ตามทูตไทยสำรวจเส้นทาง การค้า-การลงทุน ’เวียดนาม-จีน’(2)

หลังได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโอกาสทางการค้าการลงทุนตลอดจนประเด็นต่างๆ ที่นักลงทุนไทยที่สนใจจะมาลงทุนในเวียดนามควรต้องทราบแล้ว เราก็เริ่มออกเดินทางไปตามเส้นทางขึ้นเหนือของเวียดนาม จากกรุงฮานอยจุดแรกที่เรามุ่งหน้าไปชมคือโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี)ที่จ.หายเซือง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในเวียดนาม

ทั้งนี้ซีพีถือเป็นบริษัทไทยรายแรกๆ ที่มาลงทุนในเวียดนาม ปัจจุบันมีซีพีโรงงานผลิตอาหารสัตว์บก 6 แห่ง และโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ 3 แห่ง ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศเวียดนาม และยังถือเป็นบริษัทที่คนเวียดนามอยากจะเข้ามาทำงานเป็นอันดับต้นๆ ธุรกิจของซีพีได้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเกษตรในเวียดนามเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และได้รับการตอบรับจากลูกค้าในเวียดนามเป็นอย่างดี

คณะยังได้เยี่ยมชมท่าเรือไฮฟอง ซึ่งถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของเวียดนาม ซึ่งกรมเจ้าท่าของเวียดนามได้บรรยายสรุปถึงศักยภาพและการดำเนินการของท่าเรือที่นครไฮฟองให้ทราบ และยังฟังการบรรยายสรุปจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ฮาลอง ที่ตั้งอยู่ในจ.กว่างนิงห์ ซึ่งถือเป็นทำเลที่มีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย เพราะสามารถใช้เป็นฐานผลิตและส่งสินค้าออกทางเรือที่ท่าเรือไฮฟองได้ และยังสามารถใช้เส้นทางรถเพื่อขนส่งสินค้าเข้าไปยังจีนได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ผู้แทนของบริษัทอมตะให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากเดิมที่การค้าการลงทุนจะกระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ทางภาคเหนือของเวียดนามกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เวียดนามก็มีการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีสำหรับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของเวียดนามด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามตอนเหนือที่กำลังขยายตัวอย่างน่าสนใจ

Advertisement
เยี่ยมชมพื้นที่ด่านชายแดนเวียดนาม-จีน

คณะได้เยี่ยมคาราวะเลขาธิการพรรคจังหวัดกว่างนิงห์ ซึ่งได้มีการบรรยายสรุปถึงโอกาสทางการค้าการลงทุน ปัจจุบันมีโครงการลงทุนของไทยในจ.กว่างนิงห์รวม 3 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าราว 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,650 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงโครงการของกลุ่มอมตะด้วย

ตลอดเส้นทางที่เราได้นั่งรถมานั้น ถนนในเวียดนามในปัจจุบันถือได้ว่าใช้การได้เป็นอย่างดี มีทางด่วนที่ถนนกว้างขวางให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อซื้อความสะดวกสบาย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการประหยัดเวลา เพราะบนทางด่วนนั้นรถจะวิ่งได้เร็วกว่าทางปกติ ขณะที่เส้นทางเดินรถเดิมที่แม้รถจะหนาแน่นกว่าแต่ก็ใช้การได้และมีสภาพถนนที่อยู่ในระดับดีพอสมควร หากมองในฐานะที่เวียดนามเป็นประตูเชื่อมสู่จีนทางรถของอาเซียนก็ต้องถือว่าถนนในเวียดนามสามารถใช้การได้เป็นอย่างดี

