ปริศนา “อาวุธนิวเคลียร์” ชาติไหนควรมี-ไม่มี?

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) องค์การระหว่างประเทศทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล กฎระเบียบ การดำเนินการของชาติสมาชิก 193 ชาติทั่วโลก ยึดถือระเบิดปรมาณู หรือระเบิดนิวเคลียร์ ว่าเป็น “อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง” (Weapon of Mass Destruction-WMD) ชนิดที่มีพลานุภาพสูงสุดในบรรดาดับเบิลยูเอ็มดี ด้วยกัน

ข้อเท็จจริงก็คือ หากจุดระเบิดนิวเคลียร์ในปริมาณที่มากพอ สามารถทำลายล้างสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนโลกได้ อาจไม่ได้ด้วยแรงระเบิดในทันที แต่ก็ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า “ฤดูหนาวนิวเคลียร์” (nuclear winter) สามารถคร่าสิ่งมีชีวิตที่ยังหลงเหลืออยู่ รวมทั้งมนุษย์ได้ทั้งหมด

อาวุธที่มีพลังทำลายล้างระดับนี้ โดยหลักการแล้ว แม้แต่คิดยังไม่ควรคิดคำนึงถึง อย่าว่าแต่จะตั้งหน้าตั้งตามุ่งมั่นพัฒนาขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จเลย

ปัญหาก็คือ มนุษยชาติตระหนักในข้อเท็จจริงนี้ก็ต่อเมื่อปรากฏระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นแล้ว และมีการนำมาใช้งานแล้วเท่านั้น

Advertisement

ดังนั้น ในห้วงเวลาระหว่างทศวรรษ 1940 กับทศวรรษ 1950 จึงกลายเป็นห้วงเวลาที่ระเบิดนิวเคลียร์สามารถคิดค้นพัฒนากันได้โดยเสรี “ฟรี ฟอร์ ออล”

ใครใคร่คิด-คิด ใครใคร่ทำ-ทำ

สภาวะ “ฟรี ฟอร์ ออล” นี่เอง กระตุ้นให้เกิดความหวาดระแวงจนกลายเป็นที่มาของการคิดค้น พัฒนา ระเบิดนิวเคลียร์ จนเป็นผลสำเร็จขึ้นมาในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนักวิทยาศาสตร์เยอรมันที่แปรพักตร์จากนาซี บอกกับฝ่ายพันธมิตรที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำว่า เยอรมนีกำลังคิดค้นอาวุธนิวเคลียร์อยู่ เป็นที่มาของ แมนฮัตตัน โปรเจ็กต์ คิดค้นวิธีสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ภายใต้ความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์แปรพักตร์และนักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษ ชาติพันธมิตร จนประสบผลสำเร็จ

Advertisement

โซเวียตส่งจารชนกลุ่มหนึ่งมาทำงานอยู่ในแมนฮัตตัน โปรเจ็กต์ เมื่อ โจเซฟ สตาลิน เห็นอานุภาพของอาวุธนี้ในการถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ ในปี 1945 ก็เร่งรัดให้นักวิทยาศาสตร์ของตนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาให้เร็วที่สุด อาศัยข้อมูลจากคลังข้อมูลในโครงการนิวเคลียร์ของเยอรมันและจากแมนฮัตตัน โปรเจ็กต์ เป็นพื้นฐาน โซเวียตสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกได้สำเร็จในปี 1949

อังกฤษ ที่เดิมคิดว่าเป็นผู้ “คิดค้นร่วม” แต่ถูกสหรัฐอเมริกากันออกนอกวง อาศัยนักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำงานร่วมอยู่ในแมนฮัตตันโปรเจ็กต์ พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์สำเร็จในปี 1956 ฝรั่งเศส ภายใต้การกำกับและเร่งรัดของ ชาร์ลส์ เดอโกล ทำสำเร็จเช่นเดียวกันในปี 1960

ทั้ง 4 ชาติ ถือเป็น “ชาตินิวเคลียร์” ที่เป็นผลตกทอดมาจากยุค “ฟรี ฟอร์ ออล” และทั้ง 4 ชาติคิดตรงกันว่าการพัฒนานิวเคลียร์ไม่เพียงแพงระยับ แต่ยังยากเย็นแสนเข็ญสำหรับประเทศส่วนใหญ่อีกด้วย

หากไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่กันก็ไม่น่าจะต้องกังวลว่าจะมีใครพัฒนาขึ้นมาได้อีก

แต่แล้วโลกก็เข้าสู่ภาวะ “สงครามเย็น” แตกออกเป็น 2 ขั้วภายใต้การนำของ 2 มหาอำนาจ อย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต

ระหว่างสงครามเย็น มีความตกลงแบบ “ไม่มีลายลักษณ์อักษร” ระหว่าง สหรัฐกับโซเวียตอยู่หลายประการที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิดนิวเคลียร์

แรกสุดคือ กลุ่มผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่าง เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ไม่ควรมีอาวุธนิวเคลียร์

ถัดมา มีการตกลงกันอย่างไม่เป็นทางการด้วยว่า บรรดาชาติที่มี “ศักยภาพ” ที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะอยู่ในค่ายโลกเสรี หรือค่ายคอมมิวนิสต์ ก็ไม่ควรมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ สหรัฐอเมริกา หรือไม่ก็สหภาพโซเวียต ที่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์แทน

แนวคิดดังกล่าวล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเมื่อความเป็นจริงปรากฏว่า จีน พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ได้สำเร็จเป็นชาติต่อมาในปี 1964 เช่นเดียวกับอิสราเอลในปี 1967 แม้จะไม่ประกาศ และไม่ยอมรับหรือปฏิเสธก็ตามที

