หลากประเด็นในเอเอ็มเอ็มครั้งที่ 52

AFP

เสร็จสิ้นไปแล้วกับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน(เอเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 52 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา(พีเอ็มซี) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก(อีเอเอส) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(เออาร์เอฟ) รวมถึงการประชุมความร่วมมือในกรอบแม่น้ำโขงอีก 4 การประชุม รวมทั้งหมด 27 การประชุม ซึ่งลากยาวตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม – 3 สิงหาคมที่ผ่านมา

การประชุมดังกล่าวถือว่าเป็นการประชุมที่มีประเทศที่เข้าร่วมประชุมมากที่สุดในการประชุมตลอดทั้งปีของอาเซียน โดยในปีนี้มีประเทศที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมในไทยมากถึง 30 ประเทศ ภายใต้หลากหลายกรอบความร่วมมือที่มีระหว่างกัน นอกเหนือจากกำหนดการประชุมที่เป็นทางการแล้ว ยังมีการประชุมในระดับทวิภาคีและไตรภาคีเกิดขึ้นคู่ขนานกันอีกถึงกว่า 150 การพบปะหารือ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่เป็นระบบ จึงจะสำเร็จลงได้อย่างราบรื่นเรียบร้อย

ประเด็นที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้หารือกันมีทั้งเรื่องที่ถือเป็นประเด็นภายในของอาเซียน ประเด็นในภูมิภาค รวมถึงประเด็นระดับโลกที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ โดยประเด็นแรกที่ถือว่าอยู่ในความสนใจของประชาคมโลกอย่างมากคือสถานการณ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมา และการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจาที่หลบหนีความรุนแรงเข้าไปอยู่ในบังกลาเทศ นับตั้งแต่ต้นปีที่ไทยรับตำแหน่งประธานอาเซียน ได้มีการดำเนินการเพื่อผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การมอบหมายให้เลขาธิการอาเซียนร่วมกับศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management – AHA Center) ลงพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ในรัฐยะไข่ กระทั่งมีการออกรายงานสรุปเบื้องต้นถึงสิ่งที่ควรจะต้องมีการดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการส่งกลับชาวโรฮีนจา

อาเซียนเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีแนวทางปฏิบัติที่สามารถทำได้ก่อนใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การจัดตั้งศูนย์รับ พักพิง และเปลี่ยนผ่านให้กับผู้ที่จะเดินทางกลับ 2.การให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องต่อประชาชน และ 3.การให้การสนับสนุนในเรื่องที่ถือเป็นความจำเป็นพื้นฐาน อาทิ ความเป็นอยู่ การศึกษา สาธารณสุข ซึ่งหลังจากนี้ไปจะมีการหารือกันถึงมาตรการที่สามารถทำได้ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศเกี่ยวกับการส่งกลับผู้พลัดถิ่นชาวโรฮีนจาอย่างต่อเนื่องต่อไป

Advertisement

กรณีต่อมาคือสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ที่ยังคงถูกพูดถึงในหลายกรอบการประชุม เพราะเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างจีนกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาที่คอยเข้ามาแสดงบทบาทภายใต้คำกล่าวว่าเพื่อปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน แต่สิ่งที่ทุกคนก็ทราบดีคือการเข้ามาแสดงบทบาทของสหรัฐฯ ยังมีเป้าหมายเพื่อทัดทานและลดทอนอิทธิพลของจีนในภูมิภาคด้วยเช่นกัน

เห็นได้ชัดจากท่าทีของนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯที่เดินทางมาเยือนไทยเป็นครั้งแรก เพื่อมาร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในหลายกรอบการประชุม ที่บอกว่าไม่ได้ต้องการให้อาเซียนเลือกข้าง แต่ดูเหมือนรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯจะอดไม่ได้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์จีนในประเด็นต่างๆ เช่นปัญหาแม่น้ำโขงแห้งเหือดก็มาจากการสร้างเขื่อนของจีน

