น.ศ.จีนในสิงคโปร์ตายเพราะกินยาลดความอ้วนเกินขนาด พบสั่งซื้อจากคลินิกในไทย

ภาพจากเดอะ สเตรทส์ไทม์ส

เดอะ สเตรทส์ไทม์ส รายงานว่า น.ส.หวง กั่ว นักศึกษาชาวจีนวัย 22 ปี ที่มาศึกษาอยู่ในสิงคโปร์รับประทานยาลดความอ้วนเกินขนาดและเกิดฟุบไปขณะร้องเพลงอยู่ในคาราโอเกะเค-บ็อกซ์ที่โรงภาพยนตร์คาเธย์ซีเนเลเชอร์ บนถนนออร์ชาร์ด ของสิงคโปร์ ก่อนจะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

ข่าวระบุว่า น.ส.หวง ที่มีส่วนสูง 154 เซนติเมตร น้ำหนัก 54 กิโลกรัม มีดัชนีมวลกาย 22.8 ซึ่งถือได้ว่ามีสุขภาพดี รูปร่างสมส่วน ได้ซื้อยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์จากเว็บไซต์ของคลินิกแห่งหนึ่งและโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยที่ไม่มีคำแนะนำในการใช้ยาแนบมาด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา มาร์วิน เบย์ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพของรัฐระบุว่า การเสียชีวิตของเธอเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วเป็นเรื่องโชคร้าย

“การเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าของน.ส.หวงเน้นย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงของการลดน้ำหนักโดยการกินยาลดความอ้วนโดยที่ไม่ได้รับคำปรึกษา ช่วยเหลือ และควบคุมดูแลจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถอย่างเหมาะสม” เบย์กล่าว และว่า “วิธีการลดน้ำหนักเช่นนี้ควรจะปฏิบัติหลังจากที่ได้รับการประเมินทางการแพทย์แล้ว และต้องมีการตรวจสอบติดตามผลอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาของการใช้ยา

Advertisement

ผลการชันสูตรศพพบว่า น.ส.หวงมีปริมาณของเฟนเทอร์มีน ยากระตุ้นที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ซึ่งใช้สำหรับการลดน้ำหนักระยะสั้น สูงกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ถึง 8 เท่า ขณะที่ปริมาณของฟลูออกซิทีน ยารักษาโรคซึมเศร้าที่บางครั้งถูกนำมาใช้เพื่อการลดน้ำหนัก จากการที่ผลข้างเคียงของมันคือการทำให้น้ำหนักลด สูงกว่าระดับที่กำหนดไว้ถึง 6.5 เท่า

นักนิติพยาธิวิทยาระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเธอเกิดจากภาวะเป็นพิษเฉียบพลันจากยาทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว

น.ส.หวงสลบไปเมื่อเวลา 23.50 น. ของวันที่ 27 มิถุนายน 2558 เพื่อนของเธอ 2 คนโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล มีความพยายามในการกู้ชีวิตเธอระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล ทว่าเธอเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 28 มิถุนายนปีที่แล้ว

Advertisement

เจ้าหน้าที่ตำรวจพบยา 41 ซองในห้องนอนของน.ส.หวง มียาเม็ดต่างๆ กัน 10 ชนิด รวมทั้งหมดเกือบ 400 เม็ด บางส่วนเป็นยาลดความอ้วน บางส่วนเป็นยาที่มีผลข้างเคียงทำให้น้ำหนักลด ขณะที่บางส่วนเป็นยาชนิดเดียวกันแต่บรรจุภัณฑ์ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นพบยาฟลูออกซิทีนที่อยู่ในรูปของแคปซูลสีแตกต่างกัน อยู่ในห่อบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกัน

จากการตรวจสอบฉลากบนซองพลาสติกใส่ยาและบรรจุภัณฑ์ ยาเม็ดส่วนใหญ่ดูเหมือนว่าจะมาจากคลินิกและโรงพยาบาลในประเทศไทย โดย น.ส.หวงได้รับพัสดุทางไปรษณีย์ที่ส่งมาจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมปีที่แล้ว โดยฉลากบนบรรจุภัณฑ์ระบุเพียงว่าเป็น “วิตามิน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image