นาซาเปิดกรุ “หินดวงจันทร์” ฉลอง50ปีอพอลโล11

ไรอัน ซิกเลอร์ ภัณฑารักษ์คลังจัดเก็บตัวอย่างโครงการอพอลโล กับตู้กระจกปรับแรงดันบรรจุก๊าซไนโตรเจน สำหรับจัดแสดงตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ ที่จอห์นสัน สเปซ เซ็นเตอร์ ในนครฮุสตัน สหรัฐอเมริกา (ภาพ AP /Michael Wyke. (AP Photo/Michael Wyke)

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เตรียมเปิดกรุหิน-กรวด-ดิน ตัวอย่างจากดวงจันทร์ซึ่งไม่เคยเปิดมาก่อนตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี เปิดโอกาสให้นักธรณีวิทยาใช้ตัวอย่างบางส่วนไปสำหรับใช้เครื่องมือสมัยใหม่ของศตวรรษที่ 21 ศึกษาวิจัยต่อไป

ไรอัน ซิกเลอร์ ภัณฑารักษ์ของคลังจัดเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ของโครงการอพอลโล บอกว่า เป็นเรื่องบังเอิญที่กำหนดการเปิดตัวอย่างดังกล่าวมาตรงกับวาระครบรอบ 50 ปีของการเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของ นีล อาร์มสตรอง และ เอ็ดวิน อัลดริน มนุษย์สองคนแรกจากโลกที่มีโอกาส “เดินบนดวงจันทร์” ได้ จากจำนวนทั้งสิ้น 12 คน

หินกรวดที่เป็นผิวชั้นนอกของดวงจันทร์ที่เกิดจากการผนึกกันแน่นของดินดวงจันทร์ อายุ 3,200 ล้านปี เป็นหินดวงจันทร์ที่นักบินอวกาศอพอลโล15 นำกลับโลกมา (ภาพAP/Michael Wyke

หน้าที่หลักของซิกเลอร์ ก็คือ การดูแลรักษาตัวอย่างที่นำกลับมาจากดวงจันทร์ทั้งหมด ตั้งแต่ปี 1969 เรื่อยมาจนถึงปี 1972 น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 382 กิโลกรัม ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจได้ว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับอนุญาตให้ศึกษาตัวอย่างเหล่านี้สามารถได้ตัวอย่างจากดวงจันทร์ที่มีสภาพดีที่สุดไปเพื่อการนั้น

หินอะนอร์ทอร์ไซท์ ซึ่งถูกขนานนามว่า “เจเนซิส ร็อค” อายุ 4,400 ล้านปี ขนาดยาวราว 2 นิ้ว เป็นตัวอย่างที่อพอลโล15 นำกลับมาและถูกใช้เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ดวงจันทร์ เกิดขึ้นเมื่อเกิดการชนครั้งใหญ่ขึ้นกับโลก (ภาพAP/Michael Wyke)

บางส่วนของ “ดิน” และ “เศษหิน” เหล่านั้นถูกเก็บบรรจุไว้ในซองสุญญากาศมาตั้งแต่อยู่บนดวงจันทร์ และไม่เคยสัมผัสกับอากาศภายนอกของโลกมาก่อน อีกบางส่วนถูกแช่แข็งไว้ในหลอดแช่แข็งบรรจุก๊าซฮีเลียมในทันทีที่ลงมาถึงพื้นโลกและไม่มีใครแตะต้องอีกเลย ทางซิกเลอร์และเจ้าหน้าที่ของห้องปฏิบัติการ จอห์นสัน สเปซ เซ็นเตอร์ กำลังพยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดในการนำเอาตัวอย่างออกมาจากหลอดหรือบรรจุภัณฑ์อื่นๆ โดยไม่ทำให้ตัวอย่างแต่ละชิ้นปนเปื้อนหรือทำลายองค์ประกอบอย่างหนึ่งอย่างใดไป

Advertisement

ถึงขนาดมีการทดลองกับบรรจุภัณฑ์จำลองและตัวอย่างที่สมมุติว่าเป็นหินจากดวงจันทร์ เพื่อดูว่าปลอดภัยหรือไม่

หินตัวอย่างก้อนนี้นักบินอะพอลโล 16 นำกลับโลกมา เชื่อกันว่าเป็นหินจากดวงจันทร์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่นาซารวบรวมได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มันน่าจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของเปลือกนอกดั้งเดิมของดวงจันทร์ขณะเริ่มเย็นลงเป็นครั้งแรก (ภาพAP/Michael Wyke)

