คอลัมน์ไฮไลต์โลก: บททดสอบความซื่อสัตย์vsเห็นแก่ได้

gettyimages

การลองใจคน อาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ตัวตนที่แท้จริงของบุคคลนั้นได้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ Science เมื่อเร็วๆนี้ เผยให้เห็นผลลัพท์ที่น่าสนใจ

งานวิจัยที่ว่าเป็นการทำวิจัยในช่วงไม่กี่ปีก่อน เป็นการประเมินทดสอบ “ความซื่อสัตย์กับความเห็นแก่ได้” ที่มีอยู่ในตัวของคนเรา ที่กรณีศึกษาที่จะว่าต่อไปนี้เป็นการยกกรณีที่สุ่มทำใน 8 เมืองใหญ่ในประเทศอินเดีย ด้วยการสร้างสถานการณ์ทำกระเป๋าสตางค์ จำนวน 800 ใบ ตกในสถานที่ต่างๆ กันไป เช่น ธนาคาร โรงหนัง โรงแรม สถานีตำรวจ ที่ทำการไปรษณีย์ และ ศาล โดยกระเป๋าสตางค์จำนวนหนึ่งนั้นไม่มีเงินอยู่เลย ส่วนอีกจำนวนหนึ่งมีเงินใส่ไว้ราว 230 รูปี (ราว 100 บาท) และในแต่ละใบจะมีการใส่นามบัตรที่พิมพ์ชื่อและอีเมลแอดเดรสของเจ้าของกระเป๋าสตางค์เอาไว้ รวมถึงใบรายการสิ่งของและกุญแจ

จากนั้นรอดูว่าจะมีผู้มาติดต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งคืนกระเป๋าสตางค์ที่พบให้กับเจ้าของหรือไม่

ผลจากการทดสอบพบว่ามีกระเป๋าสตางค์ที่ถูกส่งคืนเจ้าของที่เป็นผู้ชาย 314 คน และผู้หญิง 86 คน ในเมืองอาห์มาดาบัด บังกาลอร์ โคอิมบะทอร์ ไฮเดอราบัด ชัยปุระ โกลกาตา มุมไบ และ เดลี

Advertisement

ในส่วนของกระเป๋าสตางค์ที่มีเงินอยู่ในกระเป๋าด้วย มี 43% ที่ถูกส่งคืนเจ้าของ แต่กระเป๋าที่ไม่มีเงิน มีการแจ้งส่งคืนเจ้าของเพียงแค่ 22% เท่านั้น

ผลวิจัยพบว่าในเมืองทางตอนใต้ของอินเดีย อัตราการส่งคืนกระเป๋าที่เก็บได้ มีทั้งสูงสุดและต่ำสุด โดยกระเป๋าสตางค์ที่มีเงินอยู่ในนั้น มีการเก็บส่งคืนเจ้าของมากที่สุดคือในเมืองบังกาลอร์ที่ 66% ต่ำที่สุดคือในไฮเดอราบัด 28%

ในเมืองโคอิมบะทอร์ มีอัตราการแจ้งคืนกระเป๋าสตางค์ที่ไม่มีเงินใส่ไว้ มากที่สุด 58% ส่วนกรุงเดลี เมืองหลวง มีอัตราการส่งคืนกระเป๋าที่ไม่มีเงินใส่ไว้ น้อยที่สุด 12%

และโดยภาพรวมแล้ว เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ที่ส่งกระเป๋าสตางค์ที่เก็บได้คืนให้เจ้าของ ไม่ว่าในกระเป๋าจะมีเงินหรือไม่มีเงินใส่ไว้หรือไม่ก็ตาม

การวัดใจคนด้วยบททดสอบ “กระเป๋าสตางค์ตก” ในประเทศอินเดีย เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกในเรื่องของความซื่อสัตย์กับความเห็นแก่ได้ ที่ทีมนักวิจัยชุดนี้ทำการศึกษาในช่วงระหว่างปีค.ศ.2013-2016 โดยการสร้างสถานการณ์กระเป๋าสตางค์หล่นหายทั้งสิ้น 17,000 ใบ ใน 355 เมือง ใน 40 ประเทศ ส่วนเงินที่ใส่ไว้ในกระเป๋าสตางค์จำนวนหนึ่งเพื่อวัดใจคนนั้น จะใช้เป็นเงินสกุลท้องถิ่น ในจำนวนที่เหมาะสมกับอำนาจซื้อของผู้คนในประเทศนั้นๆ ซึ่งก็จะเป็นในระดับที่แตกต่างกันไป นักวิจัยพบว่า คนใน 38 จาก 40 ประเทศที่ทำการศึกษา ส่วนใหญ่มักนำกระเป๋าสตางค์ที่มีเงินอยู่ในกระเป๋ามาคืน ส่วนใน 2 ประเทศ คือ เปรูและเม็กซิโก ที่ไม่ได้ถูกระบุรวมอยู่ในผลศึกษานี้เนื่องจากมีข้อมูลคลาดเคลื่อนผิดปกติ

ผลการวิจัยยังพบว่าเมื่อมีการเพิ่มจำนวนเงินที่ใส่ลงไปในกระเป๋าสตางค์เพิ่มขึ้น 7 เท่า ใน 3 ประเทศ พบว่าอัตราเฉลี่ยการส่งคืนกระเป๋าแก่เจ้าของมีเพิ่มขึ้น 18% โดยอัตราการแจ้งคืนมีสูงที่สุดในเดนมาร์ก(82%) ต่ำสุดคือในเปรู (13%) ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ มีอัตราการคืนกระเป๋าที่ไม่มีเงิน สูงที่สุดที่ 73% ส่วนจีนต่ำที่สุด 7% ซึ่งผลการวิจัยนี้ให้ข้อเสนอแนะว่าคนเรายิ่งแสดงความซื่อสัตย์มากขึ้นเมื่อเห็นว่ามีเงินในกระเป๋าอยู่มาก

อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงแค่งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่เป็นการสุ่มสำรวจศึกษา จึงอาจไม่ใช่มาตรวัดระดับความซื่อสัตย์หรือเห็นแก่ได้ของมนุษย์เราที่มีความซับซ้อนทางจิตใจได้อย่างถูกต้องเสมอไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image