เวียดนามมีถนนสายหลักคือ เอเอช 1 ที่เชื่อมต่อจากกรุงฮานอยเข้าไปยังจีน ทำให้ประเด็นที่น่าสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการเดินทางสำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนในครั้งนี้คือการเยี่ยมชมและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ด่านชายแดนหิวหงิ ที่จ.หล่างเซิน ของเวียดนาม ที่ตั้งอยู่ติดกับด่านชายแดนโหยวอี้กวาน ในมณฑลกว่างสีจ้วงของจีน เป็นด่านที่สำคัญที่สุดในด้านการค้าไทย-เวียดนาม-จีน โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้จากไทยมายังจีน ผ่านถนนเส้นเอเอช 1 นั่นเอง

Advertisement

ด่านพรมแดนที่จ.หล่างเซินนี้เป็นด่านพรมแดนทางบกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเป็นทางเชื่อมที่ใหญ่ที่สุดกับจีน ทั้งยังเป็นพรมแดนในการเชื่อมอาเซียน-จีนอีกด้วย โดยมูลค่าการค้าผ่านแดนพรมแดนแห่งนี้ถือว่าสูงที่สุดในเวียดนามคือราว 5,000-8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทั้งนี้จากตัวเลขเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 มีผลไม้ไทยที่ส่งผ่านด่านแห่งนี้รวม 400,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 360 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ในปี 2561 มูลค่าการส่งออกทุเรียนและมังคุดไทยผ่านด่านแห่งนี้อยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 600,000 ตัน โดยในช่วงปี 2561-2562 ทุเรียนไทยผ่านด่านแห่งนี้เฉลี่ย 150 ตู้ต่อวัน

ฟังบรรยายสรุปจากฝ่ายจีน

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดที่ ท่านทูตธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนามให้ความสำคัญคือเรื่องการส่งออกผลไม้ไทย หลังจากในปีนี้มีรายงานว่าเกิดปัญหาขึ้นค่อนข้างมาก ทั้งยังมีรายงานว่าจากเดิมที่จีนจะสุ่มตรวจสินค้าบางตู้กลายเป็นการตรวจสินค้าทุกตู้ที่ส่งไปจากไทย ซึ่งฝ่ายเวียดนามชี้แจงกับท่านทูตธานีว่า ปัญหาที่พบเกิดขึ้นในช่วงฤดูผลไม้คือในเดือนเมษายน โดยทั้งเวียดนามและจีนทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายามร่วมมือกันเพื่อให้สามารถส่งสินค้าเกษตรผ่านด่านทั้งสองแห่งทำได้อย่างรวดเร็วภายในไม่เกิน 1 วันทำการ โดยด่านทั้งในฝั่งเวียดนามและจีนยังเพิ่มเวลาทำงานเป็น 7 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่การตรวจสอบสินค้าก็เป็นไปตามมาตรฐานสากล และที่ผ่านมาเวียดนามไม่เคยมีข้อมูลว่าทุเรียนหรือมังคุดไทยไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพหรือถูกตีกลับแต่อย่างใด

ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนชี้แจงให้ฟังว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้การนำเข้าทุเรียนไทยในปีนี้เกิดความล่าช้า ประการแรกคือมีการเปลี่ยนระบบผ่านแดนใหม่ จีนได้ทำการปรับโครงสร้างโดยนำเอาหน่วยงานกักกันพืชมารวมกับศุลกากร ทั้งนี้ตรวจและกักกันโรคพืชของจีนในปัจจุบัน ผู้นำเข้าต้องสำแดงเอกสารก่อน ซึ่งฝ่ายจีนจะแจ้งให้ทราบเลยว่ารถคันไหนจะถูกสุ่มตรวจ ซึ่งมีอยู่ราว 30% ส่วนรถคันไหนหากถ้าไม่โดนแจ้งสุ่มตรวจ ก็สามารถผ่านข้ามแดนเข้าไปได้เลย แต่ฝ่ายจีนรับว่าช่วงที่ผ่านมาอาจมีปัญหาเกิดขึ้นเล็กน้อย เพราะบางครั้งรถมาถึงแล้วแต่เอกสารที่ทำผ่านระบบอี-คัสตอมยังมาไม่ถึง รถก็ต้องจอดรถรอจนทำให้เกิดสภาพการจราจรที่่ด่านหนาแน่นติดขัด นอกจากนี้รถขนสินค้ายังต้องลงทะเบียนกับทางการจีนก่อนจึงจะนำสินค้าเข้าไปยังจีนได้ แต่รถบางส่วนยังไม่ลงทะเบียน ซึ่งก็เป็นสาเหตุให้เกิดความล่าช้าด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่จีนย้ำว่าด่านให้ความสำคัญกับผลไม้ไทยและสินค้าสดที่นำเข้าผ่านช่องทางนี้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาได้มีการประสานเวียดนามว่าหสกเป็นสินค้าสดให้ทำงานล่วงเวลาเพื่อผ่านแดน อีกส่วนหนึ่งอาจมาการประเมินช่วงเวลาที่ผลไม้จะเข้ามามากผิดพลาด ซึ่งในอนาคตอาจต้องมีการประสานกันว่าช่วงไหนที่ผลไม้ออก เพราะแต่ละปีผลไม้อาจออกไม่ตรงกัน ซึ่งท่านทูตธานีเห็นด้วยในหลักการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในส่วนนี้ ทางฝ่ายจีนยังได้แจ้งให้ทราบด้วยว่า จีนยังวางแผนขยายช่องเดินรถภายในด่านจาก 6 เป็น 12 ช่อง และจะพยายามให้สิทธิพิเศษสินค้าผลไม้ไทยในการผ่านด่านก่อนอีกด้วย

ดวงใจ จันทร

การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านถนนหนทางต่างๆ เป็นเรื่องที่รัฐบาลของชาติสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญ และหนึ่งในผู้ที่ถือว่ามีความรู้ในเรื่องนี้อย่างหาตัวจับยากคือ นางดวงใจ จันทร ประธานคณะกรรมการการค้าชายแดนและข้ามแดน ประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ของสภาหอการค้าไทย ที่บอกภาพรวมให้ทราบว่า ปัจจุบันหากดูเส้นการเชื่อมโยงจากไทยไปยังลาว กัมพูชา และเมียนมา เส้นทางที่เดินทางสะดวกที่สุดคือกัมพูชา เนื่องจากไม่มีภูเขา ขณะที่การขนส่งสินค้าผ่านแดนก็แทบไม่มีปัญหา มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่คนกัมพูชาที่นิยมมารักษาตัวในโรงพยาบาลไทย คนเวียดนามก็ชื่นชอบโรงพยาบาลไทยเช่นกัน โดยเฉพาะชนชั้นกลางของเวียดนามบางครั้งนั่งรถบัสมาไทยครั้งละ 60-70 คันรถกันเลยทีเดียว ส่วนใหญ่คนเวียดนามจะมาไทยผ่านทางจ.สุรินทร์และบุรีรัมย์ ทั้งมาหาหมอ มาท่องเที่ยว และมาซื้อของ

คุณดวงใจยืนยันว่า การเชื่อมต่อเส้นทางต่างๆ ในอาเซียนทำให้ไทยได้ประโยชน์ เพราะเพื่อนบ้านไม่เพียงแต่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในไทย แต่เส้นทางเหล่านี้ยังเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าจากไทยออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้านและส่งไปยังจีนอีกด้วย เราต้องอำนวยความสะดวกเรื่องถนนหนทางและเรื่องการเข้าออกของสินค้า หากมีการเปิดจุดผ่อนปรนและทำถนนให้ดี และสามารถเปิดด่านชายแดนตามจุดต่างๆ เพิ่มขึ้นได้ทุกช่องทาง มูลค่าการค้าชายแดนจะเพิ่มสูงขึ้นตามมาอย่างแน่นอน เพราะประเทศเหล่านี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าไทย

“อย่าไปคิดว่าถ้าเราให้เขาแล้วเราจะได้อะไรกลับมา อย่ามองว่าเราจะเสียเปรียบ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่เราได้นั้นมีมากมายอยู่แล้ว”คุณดวงใจสรุปได้อย่างน่าคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image