ไฟแนนเชียลไทม์ส ชี้ไทยยังเป็น ‘คนป่วย’ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทม์สเผยแพร่บทวิเคราะห์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของไทยหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่สอง นับเป็นเวลา 5 ปีหลังกองทัพก่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2014 โดยเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ด้านธุรกิจการเงินของ ของประเทศอังกฤษ ระบุว่าประเทศไทยจะยังคงเป็น “คนป่วย” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

ไฟแนนเชียลไทม์สระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะมีความท้าทายมากขึ้น โดยการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ต่ำสุดในรอบ 4 ปี อยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสล่าสุด  ภาวะเศรษฐกิจโลกฉุดมูลค่าการส่งออกของไทยให้หดตัวลง ปริมาณอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลง ขณะที่สถานะทางการเงินของรัฐบาลไทยก็ยังคงแย่ลงอย่างต่อเนื่อง

บทวิเคราะห์กล่าวถึง การเติบโตของจีดีพีไทยที่คงอยู่ที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2014 นับเป็นการเติบโตที่ช้ากว่า 5 เศรษฐกิจอาเซียนอื่นๆที่จีดีพีเติบโตในระดับ 5 และ 6.2 เปอร์เซ็นต์ ด้านธนาคารโลก ตัดลดคาดการณ์การเติบโตของไทยในปี 2019 ลงจาก 3.8 เปอร์เซ็นต์เหลือ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยตั้งเป้าเติบโตในปีนี้ลดลงจาก 4 เปอร์เซ็นต์เป็นราว 3.3-3.8 เปอร์เซ็นต์ โดยเหตุผลหลักของการชะลอตัวดังกล่าวนั้นเป็นผลจากความอ่อนแอของการส่งออก และอัตราการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน

ไฟแนนเชียลไทม์ส ระบุถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงทำให้ยอดการส่งออกของไทยลดลงถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 6 เดือนนับจนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนทำสถิติในช่วงปี 2017-2018  โดยในช่วง 5 ปีหลังการรัฐประหาร การส่งออกของไทยคิดเป็นเงินดอลลาร์นั้นเติบโตอยู่ที่ราว 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่สัดส่วนมูลค่าสินค้าส่งออกเทียบกับจีดีพี ลดลงถึงถึง 10.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงหลัง แต่ก็ยังคงคิดเป็นสัดส่วนเพียง 47 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี ลดลงจาก 52 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน

Advertisement

ด้านตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของไทยนั้นตกลงต่ำที่สุดในรอบ 19 เดือนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์การเมืองจะดูมีเสถียรภาพมากขึ้นแต่คนไทยถึง 75 เปอร์เซ็นต์ มองว่ารัฐบาลจะบริหารอยู่ได้ไม่นานครบเทอม

ไฟแนลเชียลไทม์ส ระบุด้วยว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาลนั้นจะถูกนำมาใช้มากขึ้นตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 30 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการประกันราคาสินค้าเกษตรสูงกว่าราคาตลาด รวมไปถึงนโยบายก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแม้จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจได้แต่ก็จะเป็นในช่วงเวลาสั้นๆ และสร้างแรงกดดันให้กับงบประมาณของรัฐบาลเอง

บทวิเคราะห์กล่าวถึง “หนี้สาธารณะ” ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ เพิ่มขึ้นเป็น 34 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2018 จาก 30 เปอร์เซ็นต์เทียบกับจีดีพี เมื่อปี 2014 และคาดว่าอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ได้ภายใน 4 ปี

Advertisement

ไฟแนนเชียลไทม์ส ระบุถึงความกังวลว่ารัฐบาลอาจอยู่ไม่ครบเทอม เนื่องจากจำนวนที่นั่งของพรรคร่วมที่มีเพียง 254 เสียง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐพรรคแกนนำรัฐบาลมีเพียง 121 เสียง ขณะที่พรรคร่วมอีก 17 พรรคมีเสียงรวมกันถึง 137 เสียงอยู่ได้ด้วยผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ยิ่งกว่านั้นยังมี พรรคเล็กที่ขู่จะหันหลังให้อีกด้วย

แม้ว่ารัฐบาลจะมีวุฒิสภาที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพหนุนหลัง แต่สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์เองก็ต้องเผชิญกับการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการเร่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องออกจากตำแหน่ง ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมือง ผลจากพรรคฝ่ายค้านเพียงรวมเสียงเพิ่มจากสส.เพียงหยิบมือในการล้มโต๊ะก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดวิกฤตการเมืองเช่นเกิดการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนอีกครั้ง หรือการรัฐประหารซ้ำอีกครั้งก็เป็นได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image