ผลศึกษาชี้ 11 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์ยึดงานคน 20 ล้านตำแหน่งทั่วโลก

แฟ้มภาพเอเอฟพี

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ผลการศึกษาของ อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในประเทศอังกฤษ เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ระบุคาดการณ์ว่าภายในปีค.ศ.2030 หรือในอีก 11 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์จะถูกนำเข้ามาแทนที่แรงงานคนในทั่วโลกมากถึงราว 20 ล้านตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้ช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางสังคมยิ่งถ่างกว้างมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันการนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนก็จะช่วยส่งเสริมภาคการผลิตในภาพรวมทั้งหมด

ผลการศึกษาชี้ว่าขณะนี้หุ่นยนต์ได้ถูกนำมาใช้แทนแรงงานในภาคการผลิตแล้วมากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งเป็นผลจากวิทยาการคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลภาพ ระบบโปรแกรมแปลงเสียงพูดและการเรียนรู้ของเครื่องจักรที่มีความก้าวหน้า ซึ่งการนำเครื่องจักรและหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงานคนเหล่านี้ แม้จะก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของแรงงานที่มีทักษะต่ำ ซึ่งผลกระทบในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความแตกต่างกันไป โดยจากการศึกษาพบว่าในเขตพื้นที่ที่มีทักษะแรงงานต่ำจะมีการสูญเสียตำแหน่งงานสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับในพื้นที่ที่แรงงานมีทักษะสูงแม้จะอยู่ในประเทศเดียวกันก็ตาม

ขณะที่ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าการนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน จะเป็นการสร้างการจ้างงานมากกว่าทำลายก็ตาม แต่เมื่อเร็วๆนี้มีแนวโน้มเผยให้เห็นว่ามีช่องว่างของทักษะแรงงานเกิดขึ้นที่ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องตกงาน

อย่างไรก็ดีผลการศึกษานี้ชี้ว่าการนำหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เกิดการสร้างงานใหม่พอๆกับการทำลายการจ้างงานเดิม โดยนักวิจัยยังมองว่าหุ่นยนต์จะมีสัดส่วนในภาคการผลิตของระบบเศรษฐกิจโลกมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีค.ศ.2030

Advertisement

ผู้เขียนรายงานผลการศึกษาชิ้นนี้ยังระบุว่าตำแหน่งงานที่ทำหน้าที่ซ้ำๆ อย่างเช่น ตำแหน่งงานในคลังสินค้า จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่หุ่นยนต์จะถูกนำมาใช้งานมากขึ้นในหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมค้าปลีก สาธารณสุข สถานบริการ การคมนาคมขนส่ง รวมถึงภาคก่อสร้างและการเกษตร

ทั้งนี้การเผยแพร่ผลการศึกษาครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางข้อถกเถียงอย่างหนักต่อบทบาทที่มีมากขึ้นของเทคโนโลยีอันก้าวหน้าในโลกปัจจุบันและผลกระทบของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ที่มีต่อการจ้างงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image