อเล็กซานเดอร์ ฟาน แดร์ เบลเลน “ท่านศาสตราจารย์” ว่าที่ ปธน.ออสเตรีย

อเล็กซานเดอร์ ฟาน แดร์ เบลเลน "ท่านศาสตราจารย์" ว่าที่ ปธน.ออสเตรีย / AFP PHOTO / JOE KLAMAR

อเล็กซานเดอร์ ฟาน แดร์ เบลเลน “ท่านศาสตราจารย์” ว่าที่ ปธน.ออสเตรีย

กลุ่มผู้สนับสนุนเรียกเขาว่า “เดอะ โปรเฟสเซอร์” (ท่านศาสตราจารย์) หรือไม่ก็ “ซาชา” ที่เป็นชื่อเล่นของชื่ออเล็กซานเดอร์ อันแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าความเป็นรัสเซียของเขา

ขณะที่ฝั่งตรงข้ามวิพากษ์เขาว่าเป็น “เผด็จการพรรคกรีน” ที่เต็มไปด้วยความยโสโอหัง

แทนที่จะเป็นการประสานรอยร้าวทางการเมือง อเล็กซานเดอร์ ฟาน แดร์ เบลเลน พิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในการเลือกตั้งประธานาธิบดีออสเตรีย เช่นเดียวกับคู่แข่งแย่งชิงตำแหน่งของเขาจากพรรคขวาจัด

และแม้จะได้รับการสนับสนุนจากผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในประเทศหลายคนรวมถึงนายกรัฐมนตรี คริสเตียน แคร์น แต่ ฟาน แดร์ เบลเลน อดีตหัวหน้าพรรคกรีนประสบความยากลำบากในการเรียกเสียงสนับสนุนจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งฝ่ายอนุรักษนิยมที่กล่าวหาเขาว่ามีจิตใจเอนเอียงไปทางฝ่ายซ้าย

Advertisement

ทว่า เขาสามารถเอาชนะ นอร์แบร์ต โฮเฟอร์ จากพรรคเสรีภาพ (เอฟพีโออี) ได้สำเร็จทั้งๆ ที่เป็นรอง ด้วยคะแนนเฉียดฉิวเพียง 31,000 เสียง

โดยวลีของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวออสเตรียจำนวนมากที่แพร่หลายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้คือ “เขาเป็นคนที่แย่น้อยกว่าใน 2 ตัวเลือกที่มีอยู่”

ซึ่ง ฟาน แดร์ เบลเลน เองก็นำจุดนี้มาใช้ในการหาเสียงจากชาวออสเตรียที่ยังไม่รู้ว่าจะตัดสินใจเลือกฝั่งไหนดีด้วย

Advertisement

“ผมขอร้องให้พวกคุณทั้งหมดที่อาจจะไม่ชอบผม แต่บางทีอาจจะชอบโฮเฟอร์น้อยกว่าให้ลงคะแนนให้ผม” ฟาน แดร์ เบลเลน กล่าวในการหาเสียงก่อนหน้าการเลือกตั้งรอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

และในการกล่าวสุนทรพจน์เป็นครั้งแรกหลังได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีออสเตรียเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฟาน แดร์ เบลเลน ประกาศว่าจะสร้างความปรองดองให้กับประเทศที่แตกแยก โดยพยายามที่จะเอาชนะใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2.2 ล้านคนที่ลงคะแนนให้โฮเฟอร์

“มีการพูดกันมากถึงความแตกร้าวในประเทศนี้ แต่ผมคิดว่าคุณสามารถตีความถึงความแตกแยกนี้ได้ว่าเราเป็น 2 ด้านของเหรียญเดียวกัน และทั้ง 2 ด้านมีความสำคัญเท่ากัน เราจะร่วมสร้างออสเตรียไปด้วยกัน” ฟาน แดร์ เบลเลน กล่าว

ฟาน แดร์ เบลเลน เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์วัย 72 ปีที่ผมเผ้าสีเทาของเขาดูรุงรัง ตรงกันข้ามกับโฮเฟอร์ นักเคลื่อนไหวผู้ชื่นชอบปืนวัย 45 ปี

ทว่า ภาพลักษณ์เมื่อแรกเห็นอาจชักนำให้เราเข้าใจผิดได้

การเป็นผู้นำพรรคกรีนมายาวนาน 1 ทศวรรษจนกระทั่งถึงปี 2008 ได้เปลี่ยนให้เขาเป็นนักโต้วาทีที่คล่องแคล่ว และถึงขั้นก้าวร้าวในบางครั้ง

“ผมไม่ต้องการให้ออสเตรียกลายเป็นชาติแรกในยุโรปตะวันตกที่มีผู้นำเป็นสมาชิกภราดรภาพภาคพื้นเยอรมันประชานิยมแนวทางขวาจัด” เขาบอกกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

นอกจากนี้ เขายังประกาศกร้าวว่าจะไม่ยอมรับการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ไฮน์ซ-คริสเตียน สตราเค ประธานพรรคเอฟพีโออี หากพรรคเอฟพีโออีที่ปัจจุบันมีคะแนนนิยมนำอยู่ในการสำรวจล่าสุด ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปที่กำหนดจะมีขึ้นในปี 2018

คำพูดดังกล่าวทำให้โฮเฟอร์เรียกเขาว่าเป็น “เผด็จการฟาสซิสต์แห่งพรรคกรีน”

การวิวาทะกันอย่างดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายแปรสภาพไปเป็นการสาดโคลนทางการเมืองที่เน้นให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันในประเด็นต่างๆ อย่างหลากหลาย อาทิ เรื่องผู้อพยพ

ฟาน แดร์ เบลเลน บอกว่าตนเป็น “ลูกของผู้อพยพที่ได้รับหลายสิ่งหลายอย่างจากออสเตรีย”

เขาเกิดเมื่อปี 1944 ในกรุงเวียนนา พ่อของเขาเป็นชนชั้นสูงชาวรัสเซีย แม่ของเขาเป็นชาวเอสโตเนีย ทั้งสองหลบหนีลัทธิสตาลินมาอยู่ในออสเตรีย

การมาถึงของกองทัพแดงในปีถัดมาทำให้ครอบครัวของเขาต้องระเห็จมาอยู่ที่ติโรลทางตอนใต้ ที่ ฟาน แดร์ เบลเลน ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างเรียบง่ายและเงียบสงบ

เขาศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอินน์สบรุกและจบปริญญาเอกในปี 1970 ก่อนที่จะกลายเป็นคณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวียนนาในอีก 2 ทศวรรษถัดมา

ในฐานะประธานาธิบดีออสเตรีย เขาใฝ่ฝันถึงการเป็น “สหรัฐยุโรป” ที่ไม่มีเขตแดนระหว่างกัน และส่งเสริมสิทธิของชนกลุ่มน้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image