สถานทูตไทยในเบลเยียมจัดสัมมนา “อี-คอมเมิร์ซและการคุ้มครองข้อมูลของอียู”

ปัจจุบันพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือการดำเนินธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เราเรียกกันแพร่หลายว่า “อี-คอมเมิร์ซ” กำลังเติบโตทั่วโลก มีการคาดการว่ามูลค่าการค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซทั่วโลกในปีนี้่จะทะลุ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 300% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งของการค้าปลีกผ่านอี-คอมเมิร์ซในปีนี้คิดเป็นสัดส่วน 11.9% ของปริมาณการค้าโลกทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 17.5% ภายในปี 2564 ขณะที่ตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยก็เติบโตถึง 14% ในปี 2561 คิดเป็นมูลค่าถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขการเติบโตที่สูงที่สุดในอาเซียน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปีนี้

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเติบโตขึ้นทั่วโลก ประกอบกับเล็งเห็นความสำคัญของสหภาพยุโรป(อียู)ในฐานะคู่ค้าที่สำคัญลำดับต้นๆ ของไทย เมื่อไม่นานมานี้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดงานสัมมนา Thailand-EU Seminar on E-Commerce and GDPR ขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป(อียู)ในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

การสัมมนาดังกล่าวยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรับรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในอียู ตลอดจนกฎระเบียบและกรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทย และผลกระทบของกฎหมายว่าด้วยมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอียู (General Data Protection Regulation หรือ GDPR-จีดีพีอาร์) ต่อธุรกิจไทย รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยรับทราบแนวทางที่ภาคธุรกิจจะสามารถปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากกฎหมายจีดีพีอาร์ของอียู ตลอดจนการสร้างโอกาสการส่งออกจากไทยไปอียูซึ่งเป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซที่มีใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากจีนและสหรัฐ และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเปิดงานโดยให้ข้อมูลถึงการดำเนินการของประชาคมอาเซียนและไทยในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล (digital connectivity) ตลอดจนการพัฒนาประเทศในด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภายใต้นโยบาย SIGMA: Cybersecurity, Digital Infrastructure, Digital Government, Digital Manpower, Digital Application และการปรับปรุงและยกร่างกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลให้ทันสมัย อาทิ พรบ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และพรบ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

Advertisement

ขณะที่นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ กล่าวว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซในอียูมีมูลค่าถึง 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นโอกาสใหม่ทั้งสำหรับผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค ซึ่งมาพร้อมกับความท้าทายใหม่ที่เกิดจากการฉ้อโกงและความไม่ปลอดภัยในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ขณะที่มาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอียู(จีดีพีอาร์) เป็นกลไกที่่ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะรับประกันว่าผู้คนจะสามารถควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองได้ การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ความตั้งใจที่จะช่วยให้นักธุรกิจไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การทำธุรกิจดิจิทัล ผ่านการให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญซึ่งกำหนดทิศทางในการควบคุมการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการดำเนินการ การปรับตัวให้เป็นไปตามจีดีพีอาร์ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดอี-คอมเมิร์ซในยุโรปเพื่อที่่จะสามารถประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ทั้งนี้องค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-อียู ที่กำลังจะกลับมาเจรจากันใหม่ในอนาคตอีกด้วย

ด้านนายปริกกา ทาปิโอลา เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนอียูประจำประเทศไทย กล่าวว่า อียูให้ความสำคัญกับเรื่องอินเทอร์เน็ตโพรโทคอล(ไอพี) โดยมีกลไกดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Digital Single Market Strategy ซึ่งครอบคลุมหลากหลายด้าน เช่น การเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการทางดิจิทัลและการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ขณะเดียวกันอียูก็ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศโดยเฉพาะประเทศไทย เพื่อให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีกติกาสากลที่เป็นธรรมกับทุกประเทศ เนื่องจากปัจจุบันพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะเป็นการค้าระหว่างประเทศที่ไร้พรมแดน ทั้งนี้แม้ว่าจีดีพีอาร์ที่เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 จะเป็นกฎหมายของอียูแต่กลับส่งผลกระทบกับการประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดที่มีลูกค้าเป็นพลเมืองอียูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากคำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” ตามกฎหมายฉบับนี้ มีความหมายรวมถึง ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงข้อมูลที่นำมารวมกันแล้วสามารถใช้ระบุอัตลักษณ์ของบุคคลได้ จึงอาจส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน หรือ ภาคธุรกิจที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล หรือการให้บริการออนไลน์แก่บุคคลที่อยู่ในอียู

