ตามทูตไทยสำรวจเส้นทาง การค้า-การลงทุน ’เวียดนาม-จีน’(จบ)

เมื่อผ่านด่านชายแดนจีนเข้ามายังเขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง ถนนหนทางในจีนวิ่งได้อย่างสะดวกสบายสมกับที่จีนกำหนดให้กว่างสีจ้วงเป็นประตูเชื่อมต่อกับอาเซียนของจีน แต่สิ่งที่สะดุดสายตาคือตลอดสองข้างทางจากด่านเข้าเมือง มีเสาที่ตกแต่งด้วยทุเรียนและมังคุดจำลองให้เห็นเป็นระยะ ตอกย้ำให้เห็นว่านี่คือเส้นทางสำคัญสำหรับการนำเข้าผลไม้จากอาเซียนซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนจีนอย่างแท้จริงๆ

คณะของเราได้ตรงเข้าไปเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย ที่ฉงจั่ว ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล ธุรกิจของคนไทยที่มาลงทุนในจีนนานถึง 26 ปีแล้ว มิตรผลได้เริ่มต้นการทำธุรกิจจากการเทคโอเวอร์โรงงานน้ำตาลเก่าในจีน แล้วนำเอาเทคโนโลยีในการผลิตน้ำตาลที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญมาใช้ ทำให้น้ำตาลของมิตรผลมีคุณภาพสูง

ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในจีน 5 แห่ง หีบอ้อยถึงวันละเกือบแสนตัน บริษัทยังช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยถึง 12,000 ราย เพื่อส่งเสริมพวกเขาให้มีการลงทุนอย่างยั่งยืน กลุ่มมิตรผลในจีนไม่ได้ทำธุรกิจแค่การผลิตน้ำตาล แต่ยังทำปุ๋ยขายชาวไร่อ้อยและผลิตกระแสไฟฟ้า โดยนำเอาชานอ้อยจากการผลิตน้ำตาลไปใช้ในการทำโรงไฟฟ้าชานอ้อย ทั้งเพื่อใช้ในโรงงานของตนเองและผลิตขาย และกำลังจะผลิตอาหารสัตว์จากใบอ้อย รวมถึงผลิตน้ำตาลสำหรับคนเป็นเบาหวานด้วย

ผู้บริหารกลุ่มมิตรผลในจีนเล่าให้เราฟังว่า ปัจจุบันประเทศจีนร่ำรวยแล้ว เขาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก อย่างโรงงานน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลก็เป็นโรงงานที่ยึดหลักของเสียเหลือศูนย์(Zero waste) โดยมีการนำเอาทรัพยากรทุกอย่างกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน

Advertisement

นายชัยรัตน์ พรทิพย์วรเวทย์ กงสุลใหญ่ไทย ณ นครหนานหนิง ประเทศจีน เล่าให้ฟังถึงโอกาสในการทำธุรกิจในจีนว่า กว่างสีจ้วงถือเป็นเมืองแห่งน้ำตาล แมงกานีส และการค้าชายแดนของจีน และเป็นที่จัดมหกรรมสินค้าอาเซียนเพราะถือเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน โดยด่านที่มีมูลค่าการค้าคึกคักที่สุดของจีนคือด่านผิงเสีย ปัจจุบันผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามายังจีนมีอยู่ 20 ชนิด สงครามการค้าที่เกิดขึ้นทำให้จีนนำเข้าอาหารจากสหรัฐอเมริกาลดลง 30% และนำเข้าอาหารจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น 15% ส่วนโอกาสสำหรับสินค้าต่างๆ นั้นปัจจุบันคนจีนสนใจเรื่องความงามมากขึ้น ขณะที่สินค้าเกี่ยวกับคนชราก็น่าจะมีโอกาสเติบโตเพราะปัจจุบันจีนมีคนชราราว 190 ล้านคน อย่างไรก็ดีผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจในจีนต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะตลาดเปลี่ยนไวมาก ทำให้เอสเอ็มอีจีนจะอยู่ได้เฉลี่ย 2.97 ปี ทั้งยังยืนยันข้อมูลที่สอดคลองกับกลุ่มบริษัทมิตรผลว่าปัจจุบันคนจีนนั้นทั้งรักษาสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำแยงซีเกียงจีนก็สั่งยกเลิกทั้งหมดแล้ว

