ไทยในเก้าอี้ ‘บิ๊ก’ ‘ประธานอาเซียน’ ความท้าทายอีกครั้ง

ปี 2562 ประเทศไทยกลับมาดำรงตำแหน่ง ประธานอาเซียนŽ อีกครั้งหนึ่ง ไทยเริ่มทำหน้าที่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิดหลัก แอดวานซิ่ง พาร์ทเนอร์ชิพ ฟอร์ ซัสเทนเนบิลิตี้ (Advancing Partnership for Sustainability) หรือร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน

ในฐานะประธานอาเซียน ตลอดปีนี้ไทยจะต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมถึง 180 ครั้ง ภายใต้ความร่วมมือใน 3 เสาหลัก อันประกอบด้วย เสาการเมืองความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมและวัฒนธรรม

อย่างไรก็ดีการประชุมที่สำคัญที่สุดนั้นมี 3 การประชุม นั่นคือการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งแรกที่เป็นการประชุมภายในเฉพาะผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ ครั้งนี้คือการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายนนี้ เริ่มจากการประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำ จะเริ่มขึ้นจริงด้วยการร่วมรับประทานอาหารค่ำอย่างเป็นทางการในช่วงค่ำวันที่ 22 มิถุนายนนี้ จากนั้นก็จะเป็นการประชุมของผู้นำอาเซียนในวันที่ 23 มิถุนายน

การประชุมที่มีความสำคัญต่อมาคือการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (เอเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 52 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2562 จะมีการประชุมสำคัญอื่นๆ จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

Advertisement

นั่นคือ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา (พีเอ็มซี) การประชุมความสัมพันธ์อาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (อาเซียน+3) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ)

ปิดท้ายที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2562 จะเป็นการประชุมที่มีผู้นำประเทศต่างๆ เข้าร่วมมากที่สุด เนื่องจากการประชุมในช่วงปลายปีจะเป็นการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ

การเป็นประธานอาเซียนของไทยวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2551-2552 ไทยได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนครั้งล่าสุด เป็นครั้งแรกที่กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้

Advertisement

ในครานั้นทำให้ไทยต้องดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนมากกว่า 1 ปี เป็นห้วงเวลาปีกว่าๆ ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายภายใต้การนำของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จบลงด้วยการประชุมผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในเดือนเมษายน 2552 ต้องล่มลงอย่างไม่เป็นท่า เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงได้บุกเข้าไปยังโรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา สถานที่จัดประชุม

10 ปีผ่านไป แม้ว่าสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันจะไม่มีคนเสื้อสีอะไรออกมาเดินขบวนประท้วงเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความแตกแยกและความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในไทยยังคงดำรงคงอยู่

เห็นได้จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อการเลือกตั้งประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาที่ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 25-26 พฤษภาคมที่ผ่านมา

สภาพการเมืองในประเทศที่ยังไม่นิ่งนี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้

แม้จะมีการกำหนดให้มีการจัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายนนี้

หากแม้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะผ่านฉลุยไปได้ ก็ต้องมีรอดูอีกว่าการต่อรองโควต้าและการแต่งตั้งบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งนี้จะราบรื่นและเรียบร้อยหรือไม่

อีกทั้งหลังได้รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ต้องมีการทูลเกล้าฯถวายรายชื่อเพื่อให้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จากนั้นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ทั้งยังต้องมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หากจะนับวันกันจริงๆ ก็เท่ากับมีเวลาเพียง 15 วันก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อเตรียมการสำหรับประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 จะเริ่มขึ้น

แค่เงื่อนเวลาที่จ่ออยู่ก็ทำเอาหายใจไม่ทั่วท้องไปตามๆ กัน

คิดในแง่ที่เลวร้ายที่สุดคือเราไม่สามารถมีรัฐบาลใหม่ได้ทันก่อนการเป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34

แต่หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป คณะรัฐมนตรีชุดเดิมก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ การทำหน้าที่ประธานการประชุมอาเซียนของ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะดูไม่แปลกแปร่งเท่าใดนัก เพราะเท่ากับได้ตีตั๋วต่ออย่างแน่นอน

แต่สำหรับบรรดาผู้นำอาเซียนยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันอยู่แล้ว ก็คงไม่ตั้งแง่ใดๆ กับการเดินทางมาร่วมประชุมในไทย และแว่วว่านาทีนี้ผู้นำอาเซียนอีก 9 ประเทศ ก็เตรียมเดินทางมาประชุมสุดยอดครั้งแรกตามที่มีการกำหนดวันกันไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนอย่าง ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า