นายฟาเปียน เดลครอส หัวหน้าทีมเจรจาด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรับส่งข้อมูลระหว่างประเทศจากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านความยุติธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค (DG JUST) ได้กล่าวถึงภาพรวมของกลไกจีดีพีอาร์ โดยย้ำถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลบน online platform ซึ่งอาจถูกนำไปใช้ในการดำเนินการอื่น และมีคำถามว่าข้อมูลเหล่านั้นใครเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิในการเก็บรวบรวม การใช้ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านั้น

Advertisement

จีดีพีอาร์เป็นกฎหมายซึ่งกำหนดแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองอียูให้มีประสิทธิภาพ และกำหนดแนวทางช่วยเหลือเยียวยาเจ้าของข้อมูลที่ถูกละเมิดสิทธิจากการถูกเก็บข้อมูลส่วนตัวหรือในกรณีถูกเอาข้อมูลไปใช้โดยเจ้าของไม่รู้เห็นยินยอม กฎระเบียบนี้คุ้มครองพลเมืองของอียูโดยไม่ได้จำกัดพรมแดน โดยวางหลักการในการคุ้มครองตลอดกระบวนการในการประมวลผล และการโอนข้อมูลข้ามพรมแดน ทั้งนี้อียูมีกลไกสำหรับการรับรองมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลของประเทศนอกอียู (Adequacy Decision) เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอียูกับประเทศเหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวน 13 ประเทศที่ถือว่ามีระดับคุ้มครองที่เทียบเท่าอียู อาทิ นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา อาร์เจนตินา และล่าสุดคือ ญี่ปุ่น

สำหรับผลกระทบของจีดีพีอาร์ต่อภาคธุรกิจนั้น นายฌอง เฮอร์เวก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัย Namur ประเทศเบลเยียม กล่าวว่า หากธุรกิจนั้นๆ มีการประมวลผลข้อมูลหรือเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของคนในอียู แม้จะมิได้มีที่ตั้งอยู่ในอียู แต่ต้องดำเนินการตามที่จีดีพีอาร์กำหนด ดังนั้นเจ้าของธุรกิจต้องวิเคราะห์ว่าธุรกิจของตนเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมดังกล่าวหรือไม่ นอกจากนี้ภาคธุรกิจไทยควรตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และภาคธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลจะต้องเร่งทำความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อลดปัญหาหรือผลกระทบที่จะเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ นักธุรกิจและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พูดถึงแนวโน้มของอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายคนในหลายพื้นที่มีการเรียนรู้การใช้งานโทรศัพท์มือถือ และใช้ช่องทางออนไลน์ซื้อขายมากขึ้น โดยข้อมูลถือเป็นกุญแจสำคัญของอุตสาหกรรมในยุค 4.0 เนื่องจากมีการใช้ข้อมูลสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในการวิเคราะห์และเสนอรูปแบบการขายมากขึ้น รวมถึง peer-to-peer lending platform และ peer-to-peer trading ตลอดจนการใช้ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ในการทำธุรกรรมอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมธุรกิจสามารถดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นช่องทางการสร้างรายได้การท่องเที่ยวและโรงแรมของประเทศไทยและการกระจายรายได้แก่ชุมชน ตลอดจนการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ข้อมูลจาการสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อนําไปพิจารณากําหนดเป็นนโยบายและกลยุทธ์ในการส่งเสริมอี-คอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการยกระดับการดำเนินการด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อป้องกันผลกระทบจากกฎหมายจีดีพีอาร์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังจะช่วยเตรียมความพร้อมของไทยในการเปิดการค้าเสรีพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กรอบการเจรจาต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคี และช่วยให้อี-คอมเมิร์ซของไทยดำเนินการได้ตามมาตรฐานสากลต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image