ทั้งหมดนั่นเกิดขึ้นได้ เพราะได้รับการสนับสนุน ทางการเงินหรือไม่ก็ทางเทคโนโลยีจากมหาอำนาจที่เป็น “ผู้อุปถัมภ์” ของชาติเหล่านั้นนั่นเอง

นั่นทำให้เกิด สนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons หรือ Non-Proliferation Treaty – NPT) ที่มีการลงนามกันในปี 1968 และมีผลบังคับใช้ในปี 1970

เอ็นทีพียืนอยู่บนหลักการ 3 ประการ 1.คือ ไม่ทำให้อาวุธนิวเคลียร์แพร่หลายออกไปอีก 2.ให้มีการลดกำลังอาวุธนิวเคลียร์ และ 3.ส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ

วิธีการของเอ็นทีพี ยืนอยู่บนพื้นฐานของการเจรจา สารัตถะสำคัญของเอ็นทีพีคือ เจรจาให้ประเทศที่ไม่ใช่ชาตินิวเคลียร์ (ชาติที่ไม่ได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ก่อน 1 มกราคม 1967 ถือเป็นชาติที่ไม่ใช่ชาตินิวเคลียร์) ยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกกับเทคโนโลยีและการสนับสนุนให้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ

เอ็นทีพีก่อให้เกิดทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency- IAEA) ทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแล ให้ชาติที่ไม่ใช่ชาตินิวเคลียร์ ดำเนินการตามความตกลงนั้นๆ
ไอเออีเอ จัดตั้งขึ้นให้เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศก็จริง แต่รับผิดชอบในการจัดทำรายงานตรงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ทำให้ยูเอ็นเอสซีมีสถานะเหมือนผู้บังคับใช้ไปกลายๆ

แต่เอ็นทีพีและไอเออีเอ หรือแม้แต่ยูเอ็นเอสซี ก็ไม่สามารถยุติการแพร่กระจายของระเบิดนิวเคลียร์ได้ อินเดียทำสำเร็จในปี 1974 กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ประเทศที่เคยเป็นคู่สงคราม ทำสงครามใหญ่กับอินเดียมาแล้ว 3 ครั้งอย่าง ปากีสถาน ทำสำเร็จบ้างแบบช็อกโลกทั้งโลกในปี 1998

ที่น่าสนใจก็คือ เอ็นทีพีรับรองชาตินิวเคลียร์ 5 ชาติ คือสหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน ล้วนเป็นชาติสมาชิกถาวรในยูเอ็นเอสซี ในขณะที่ อิสราเอล, อินเดีย, ปากีสถาน ไม่เคยเป็นสมาชิกเอ็นทีพี และเกาหลีเหนือ ไม่เคยปฏิบัติตาม ก่อนถอนตัวจากเอ็นทีพีในปี 2003

การครอบครองระเบิดนิวเคลียร์ของอินเดียกับปากีสถาน ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย ไม่เพียงแค่ว่า ทั้ง 2 ประเทศมีได้อย่างไรเท่านั้น ยังพัวพันไปถึงความมีประสิทธิภาพของเอ็นทีพี อีกด้วย
คำถามเหล่านี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อเกิดกรณีนิวเคลียร์เกาหลีเหนือและอิหร่านขึ้นมา

แน่นอน บางชาติได้รับการโน้มน้าวจนยินยอมเลิกล้มโครงการอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างเช่น กรณีของ แอฟริกาใต้, ยูเครนและลิเบีย แต่บางชาติก็ยังคงต้องการพัฒนาต่อไปอย่างเช่นกรณีของอิรักและซีเรีย หากอิสราเอล ไม่ตัดสินใจส่งฝูงบินไปทิ้งระเบิดถล่มทิ้ง ก็ไม่แน่ว่าทั้ง 2 ชาติอาจมีนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองแล้วก็เป็นได้

แต่การกระทำของอิสราเอลถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่?

คำตอบคือไม่

ที่สำคัญก็คือ กลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้ เกาหลีเหนือ อ้างมาจนถึงทุกวันนี้ว่า ไม่ต้องการตกอยู่ในสภาพของ “ลิเบียโมเดล” หรือ “ซัดดัมโมเดล” อีกประเทศ

ข้อสังเกตที่ว่า หากมีนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง สหรัฐอเมริกาคงไม่ส่งทหารไปบุกอิรักแน่นอน และชะตากรรมของ โมอามาร์ กาดาฟี ก็คงไม่ลงเอยเช่นที่เห็นกันหากมีนิวเคลียร์อยู่ในมือ ทำให้ข้ออ้างของเกาหลีเหนือมีน้ำหนักไม่น้อย

แนวคิดที่ว่า จีน กับ รัสเซีย มีอาวุธนิวเคลียร์ก็จริง แต่มีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจของทั้งโลกมากจนยากที่จะคิดเริ่มต้นจุดชนวนสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งมีแต่ฝ่ายแพ้กับแพ้ เช่นเดียวกับที่ระบุว่า อินเดีย กับ ปากีสถาน คานอำนาจกันเองจนมีอาวุธนิวเคลียร์ก็เหมือนไม่มีนิวเคลียร์ ทำไมถึงไม่สามารถปรับใช้กับประเทศอย่างอิหร่านและเกาหลีเหนือได้?

นักคิดบางคน อาทิ เคนเนธ วอลซ์ ถึงกับชี้ให้เห็นว่า แนวคิดว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ควรยกเครื่องใหม่ทั้งหมดได้แล้ว ในเมื่อชาตินิวเคลียร์เพิ่มจาก 5 เป็น 8 ชาติ และกำลังเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 ชาติคือ เกาหลีเหนือ

อาจบางทีโลกอาจมีเสถียรภาพมากกว่านี้ถ้าหากทุกชาติมีนิวเคลียร์เหมือนๆ กันทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image