รายงาน: สอท.ในฮานอยนำ สำรวจเส้นทางชายฝั่งทะเล ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม

เมื่อไม่นานมานี้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้จัดโครงการสำรวจศักยภาพและความพร้อมในพื้นที่ยุทธศาสตร์แนวชายฝั่งทะเลไทย-กัมพูชา-เวียดนามขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าการลงทุน(บีโอไอ) กรุงฮานอย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(สสปน.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตอนใต้ (Southern Coastal Economic Corridor) พร้อมทั้งผลักดันความเชื่อมโยงทางทะเล โดยเฉพาะการเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเลระหว่างตราด เกาะกง สีหนุวิลล์ ฟูก๊วก เกียนยาง นครเกิ่นเทอ และนครโฮจิมินห์

โครงการลักษณะนี้เป็นโครงการที่สถานทูตไทยในเวียดนามได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลและโอกาสอันดีสำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนไทยที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม หรือดูลู่ทางทางการค้าการลงทุนผ่านโครงการความเชื่อมโยงต่างๆ ระหว่างกันในภูมิภาค

การสำรวจเส้นทางในครั้งนี้มีนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย และนายนิยม ไวยรัชพาณิชย์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันเป็นหัวหน้าคณะ โดยมีนักธุรกิจและภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยในด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเลรวม 51 คน เดินทางร่วมคณะ ซึ่งจัดให้มีการเยี่ยมชมและพบหารือภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง แรกเริ่มเดิมทีผู้จัดตั้งใจจะนำคณะเดินทางโดยเรือพาณิชย์ แต่ติดที่สภาพภูมิอากาศมีคลื่นลมแรง จึงต้องเบนเข็มไปเป็นการเดินทางด้วยเส้นทางเป็นทางบกตามระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตอนใต้ หรือเส้นอาร์10 แทน

สภาพถนนในกัมพูชาตลอดเส้นทางจากจ.เกาะกง-สีหนุวิลล์-กำปอต มีเพียง 2 ช่องจราจร ถนนหลายส่วนอยู่ในสภาพทรุดโทรมและขรุขระ อันเนื่องมาจากการใช้งานของรถโดยสารและรถบรรทุก เท่าที่คณะสังเกตดูตลอดเส้นทางทั้งกัมพูชาและเวียดนามยังขาดจุดแวะพักระหว่างทางที่ดีและสะอาด ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่สถานีบริการจุดแวะพักระหว่างทาง อย่างไรก็ดีที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะพัฒนาเส้นทางอาร์10 นี้ให้เป็นเส้นทางเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว แต่ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคบางประการ โดยเฉพาะปัญหาด้านการผ่านแดน

Advertisement

คณะทั้งหมดได้เริ่มต้นลงพื้นที่ที่จ.ตราดเป็นที่แรก ด้วยการหารือกับนายธีระชัย ลิ้มประสิทธิศักดิ์ ปลัดจังหวัดตราด และเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือคลองใหญ่ ทั้งนี้ภาคเอกชนเห็นว่าจ.ตราดมีศักยภาพในการขนส่งสินค้าระหว่างกัมพูชาและเวียดนาม จึงควรเร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเร็ว เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันจีนสนใจเข้าลงทุนในฝั่งกัมพูชาเป็นจำนวนมากแล้ว นอกจากนี้ควรเร่งให้มีการเปิดใช้ท่าเรือคลองใหญ่โดยเร็วที่สุด เพื่อส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวของจังหวัดและการขนส่งสินค้าในอนาคต

สำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษตราด

ท่าเรือคลองใหญ่เป็นท่าเรืออเนกประสงค์ที่สามารถรองรับเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส แต่หากเรือที่มีขนาดเกิดที่กำหนด 500 ตันกรอส เทียบจอดและเกิดความเสียหายหรืออุบัติเหตุจะไม่สามารถเรียกค่าชดใช้จากบริษัทประกันภัยได้ ทำให้ผู้ประกอบการเอกชนไม่สนใจจะเข้ามาบริหารเนื่องจากไม่คุ้มทุน ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เข้าพัฒนาและบริหารท่าเรือคลองใหญ่ ขณะที่ในส่วนของเขตเศรษฐกิจพิเศษจ.ตราด บริษัทพร๊อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ของไทยเป็นผู้ได้รับสัมปทานในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว และอยู่ระหว่างการเสนอแผนการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)

Advertisement

หลังจากนั้นคณะได้เดินทางต่อไปยังกัมพูชา และเข้าเยี่ยมชมท่าเรือสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกขนส่งสินค้านำเข้าหลักของกัมพูชา ที่สร้างขึ้นตั้งแต่พ.ศ.2499 และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่โกดังสินค้าประมาณ 8,400 TEUs ล่าสุดกัมพูชาได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) พัฒนาท่าเรืออเนกประสงค์เพิ่มเติม และมีแผนพัฒนาท่าสำหรับเรือโดยสารและเรือสำราญร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) ADB คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2563-2564

ในบริเวณใกล้เคียง มีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุ พื้นที่ราว 400 ไร่ ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ 3 โรงงาน ในด้านความเชื่อมโยง ท่าเรือติดกับทางหลวงหมายเลข 3 มุ่งสู่จ.กำปอตของกัมพูชา ที่เชื่อมกับเมืองห่าเตียน จ.เกียนซางของเวียดนาม และทางหลวงหมายเลข 4 มุ่งสู่กรุงพนมเปญ ทั้งนี้รัฐบาลกัมพูชามีแผนสร้างทางหลวงระหว่างสีหนุวิลล์-กรุงพนมเปญเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบัน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 4-5 ชม.ขณะที่ปริมาณรถยนต์มีเพิ่มมากขึ้น บริเวณใกล้เคียงท่าเรือพระสีหนุยังมีสถานีรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าต่อไปยังกรุงพนมเปญด้วย