ประเทศไทยสามารถเป็นประธานอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพได้ แม้จะเกิดสุญญากาศด้านการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ทว่ารัฐไทยไม่สามารถขับบทบาทตนเองให้โดดเด่นได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลายอย่างจึงยังไม่มีเสถียรภาพ และแม้ว่าสถานการณ์อาจไม่รุนแรงเหมือน 10 ปีที่แล้ว เกิดการประท้วงจนการประชุมอาเซียนชัตดาวน์ ไทยยังต้องอาศัยเวลา เพื่อให้รัฐบาลใหม่มีความลงตัว และอาจเป็นไปได้ว่า ในภาวะสุญญากาศเช่นนี้จะเปิดช่องให้รัฐอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความโดดเด่นในการผลักดันวาระสำคัญได้

เช่น อินโดนีเซีย ขณะนี้เป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยกระดับแต้มต่อ และมีเพาเวอร์มากกว่าเดิม แต่ต้องไม่ลืมว่าอินโดนีเซียเองก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โจโก วิโดโด ครองตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกสมัย แต่อีกฟากหนึ่งของประเทศยังเกิดการประท้วง สถานการณ์ไม่สงบนิ่ง แม้จะมีความโดดเด่น แต่ก็ยังไม่มากพอ

ประเด็นท้าทายของอาเซียนช่วงนี้คือ ปัญหาการเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยและปัญหาการใช้ความรุนแรงทางการเมืองของบางรัฐ เช่น เมียนมา อินโดนีเซีย ทั้งนี้ อาเซียนยังยึดถือประเพณีทางการทูตที่ไม่แทรกแซงกิจการภายใน แม้ว่าอาจจะมีความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ หรือคอนเน็กชั่นบาง

อย่างที่สามารถกดดันบางรัฐให้ระงับความรุนแรงได้ ทว่าบรรทัดฐานหลักเรื่อง การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ยังคงเส้นคงวาอยู่ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้ต้องปรับตรงนี้บ้าง แต่เอาเข้าจริงก็ยังเป็นเรื่องยาก

รัฐไทย ในฐานะประธานอาเซียน สามารถเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทั้งเออีซี กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจตามแนวชายแดน หรือพื้นที่อินโดจีน ยังสามารถทำได้ แต่การเข้าไประงับความขัดแย้งในบางประเทศเช่นกรณีข้างต้นนี้ ยังทำไม่ได้

ส่วนประเด็นรัฐบาลใหม่ที่อาจเป็นโฉมหน้าเดิม ด้วยเนื้อแท้ของอาเซียนแล้วระบอบการเมืองไม่เกี่ยวข้องต่อการจัดประชุม หรือระเบียบวาระต่างๆ รวมทั้งประธานอาเซียนที่ผ่านมาอย่างลาว เวียดนาม บรูไน ก็เป็นรัฐที่มิได้เป็นประชาธิปไตย แต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่เสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป บรรทัดฐานขออาเซียนไม่ได้กระตือรือร้นเรื่องการทำให้เป็นประชาธิปไตย นี่เป็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

ถ้าได้รัฐบาลหน้าเดิม ได้ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือเป็นรัฐบาลผสม ธรรมชาติของรัฐบาลผสมมีเสถียรภาพทางการเมืองไม่นิ่งอยู่แล้ว อายุของรัฐบาลก็ไม่รู้จะมากน้อยขนาดไหน ดังนั้น ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯเหมือนเดิม มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มีรัฐสภาชุดใหม่เกิดขึ้นเป็นสถาบันการเมือง และการบริการประเทศยังดำเนินต่อไปได้ การเป็นประธานอาเซียนเพื่อถกประเด็นต่างๆ ก็ยังสามารถรันไปได้ สิ่งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเป็นประชาธิปไตยจะไม่ได้เป็นบรรทัดฐานของอาเซียน แต่เป็นเทรนด์สำคัญของกระแสโลกที่ภูมิภาคต่างๆ ให้ความสำคัญไม่มากก็น้อย

นอกจากนี้ ยังสะท้อนว่า กระดานหมากรุกของอาเซียน ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงให้เห็นว่าอำนาจนิยมสามารถปรับตัวได้ โดยอาศัยประชาธิปไตยเข้ามา ทว่าไส้ในยังเป็นแบบนั้นอยู่ ดังนั้นในบรรดา 11 รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเห็นว่าไทยเองยังมีความเป็นอำนาจนิยมแบบอ่อนลง เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เต็มใบ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมียนมา กัมพูชา สิงคโปร์ เป็นแบบไฮบริด หรือแบบผสม ทั้งหมดนี้ทำให้กระดานหมากรุกด้านการเมืองของอาเซียนเกิดความไฮบริดระหว่างประชาธิปไตยและอำนาจนิยมแข็งขันชัดเจน

นี่คือเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ภูมิภาคเราจะมีทิศทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยอย่างไรŽ ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image