สฤษดิ์ วิฑูรย์

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า อุบลราชธานีเป็นจังหวัดในกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างที่มีคนไทยเชื้อสายเวียดนามอยู่มาก ซึ่งเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจของจังหวัด การเดินทางมาร่วมสำรวจเส้นทางในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้เห็นศักยภาพสำหรับการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสที่จะส่งเสริมให้กับนักลงทุนไทย เพราะฐานการผลิตของเราคือภาคเกษตร และเกษตรแปรรูป พืชสมุนไพร ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในกลุ่มอีสานตอนล่างของเรามีศักยภาพเรื่องวัตถุดิบที่จะมาป้อนตลาดจีนและเวียดนามได้อย่างแน่นอน ที่เห็นได้ชัดเรื่องผลไม้ ศรีสะเกษมีทุเรียนขึ้นชื่อ เรายังมีมังคุด ลองกอง ชมพู่ และกล้วย ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการ หากบริหารจัดการเรื่องการผ่านแดนให้ดี ก็จะเป็นแม่เหล็กอย่างดีให้การเพาะปลูกด้วยการเอาตลาดนำ

นอกจากนี้อีกไม่กี่ปีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 6 ก็จะเปิดใช้งาน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว เนื่องจากอุบลราชธานีมีความสัมพันธ์เป็นบ้านพี่เมืองน้องกับหลายจังหวัดของเวียดนามอยู่แล้ว และยังมีประเพณีแห่งเทียนพรรษาอีนขึ้นชื่อซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมมาไหว้พระขอพร

Advertisement
วัฒนา พุฒิชาติ

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการเดินทางมาครั้งนี้ได้ประโยชน์มาก ทำให้เห็นทิศทางการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว และมองเห็นความเชื่อมต่อของทีมประเทศไทยในประเทศและนอกประเทศ การเรียนรู้พื้นที่จริงและได้ข้อมูลเชิงลึกทำให้เรามองเห็นภาพชัดเจน รวมถึงปัญหาและอุปสรรค เพราะงได้ไปแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลกับผู้ที่ทำงานจริงในพื้นที่ ซึ่งจะนำกลับไปคุยกันอีกครั้งว่าจะเดินหน้าและเชื่อมสิ่งที่ได้ไปพบได้อย่างไรต่อไป

จังหวัดอุดรธานีมีประชาชนเชื้อสายเวียดนามมากที่สุดในประเทศไทย จึงมีความรู้สึกใกล้ชิดกับเวียดนามมาก ขณะที่อุดรธานีเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ และยังมีสายการบินที่มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงไปยังทุกภูมิภาคของประเทศไทย เมื่อได้มาร่วมทริปแล้วแล้วเห็นว่าการวางยุทธศาสตร์ในจังหวัดต้องไม่มองแค่กลุ่มจังหวัดของเรา 5 จังหวัดเท่านั้น แต่ต้องออกมาดูถึงเส้นทางไหนที่จะเชื่อมต่อกับโลกได้ด้วย

“ถ้าเรายังคิดเหมือนเดิม เราปรับตัวไม่ทันแน่นอน ความพร้อมแรงงานของเขาเพิ่มขึ้น แต่ของเราน้อยลงเรื่อยๆ คนยังไม่มุ่งมั่นพอ ขณะที่การสร้างสินค้าต้องมีทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความมุ่งมั่น เราต้องปรับอีกเยอะ ขณะที่ระดับนโยบายต้องมั่นคง ต่อเนื่อง เพราะเราต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนภาคเอกชน”ท่านผู้ว่าฯวัฒนากล่าว

มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวียดนามกำลังเติบโตจากเดิมที่ 70% ของการค้าการลงทุนจะอยู่ทางตอนใต้ แต่ข้อมูลขณะนี้ชัดว่าเวียดนามเหนือกำลังโต มีทั้งศักยภาพและสิทธิพิเศษที่เขาจะให้มากมาย จึงขอให้มาดูการลงทุนทางเหนือบ้าง ยิ่งในสถานการณ์ที่เกิดสงครามการค้าขึ้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่การค้าขายกับจีนลดลงอย่างมาก เราต้องทบทวนตัวเองว่ากลยุทธ์การทำธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป ถ้าเศรษฐกิจในประเทศไม่โตเราก็ต้องคิดว่าจะไปไหนต่อ ไม่ต่างจากที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มองมาที่ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ในฐานะที่เคยอยู่ในเวียดนามมานาน มองว่าเวียดนามมีโอกาสในการทำธุรกิจเยอะมาก สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดอาเซียน เรามีภาพลักษณ์ว่าเป็นของดีราคาถูก แต่คนไทยที่จะเข้ามาอยากให้ถามตัวเองว่าเก่งอะไร ไม่อยากให้มาถามว่าจะมาลงทุนอะไร เพราะวันนี้กฎข้อแรกในการทำธุรกิจคือเราต้องทำสิ่งที่เราเก่งที่สุด สิ่งที่ไม่ควรไปยุ่งในเวียดนามคืออสังหาริมทรัพย์ เพราะระบบซับซ้อนมากและผู้เป็นเจ้าของที่ดินคือรัฐ ขณะที่เอสเอ็มอีของไทยอย่าเข้ามาเดี่ยวๆ ให้คุยกับบริษัทใหญ่ของเวีดยนามที่เราส่งสินค้าให้เขา ไม่อย่างนั้นก็ต้องติดต่อผ่านสมาคมธุรกิจไทยในเวียดนาม หรือติดต่อผ่านสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ หรือผู้ช่วยทูตฝ่ายการพาณิชย์ เพราะถ้ามาแล้วต้องไม่ให้ถูกหลอก