ประชุม CVTEC

นอกจากสำรวจศักยภาพและความพร้อมในพื้นที่ยุทธศาสตร์แนวชายฝั่งทะเลไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ยังได้มีการจัดการสัมมนานานาชาติเพื่อความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจกัมพูชา-เวียดนาม-ไทย(CVTEC) ขึ้นที่จ.สีหนุวิลล์ โดยมีทั้งผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและกัมพูชาเข้าร่วมการหารือ โดยไทยได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการสร้างความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น และผลักดันให้จัดทำร่างข้อตกลงการเดินเรือชายฝั่ง 3 ประเทศให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ ซึ่งจะมีการประชุมคณะทำงานร่วมสามฝ่ายว่าด้วยการพัฒนาการเดินเรือชายฝั่งจากภาคตะวันออกของไทยไปยังภาคใต้ของกัมพูชาและเวียดนาม (Coastal Shipping) ทั้งนี้ฝ่ายกัมพูชาแจ้งว่าทางจ.กำปอตได้ตกลงกับเวียดนามในเรื่องการเดินเรือระหว่างกำปอต-เกาะฟูก๊วกของเวีดยนามเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันแล้ว โดยคาดว่าจะมีเรือโดยสารเปิดให้บริการเส้นทางดังกล่าวในปีหน้า

คณะพร้อมด้วยนายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ยังได้เยี่ยมชมโรงแรม Dusit Princess Moonrise Beach Resort บนเกาะฟูก๊วก โรงแรมดังกล่าว มีชาวเวียดนามเป็นเจ้าของแต่ให้เครือดุสิตบริหาร และเป็นโรงแรมแห่งเดียวในเกาะฟูก๊วกที่บริหารโดยเอกชนไทย มีพนักงานบางส่วนเป็นคนไทย และมีการให้บริการที่ทำให้ผู้คนประทับใจแบบไทย อาทิ การต้อนรับอย่างอบอุ่นแบบวัฒนธรรมไทย อาหารไทย การนวดไทย ทำให้โรงแรมได้รับการจัดอันดับโดยทริปแอดไวเซอร์ให้เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในด้านการนวดและสปาในเกาะฟูก๊วกด้วย

เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปปลาของซีพี เวียดนาม

คณะทั้งหมดยังได้เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปปลาของบริษัท C.P. Vietnam Corporation ที่ จ.เบ๊นแจ ของเวียดนาม โดยมีนายอดิศักดิ์ ต่อสกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหารธุรกิจสัตว์น้ำ บ. C.P. Vietnam Corporation ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปเกี่ยวกับโรงงานแปรรูปปลาแพนกาเซียสที่ จ.เบ๊นแจ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แปรรูปปลา 23,000 ตันต่อปี โดยปลาแปรรูปส่วนใหญ่ร้อยละ 40 ส่งออกไปยังจีน ร้อยละ 20 ส่งญี่ปุ่น และอีกร้อยละ 20 ส่งไทย ซึ่งท่านทูตธานีได้ขอให้ C.P. Vietnam เป็นตัวอย่างที่ดีต่อไปในการสร้าง branding ให้ประเทศไทย และในการให้ประโยชน์กลับสู่ประเทศที่เราเข้าลงทุน ทั้งยังขอให้ C.P. ช่วยเหลือให้คำแนะนำภาคเอกชนไทยขนาดกลางและเล็กที่สนใจไปลงทุนในเวียดนามอีกทางหนึ่งด้วย

ท่านทูตธานีพูดถึงภาพรวมหลังสิ้นสุดการสำรวจเส้นทางตามโครงการว่า เส้นทางการขนส่งตามแนวชายฝั่งหรือ coastal shipping ไทย-กัมพูชา-เวียดนามมีศักยภาพสูงในด้านการท่องเที่ยวทางน้ำเพราะมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่รอการค้นพบ จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการทัวร์ทางน้ำน่าจะสำรวจโอกาสการทำทัวร์ทางน้ำเชื่อมโยงเกาะกับแหล่งท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่ง และการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยง 3 ประเทศมากขึ้น อีกทั้งการท่องเที่ยวยังทำได้ง่ายกว่าการขนส่งสินค้า ซึ่งในปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าทางน้ำตามแนวชายฝั่งโดยใช้เรือขนาดน้ำหนักต่ำกว่า 500 ตันอยู่บ้างแล้ว โดยทั้งสามประเทศกำลังเจรจาตกลงกันให้การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารตามแนวชายฝั่งทำได้อย่างถูกต้อง สะดวก และมีมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้น

เมื่อถามว่าอะไรที่เป็นประเด็นปัญหา ท่านทูตไทยประจำเวียดนามกล่าวว่า ความตระหนักรู้เกี่ยวกับเส้นทางการขนส่งตามแนวชายฝั่งทะเลไทย-กัมพูชา-เวียดนามยังไม่กว้างขวาง โครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือและเรือยังต้องปรับปรุง รวมทั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและและศุลกากรยังอาจไม่มีความพร้อมเต็มที่

อย่างไรก็ดีในภาพรวมแล้วเส้นทางในพื้นที่ยุทธศาสตร์แนวชายฝั่งทะเลไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ถือเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพและน่าส่งเสริมให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อไป โดยในระหว่างวันที่ 17-21 มิถุนายน สถานทูตและทีมประเทศไทยในเวียดนามจะนำนักลงทุนไทยสำรวจโอกาสการค้าการลงทุนเส้นทางระหว่างกรุงฮานอย-นครไฮฟอง-กว่างนิงห์-ลางเซิน-นครหนานหนิงต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image