คอลัมน์ People In Focus:เหอ เจียง กับสุนทรพจน์ที่ฮาร์วาร์ด

“ตอนผมอยู่มัธยมต้นมีแมงมุมพิษกัดมือผม” เหอ เจียง ผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ที่นับเป็นคนจีนคนแรกที่ได้กล่าวสุนทรพจน์จบการศึกษาในมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งนี้ ระบุ

เหอผู้ที่เป็นนักศึกษาเพียง 1 เดียวที่ได้รับโอกาสกล่าวต่อหน้านักศึกษาและผู้ร่วมงาน 32,000 คน ในจำนวนนี้รวมไปถึง สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง กล่าวต่อว่า “ผมวิ่งไปให้แม่ช่วย แต่แทนที่แม่จะพาผมไปหาหมอ แม่จุดไฟเผามือผม” เหอพูดหน้าตาเฉยท่ามกลางแววตาสงสัยของบรรดาแขกผู้มีเกียรติ

“หลังจากแม่ห่อมือผมด้วยผ้าสองสามชั้น เธอราดมันด้วยไวน์ เอาตะเกียบใส่ปากผม จุดไฟที่ผ้า ความร้อนเริ่มลุกลามและเริ่มไหม้มือของผม” เหอเล่า พร้อมบรรยายความรู้สึกในเวลานั้นว่า “ความเจ็บปวดทำให้ผมอยากจะกรีดร้อง แต่ตะเกียบป้องกันเสียงผมไว้ สิ่งที่ผมทำได้คือมองมือผมไหม้ไฟ หนึ่งนาที แล้วก็สองนาที จนกระทั่งแม่ดับไฟ”

นั่นเป็นประสบการณ์ที่ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของเด็กหนุ่มชาวจีนที่เติบโตมาในชนบทอันยากจนของมณฑลหูหนาน ประเทศจีน ที่ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างรถยนต์ โทรศัพท์ ไฟฟ้า หรือแม้แต่น้ำประปา

Advertisement

เหอยกเครดิตให้กับพ่อและแม่ ซึ่งแม้จะเป็นเพียงชาวนา แต่ก็เห็นความสำคัญของการศึกษาที่เป็นสิ่งเดียวที่จะนำชีวิตออกจากความยากจน การถูกเคี่ยวเข็ญในวัยเด็กช่วงชีวิตที่ทำให้เหอไม่มีโอกาสวิ่งเล่นเหมือนเด็กทั่วๆ ไป ทำให้เหอสามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนในเมืองเหอเฟย ก่อนจะได้รับทุนศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ ในที่สุดหลังแมงมุมกัด 15 ปี เหอจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกแห่งนี้ และได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งเดียวที่จะกล่าวอะไรบางอย่างเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่จะออกไปขับเคลื่อนโลกใบนี้ในอนาคต

เหอกล่าวต่อว่า ตอนนี้ตนรู้แล้วถึงวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการรักษาแบบบ้านๆ ของแม่ และก็รู้ด้วยเช่นกันว่ามันมีวิธีรักษาที่เจ็บปวดน้อยกว่า

เหอระบุว่า ตนรู้สึกกังวลที่แม้เราจะมีความรู้และความมั่งคั่งมากมาย แต่ “ในที่ห่างไกลอีกหลายแห่ง ยังมีคนที่พยายามรักษาแผลแมงมุงกัดด้วยเปลวไฟอยู่

Advertisement

“ฮาร์วาร์ดท้าให้เราฝันถึงสิ่งยิ่งใหญ่ กล้าที่จะคิดเปลี่ยนโลก ในวันนี้ เราอาจจะคิดถึงจุดหมายปลายทางและการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่รอเราอยู่” เหอระบุ

“แต่สำหรับผม กำลังคิดถึงชาวนาในหมู่บ้านของผม ด้วยประสบการณ์เตือนผมเสมอว่า การสื่อสารองค์ความรู้ไปยังผู้ที่ต้องการนั้นสำคัญเพียงใด เพราะด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ที่เรามี เราสามารถช่วยให้หมู่บ้านของผม และอีกหลายๆ พันหมู่บ้านเข้ามาสู่โลกของพวกเราได้ นั่นคือสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้!”

“แต่คำถามก็คือ เราจะพยายามทำมันหรือไม่?” เท่านั้นเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image