ซิกเลอร์อธิบายว่า การที่มีการเก็บตัวอย่างบางส่วนเอาไว้ในรูปแบบดั้งเดิมที่สุดจากดวงจันทร์นั้น ถือเป็นความชาญฉลาดของนักวิทยาศาสตร์ในโครงการอพอลโลในยุคนั้น เนื่องจากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่สามารถตรวจสอบได้ละเอียด ครบถ้วนและทำอะไรต่อมิอะไรกับตัวอย่างได้มากมาย มากกว่าอุปกรณ์ที่มีเมื่อ 50 ปีก่อนมาก

หินบะซอลท์ หรือหินภูเขาไฟทำนองเดียวกับที่พบบนพื้นโลกก้อนนี้มีอายุมากถึง 3,500 ล้านปี เตรียมพร้อมสำหรับการจัดแสดงภายในคลังเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ของนาซาที่ จอห์นสัน สเปซ เซนเตอร์ (ภาพAP/Michael Wyke)

ตัวอย่างจากดวงจันทร์ ถูกจัดเก็บไว้ในห้องนิรภัยที่มีประตูเหล็กขนาดใหญ่หนาหนักแบบเดียวกับที่ใช้เป็นประตูห้องนิรภัยสำหรับจัดเก็บทองคำของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ที่ จอห์นสัน สเปซ เซ็นเตอร์ มีห้องนิรภัยเพื่อการจัดเก็บนี้ 2 ห้อง ห้องแรกเป็นพื้นที่จัดเก็บตัวอย่างดั้งเดิม ซึ่งประตูต้องเปิดโดยหมุนวงล้อรหัส 2 วงล้อให้ประสานกัน และต้องใช้คนถึง 2 คน เพื่อดึงประตูเปิดจัดเก็บตัวอย่างไว้ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างทั้งหมด อีกราว 15 เปอร์เซ็นต์ จัดเก็บไว้เพื่อจัดแสดงและศึกษาวิจัย ส่วนที่เหลือถูกนำไปจัดเก็บไว้ที่ ไวท์แซนด์ ในรัฐนิวเม็กซิโก

Advertisement

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

สหรัฐอเมริกาส่งยานพร้อมนักบินอวกาศไปลงบนดวงจันทร์ 6 ลำ ในจำนวนนี้ ยานอพอลโล 11 เก็บตัวอย่างกลับมาน้อยที่สุดแค่ 22 กิโลกรัม สาเหตุเพราะเป็นการลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของนักบินอวกาศและนาซาต้องการให้นักบินอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงใดๆ ลง จึงมีเวลา “ท่องดวงจันทร์” เพียงแค่ 2 ชั่วโมงกับอีก 30 นาทีเท่านั้น

กล่องเหล็กกล้าไร้สนิม สำหรับจัดเก็บซองพลาสติกปิดผนึกบรรจุตัวอย่างจากดวงจันทร์จากการเก็บรวบรวมของยานอพอลโล 16 พร้อมป้ายจำแนก ซองปิดผนึกสุญญากาศเหล่านี้บางส่วนไม่เคยเปิดเลยนับตั้งแต่ปิดผนึกไว้บนดวงจันทร์ (ภาพAP/Michael Wyke)

ราว 3 ใน 4 ของตัวอย่างทั้งหมดดังกล่าวนี้ซึ่งเหลือจากการนำไปศึกษาทางวิทยาศาสตร์, นำไปจัดแสดง และส่งบางส่วนไปเป็นของขวัญต่อนานาประเทศแล้ว ถูกจัดเก็บอยู่ที่นี่เช่นกัน

ในภารกิจอพอลโลอีก 5 ครั้งต่อมา ครั้งที่ 15, 16 และ 17 เป็นครั้งที่มีการเก็บตัวอย่างกลับมามากที่สุด สาเหตุเป็นเพราะมียานโรเวอร์สำหรับจัดเก็บรวบรวมตัวอย่างที่ครอบคลุมพื้นที่พื้นผิวได้มากกว่านั่นเอง

ตัวอย่างส่วนใหญ่ที่จะเปิดออกแล้วแจกจ่ายออกไปในช่วง 1 ปีนับจากนี้ไปนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นตัวอย่างจากอพอลโล 17 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีนักบินอวกาศที่เป็นนักวิชาการทางธรณีวิทยา คือ แฮร์ริสัน ชมิทท์ ขึ้นไป “ท่องดวงจันทร์” ด้วย

นาซาจะแจกตัวอย่างหลากหลายให้กับทีมศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกา 9 ทีม น้ำหนักตั้งแต่เท่ากับ คลิปหนีบกระดาษ เรื่อยไปจนถึงปริมาณที่แทบวัดขนาดไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป

ที่สำคัญก็คือ ทุกชิ้นยังจะคงสภาพเหมือนกับในยุคทศวรรษ 1970 ไม่มีผิดเพี้ยนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image