นักวิชาการจุฬาฯ วิเคราะห์ที่มา-ผลพวงกฎหมายใหม่ญี่ปุ่น เอื้อส่งกองกำลังไปต่างแดน

Teewin Suputtikun - JPN - Chulalongkornหลังเมื่อวันที่ 19 กันยายนปีที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติญี่ปุ่นลงคะแนนเสียงรับรองร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะที่ผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่องด้วยเห็นถึงความจำเป็นต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคและภัยคุกคามที่อาจสั่นคลอนญี่ปุ่นประเทศที่ดำรงด้วยรัฐธรรมนูญต่อต้านสงคราม(Pacifists Constitution) มานานกว่า 70 ปี

ดร.ธีวินท์ สุพุทธิกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นศึกษา ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงร่างกฎหมายฉบับนี้พร้อมชี้ถึงที่มา ความสำคัญ และบทบาทต่อเวทีระหว่างประเทศ

อาจารย์เริ่มต้นด้วยการอธิบาย ด้วยสถานการณ์ในภูมิภาคที่ตึงเครียดขึ้นทั้งจากจีนและเกาหลีเหนือ เฉพาะระหว่างจีนและญี่ปุ่นนั้นมีประเด็นข้อพิพาทหมู่เกาะเซงกากุ (หรือหมู่เกาะเตียวหยูตามชื่อเรียกของจีน) โดยระบุว่าท่าทีแข็งกร้าวนี้ทำให้รัฐบาลนายอาเบะต้องหาทางรับมือ

รวมถึงการขึ้นเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคของจีนที่อาจเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจ ที่แต่เดิมมีสหรัฐฯ คอยดูแลระเบียบแม้ยังไม่สามารถแข่งขันกับสหรัฐฯ ได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับท่าทีของจีนต่อปัญหาข้อพิพาทในน่านน้ำทะเลจีนใต้กับประเทศอื่น ๆ อย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม พร้อมการขยายแสนยานุภาพของจีนอย่างการนำเรือไปโผล่ที่อลาสกาหรือมหาสมุทรอินเดีย ทำให้เกิดคำถามว่าจีนจะใช้ศักยภาพนี้ไปในทางใด

Advertisement

ขณะประเด็นคำถามที่ว่า ร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มีความขัดแย้งต่อมาตรา9ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ให้สละจากสงคราม และไม่มีการธำรงไว้ซึ่งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศในทางสงครามนั้น อาจารย์จากรั้วจุฬาฯ ชี้ว่า รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นถูกตีความตามยุคสมัย โดยเฉพาะมาตรา 9 ที่ถูกมองว่าเนื้อความเปิดช่องให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องของการป้องกันตัวจึงพูดได้ยากว่าขัดหรือไม่

ปัจจุบันญี่ปุ่นมีกองกำลังป้องกันตนเอง(Self-defense force) ซึ่งไม่ใช่กองกำลังเพื่อทำสงครามแต่มีเพื่อป้องกันประเทศ พร้อมกันนี้ญี่ปุ่นยังอ้างอิงถึงกฎบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) ที่บัญญัติอย่างชัดเจนว่า สิทธิการป้องกันตนเองและการป้องกันตนเองร่วมกัน (Individual and collective self-defense) เป็นสิทธิพื้นฐานที่ไม่สามารถพรากจากรัฐหนึ่ง ๆ ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาเบะประกาศถึงความสำคัญของร่างฉบับนี้ว่าเพื่อสิทธิการป้องกันตนเองร่วมกัน

แต่ญี่ปุ่นเคยประกาศไม่ยอมรับสิทธิป้องกันตนเองร่วมกันนี้จากการตีความของมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญเมื่อต้นทศวรรษ 1950 ทำให้กองกำลังป้องกันตนเองมีเพื่อป้องกันตนเอง แต่ไม่สามารถป้องกันชาติอื่น

Advertisement

Teewin Suputtikun - JPN - Chulalongkorn

ญี่ปุ่นมีหลักการในการป้องกันเชิงรับ (Defensive defense) ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงบทบาทกองกำลังป้องกันตนเอง ได้แก่ การมีกองกำลังในระดับต่ำสุดเท่าที่จำเป็น, ญี่ปุ่นจะไม่ส่งกองกำลังป้องกันตนเองไปปฏิบัติการในต่างประเทศ, และปฏิเสธสิทธิการป้องกันตนเองร่วมกัน

