอย่างเป็นทางการ ส่วนเลขาธิการอาเซียนจะไปติดต่อกับฝ่ายต่างๆ ที่มีความเกี่ยวโยงกัน ซึ่งได้ทำไปแล้วในเบื้องต้น ขณะที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องคอยดูเรื่องต่างๆ และประสานงานกับฝ่ายต่างๆ

เรื่องนี้อยู่ในความสนใจอย่างกว้างขวาง ผมจึงไปคุยกับประเทศเมียนมาและบังกลาเทศซึ่งถือเป็นมิตรประเทศของเราทั้งคู่ หนึ่งในนั้นเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย การไปจับเข่าคุยทำให้พบว่าฝ่ายเมียนมามีความตั้งอกตั้งใจที่จะหาทางแก้ไขปัญหา แต่ก็มีเรื่องที่ยังติดขัดกันเล็กน้อย ซึ่งได้ฝากให้ประธานอาเซียนได้คุยกับฝ่ายบังกลาเทศให้ช่วยหาทางแก้ไขในส่วนที่ติดขัดเล็กน้อยนี้ด้วย จากนั้นผมจึงเดินทางไปเยือนบังกลาเทศ และพบว่าทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่คล้ายคลึงกันมาก ที่คล้ายกันที่สุดคือต้องการนแก้ไขปัญหานี้ในโอกาสแรก และแก้ไขให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

Advertisement

ความจริงทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมอยู่แล้ว มีการหารือกันสองฝ่ายมาตลอด ปีทีแล้วช่วงเดือนพฤศจิกายนที่มีข่าวว่าจะมีการส่งผู้พลัดถิ่นโรฮีนจากลับคืนถิ่น แต่ที่สุดแล้วไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเหลายสาเหตุ แต่เท่าที่เห็นเมียนมาเขามีความพร้อมที่จะรับชาวโรฮีนจากลับไปได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ฝ่ายเมียนมาได้เปลี่ยนท่าทีเล็กน้อยซึ่งก็ถือเป็นจุดสำคัญ ประเด็นของเมียนมาคือนอกจากอยากจะเห็นความคืบหน้าในเรื่องนี้และไม่ได้ขัดข้องกับจำนวนชาวโรฮีนจาที่จะกลับมา เพียงแต่ขอให้เป็นกลุ่มที่ได้รับการตรวจสอบให้เรียบร้อยเพื่อทีจะไม่ได้กังวลถึงปัญหาที่จะตามมาเมื่อกลับไปอยู่ในเมียนมาแล้ว หากผ่านการตรวจสอบแล้ว เมื่อกลับเข้ามาเมียนมาก็มีความพร้อมในการออกเอกสารแสดงตัวให้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการพูดถึงกัน นับเป็นความคืบหน้าอย่างหนึ่ง

สิ่งที่เรารับทราบจากทีมสำรวจประเมินสถานการณ์เบื้องต้นที่ได้ไปเห็นกับตาว่ามีการเตรียมการอะไรไว้บ้าง สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะรับชาวมุสลิมโรฮีนจากลับมา มีทั้งศูนย์รับรอง ศูนย์ส่งต่อ และโครงสร้างต่างๆ ที่ได้จัดขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีชุมชนต่างๆ ที่เตรียมไว้รอรับ ซึ่งเป็นภาพที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดี สร้างสรรค์ มีความคืบหน้า

Advertisement

ฝ่ายบังกลาเทศก็แสดงความพอใจที่เห็นอาเซียนเอาใจใส่ในเรื่องนี้ และหวังว่าอาเซียนจะช่วยดูแลผู้ที่กลับมาอยู่เมียนมาให้มีความรู้สึกมั่นใจ ปลอดภัย และในที่สุดมีความยอมรับในสังคม ซึ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ไม่ได้ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่มากมาย และไม่ต่างไปจากสิ่งที่เมียนมาได้เตรียมการไว้ ฉะนั้นฝ่ายอาเซียนเองก็เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องสร้างสรรค์และมีความต่อเนื่องในการดำเนินการ

การที่เมียนมากับบังกลาเทศมีการคุยกันในหลายโอกาสเพื่อจะทำให้เรื่องนี้เดินทะลุจากจุดเดิมไปถือเป็นสัญญานที่ดี เมื่อเราคุยและพบว่าทั้งสองฝ่ายมีความต้องการและเป้าหมายที่สอดคล้องกัน แต่ปัญหาคือเราจะทำให้มีการดำเนินการได้อย่างไร เมื่อทั้งสองฝ่ายก็เข้าใจตรงกัน เรื่องนี้ควรจะดำเนินการได้ ถ้าไม่ทำเร็วจะมีปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศ รวมถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และการแทรกแซงจากปัจจัยต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ก็ควรหาวิธีการ คือให้กลับถิ่นที่อยู่ด้วยความมั่นใจ รู้สึกปลอดภัย และทำมาหากินได้ โดยที่ทั้งสองฝ่ายพอใจกับการกลับมา และไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา ข้อสำคัญคืออย่าให้เกิดปัญหาที่ไม่ได้คาดการณ์ขึ้น นี่คือภาพใหญ่