ธานี แสงรัตน์

เมื่อถาม ท่านทูตธานี แสงรัตน์ เอกอัคราชทูตไทยประจำเวียดนามว่า คิดว่าคนไทยยังเข้าใจอะไรผิดกับเวียดนามบ้าง ท่านทูตธานีบอกว่า คนไทยยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเพื่อนบ้านในภาพรวม โดยเฉพาะเวียดนามที่อยู่ห่างไปพอสมควร ซึ่งมีความแตกต่างจากลาว กัมพูชา และเมียนมาที่มีชายแดนติดกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านักลงทุนและนักธุรกิจไทยไม่สนใจเวียดนาม เพราะนับตั้งแต่ท่านทูตมาประจำการอยู่ที่เวียดนามได้ 7 เดือน มีนักธุรกิจมาหาที่สถานทูตทุกสัปดาห์ เพราะพวกเขาอยากจะเข้ามาลงทุนให้เวียดนามซึ่งมีแนวโน้มของการลงทุนที่ดี

ท่านทูตธานีเล่าให้ฟังว่า เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตต่อเนื่อง 6-7% มาหลายปี ซึ่งน่าจะเติบโตสูงที่สุดในอาเซียน แรงงานขยันขันแข็ง อายุน้อย รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศอย่างจริงจัง เวียดนามค่อนข้างให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจของคนต่างประเทศ เห็นได้ชัดในการเดินทางไปยังหลายจังหวัดของเขา แต่ละจังหวัดต่างอยากให้นักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติไปลงทุน ขณะนี้การลงทุนในเวียดนามขยายตัวมาก จึงอยากให้นักธุรกิจไทยได้เห็นศักยภาพของเวียดนาม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมของอมตะที่ฮาลอง นักธุรกิจไทยสามารถใช้นิคมอุตสาหกรรมที่ฮาลองนี้เป็นฐานการผลิต หรือเป็นห่วงโซ่การผลิตให้กับบริษัทเวียดนามและบริษัทต่างๆ ที่มาลงทุนในเวียดนามอยู่แล้ว ขณะที่การส่งออกก็สามารถใช้ศักยภาพของท่าเรือไฮฟองส่งออกสินค้าไปยังตลาดเอเชีย สหรัฐ และจีน

คนเวียดนามรู้สึกดีกับสินค้าไทย ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค เขานิยมสินค้าไทย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อหุงข้าว ว่ามีมาตรฐานค่อนข้างดีเกือบจะเท่าญี่ปุ่น ไปดูตามห้างต่างๆ จะเห็นสินค้าไทยที่เข้ามาวางขายในเวียดนาม ไม่ว่าจะอาหารแปรรูปที่มีบรรจุภัณฑ์สวยงามและได้รับความนิยม แม้ราคาจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ดีคนไทยยังไม่ค่อยรู้ว่าขณะนี้เวียดนามพัฒนาไปเร็วมาก แม้แต่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ของเราก็ยังมาตั้งสำนักงานที่เวียดนาม จึงอยากให้ภาคเอกชนไทยออกมาดูลู่ทางการลงทุนนอกประเทศให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องของโอกาสทางการค้าการลงทุนและปัญหาอุปสรรคว่าอยู่ที่ไหน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจถึงปีละ 7% เขากำลังเร่งการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความทันสมัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

“บางครั้งเรามองเข้าหาตัวเองมากไปจนอาจไม่รู้ว่าเพื่อนบ้านเขาพัฒนาไปถึงไหนแล้ว”ท่านทูตธานีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image