ฉะนั้น แต่เดิม พันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ภายใต้นโยบายนี้ สหรัฐฯ ต้องเข้ามาป้องกันญี่ปุ่นในกรณีที่ถูกโจมตีจากต่างชาติ แต่ญี่ปุ่นไม่สามารถส่งความช่วยเหลือสหรัฐฯ ได้ ซึ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ให้การยอมรับเงื่อนไขนี้เนื่องจากญี่ปุ่นในฐานะประเทศแพ้สงครามต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามท่าทีของสหรัฐฯในปัจจุบันที่สร้างข้อกังขาให้แก่ญี่ปุ่นว่ากองกำลังของสหรัฐฯ จะถูกส่งมาช่วยเหลือหรือไม่หากถูกคุกคามจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ประเทศซึ่งสหรัฐฯ มีผลประโยชน์ในการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยความพยายามไม่แทรกแซงในภูมิภาคหลังเคยแทรกแซงตะวันออกกลางแล้ว การประกาศยอมรับสิทธิป้องกันตนเองร่วมกันภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ระบบพันธมิตรสองประเทศมีความน่าเชื่อถือและเหนียวแน่นขึ้น พร้อมเสริมศักยภาพในการป้องปรามของญี่ปุ่น ผ่านการส่งสัญญาณถึงประเทศที่ทำให้ญี่ปุ่นเกรงภัยคุกคามอย่างจีน และเกาหลีเหนือด้วย

ส่วนในประเด็นความเป็นไปได้ที่จะเห็นกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นร่วมปฏิบัติการในต่างแดนนั้น ดร.ธีวินท์เผยว่าญี่ปุ่นเองมีเงื่อนไขที่วางไว้ในการใช้สิทธิการป้องกันตนเองร่วมกันโดยพิจารณาจากความเป็นภัยคุกคามต่อญี่ปุ่น,ไม่มีหนทางอื่นแก้ไขปัญหา และใช้กำลังในระดับต่ำสุด

หากพิจารณาเห็นสอดคล้อง 2 กรณีแรก ทางการต้องกลับมาคิดว่าปฏิบัติการนั้นจะเป็นไปในแนวทางใด อาจเป็นปฏิบัติการส่งเสบียง ช่วยเหลือในแนวหลัง แต่ไม่ใช่การร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่เสมอไป เนื่องจากมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยังคงมีอยู่

ก่อนหน้าการรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว ประชาชนญี่ปุ่นหลายหมื่นคน รวมตัวประท้วงต่อต้านการผลักดันกฎหมายฉบับนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลสำรวจจากหนังสือพิมพ์อย่างโยมิอุริ ชิมบุน, อาซาฮี ชิมบุน, และนิคเคอิ ชี้ให้เห็นว่าพรรครัฐบาลมีคะแนนนิยมลดลงเฉลี่ย 4-5 จุด ร่วงลงอยู่ที่ระดับประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

แต่ขณะเดียว พรรคฝ่ายค้านเองก็มีคะแนนนิยมลดลงเช่นกัน โดย ดร.ธีวินท์มองว่า ที่จริงแล้วพรรครัฐบาลรู้สึกโล่งใจต่อผลคะแนนนิยมที่ลดลง เนื่องจากลดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ส่วนฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ต่อต้านร่างกฎหมายอย่างเต็มที่จนถึงขั้นตะลุมบอนในวุฒิสภาก็ตาม คะแนนนิยมฝ่ายค้านที่ลดลงนี้แสดงภาพว่าที่จริงแล้วการต่อต้านร่างฉบับนี้ อาจไม่ได้รุนแรงเท่าภาพที่เห็นจากการประท้วงรวมถึงแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่เห็นประสิทธิภาพการทำงานในเชิงบวกและไม่ไว้วางใจเท่าพรรคแอลดีพีของนายกฯอาเบะ

อย่างไรก็ตาม ดร.ธีวินท์ ทิ้งท้ายถึงการทำความเข้าใจประเด็นร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ว่า เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและคลุมเครืออยู่หลายส่วน ทั้งในการตีความรัฐธรรมนูญและหลักการ ด้วยความคลุมเครือเหล่านี้รัฐบาลอาจมองว่าควรผลักดันร่างกฎหมายเสียก่อนแล้วค่อยให้ความรู้แก่ประชาชน จนนำมาซึ่งความไม่พอใจต่อท่าทีรัฐบาลครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image