หลายเรื่องที่ยังห่วงกันหรือพูดกันอยู่ อาทิ มาแล้วจะอยู่ไหน ปลอดภัยหรือไม่ ใครจะดูแล เรื่องนี้ถามได้ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติทั้งสองฝ่ายผ่านช่วงที่ยากลำบากมาจนเห็นแล้วว่าต้องมีการคืนถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแตกลูกแตกหน่อตามมา ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเมื่อกลับมาแล้วมีการทำมาหากิน มีวิถีชีวิตที่อยู่ได้อย่างปลอดภัย มีความมั่นใจและสงบสุข ถือเป็นเสถียรภาพของบ้านเมืองที่คนเป็นแสนสามารถกลับมาและดำรงชีวิตอยู่ได้ เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหา ถ้ารู้ว่าใครเป็นใครและอยู่ในที่ที่จัดไว้ให้ ก็ทำมาหากินกันไป มันไม่น่ามีอะไรที่เป็นอันตรายเกิดขึ้น และคงไม่มีอะไรที่มาจากทางการ เพราะเรี่องที่เกิด 2 ปีที่ผ่านมามันเลวร้ายเต็มที คงไม่มีใครอยากให้มันกลับไปสู่สถานการณ์เดิมอีกแล้ว บ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไป มีการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

เรามองจากมุมของผู้ที่มีประสบการณ์จากการทำงาน ไม่ได้มองเชิงทฤษฎี แต่มองจากสถานการณ์ที่เป็นจริง ก็หวังว่าพื้นฐานที่มองกันอยู่นี้จะนำไปสู่การส่งกลับคนกลุ่มแรก เพราะอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปก็อยู่ในสายตาของทุกคนอยู่ดี และจากกลุ่มแรกก็จะนำไปสู่กลุ่มที่ 2 3 และ 4 ตามมา

ที่สุดแล้วการส่งคนกลับทั้งหมดอยู่ที่การพูดคุย อาเซียนไม่ได้กระตุ้นอะไรเขาเป็นพิเศษ เรารับรู้ถึงความสอดคล้องกันในแง่ของทัศนะที่จะแก้ไขปัญหา ก็อยู่ที่ความพร้อมของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะคุยและนัดหมายกัน

๐ประเด็นที่พม่าห่วงกังวลเรื่องความปลอดภัยก่อนหน้านี้คือเรื่องอะไร

ถ้าจะกลับมาเมียนมาเขาต้องการสกรีนคน บางคนก็บอกว่าถ้าเช่นนั้นมันก็จะต้องล่าช้าเพราะคนออกไปเป็นแสน นี่ค่อยๆ สกรีนคนเข้ามา แต่เราก็ต้องเข้าใจเจ้าของบ้าน ถ้าเขาบอกว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้ามาบ้านของเขาได้ จะรับคนกลับมาเขาก็ต้องสกรีนคน ไม่ใช่ถ้าเข้ามาแล้วจะมาก่อความวุ่นวายภายหลังก็เข้าใจเข้าได้ ประเทศตะวันตกยิ่งไปกันใหญ่มากกว่าเราในแง่การสกรีนคน เพราะฝ่ายเมียนมาก็ห่วงกังวลในประเด็นกลุ่มติดอาวุธเช่นกัน

๐อาเซียนต้องทำอะไรอีกหรือไม่หลังจากนี้

ที่ผ่านมาแต่ละประเทศอาเซียนได้ให้ความช่วยเหลือในแบบทวิภาคีกับเมียนมาแล้วซึ่งก็จะทำกันต่อไป บ้างก็ไปมีส่วนร่วมกับประเทศที่ 3 ทำในลักษณะไตรภาคี แต่ที่เป็นการเดินหน้าในฐานะอาเซียนโดยรวมเราก็พยายามเสริมสร้างเสถียรภาพ วางพื้นฐานทางการเมืองโดยการพูดคุย และดูในแง่มุมของการเตรียมความพร้อม อย่างบางประเทศไปสร้างโรงพยาบาลสร้างโรงเรียน ไทยก็ไปทำโครงการแง่สังคมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำโรงสีข้าว ทำตามที่เขามีความพร้อมที่จะรับ

ในส่วนของบังกลาเทศ ก็แล้วแต่ว่าประเทศต่างๆ จะเอาอะไรไปช่วย อย่างไทยก็มอบเงินผ่านโครงการอาหารโลก เพื่อให้เขาไปช่วยด้านมนุษยธรรมในค่ายผู้อพยพ และใครทำอะไรไปก็ให้มารายงานเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้อาเซียนรู้ว่าความช่วยเหลือที่ทำรายประเทศคืออะไร เราจะได้มีข้อมูลครบครัน ในอนาคตคุยกันว่าหากจะเริ่มกระบวนการส่งกลับ ซึ่งปกติ 2 ประเทศทำได้เอง แต่ถ้ามีการขอความช่วยเหลือมา อาเซียนก็พร้อมจะหารือว่าเราจะช่วยอย่างไรเพื่อให้กระบวนการมันราบรื่นขึ้น หรืออาจเข้าไปดูอย่างต่อเนื่องหลังการกลับเข้ามาแล้วว่าเรียบร้อยหรือไม่

ในฐานะประธานอาเซียน ไทยตั้งใจจะทำให้ภูมิภาคของเราปลอดจากปัญหาที่ค้างคาในอดีต มีการแก้ไขสะสาง ไม่นิ่งเฉย เพื่อให้เดินต่อและมีความคืบหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อภูมิภาค ทำให้รู้สึกว่ามีความปลอดภัย ไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นที่มีข้อวิตกกังวล ถ้าไม่มีปัญหาก็จะนำมาซึ่งเสถียรภาพและโอกาสที่จะพัฒนาบ้านเมือง และการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจตลอดจนการลงทุนต่างๆ เราต้องการให้เกิดสิ่งเหล่านี้ นอกจากนี้ยังสอดคล้องต่อธีมของการเป็นประธานอาเซียนของไทย ที่ต้องการให้เกิดความยั่งยืนและเสถียรภาพในอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคโดยรวม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image