กระนั้นก็ดีเนื่องจากอาเซียนและจีนประสบความสำเร็จในการจัดทำร่างแรกของเอกสารฉบับเดียวสำหรับการเจรจาจัดทำประมวลการปฎิบัติในทะเลจีนใต้ก่อนกำหนด ซึ่งนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้ประกาศในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน ทั้งยังตั้งเป้าหมายที่จะสรุปการเจรจาเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้(ซีโอซี)ให้สำเร็จภายใน 3 ปี ทำให้ประเทศอื่นๆ ได้เพียงแต่ตั้งแสดงความคาดหวังว่าซีโอซีที่จัดทำขึ้นจะเคารพหลักกฏหมายระหว่างประเทศ รวมถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเสรีภาพในการเดินเรือและการบินในทะเลจีนใต้ แน่นอนว่าการเจรจารอบต่อๆ ไประหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีนเพื่อจัดทำซีโอซีก็จะเป็นประเด็นที่โลกจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปอย่างแน่นอน

Advertisement

อีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจคือสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี เพราะเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์ที่กรุงเทพได้กลายเป็นศูนย์กลางของเวทีการทูตในโลก เกาหลีเหนือได้ทดสอบยิงขีปนาวุธรถึง 2 ครั้ง ซึ่งทำให้ไม่แปลกใจว่าเหตุใดนายรี ยอง โฮ รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ จึงตัดสินใจไม่เดินทางมาร่วมประชุมเออาร์เอฟในไทยโดยไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ ที่ชัดเจน

ประเทศต่างๆ ยังคาดหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกรณีคาบสมุทรเกาหลีจะหันมาแก้ไขปัญหาผ่านการพูดคุยและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยหลีกเลี่ยงที่จะกระทำการใดอันเป็นการยั่วยุเพื่อไม่ให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง ขณะนี้คงต้องจับตาดูต่อไปว่าก่อนที่การซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้ที่ทำให้เกาหลีเหนือไม่พอใจอย่างยิ่งจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า จะมีปฏิกิริยาโต้กลับใดๆ จากเกาหลีเหนือออกมาอีกหรือไม่

REUTERS

ในแทบทุกกรอบการหารือยังได้มีการพูดถึงเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ที่ผู้นำอาเซียนเพิ่งให้การรับรองไปในการประชุมในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งประเทศคู่เจรจาทั้งหมดต่างให้การสนับสนุน

แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศอย่างสหรัฐฯอาจจะไม่ได้มองความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกแบบเดียวกันกับอาเซียน แต่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปรียบเปรยระหว่างการแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ทุกสิ่งย่อมมีความแตกต่างในมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีความสมดุลและมีความหลากหลาย โลกจึงจะมีความงดงาม เพราะการที่ทุกฝ่ายมารวมกัน ย่อมจะได้ประโยชน์มากกว่าแยกจากกัน

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่เกี่ยวข้องยังได้เน้นย้ำถึงเจตนารมย์ที่จะให้สรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซป)ให้ได้ภายในปีนี้อีกด้วย

ในภาพรวมการประชุมในครั้งนี้ถือว่าจัดขึ้นได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของเนื้อหาสาระและการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ทำข่าว ขณะที่เอกสารที่เป็นผลลัพธ์จากการประชุมต่างๆ ก็พยายามเร่งให้มีการเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าปัญหาในการดำเนินการรายวันย่อมเกิดขึ้นบ้างจากการที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศหลายสิบประเทศมารวมตัวกันในสถานที่เดียว แต่ก็ไม่เกินกำลังที่จะบริหารจัดการให้ผ่านพ้นไปได้

อย่างไรก็ดีปฎิเสธไม่ได้ว่าเกิดความปั่นป่วนเล็กน้อยหลังเหตุวางระเบิดป่วนเมืองที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมเออาร์เอฟ เวทีที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมมากที่สุดถึง 26 ประเทศบวกกับสหภาพยุโรป(อียู) แต่ในที่ประชุมรวมถึงในศูนย์ข่าว แม้จะมีความสนใจจากสื่อต่างชาติหลายร้อยคนที่มาทำข่าวการประชุม แต่บรรยากาศในการทำงานก็ยังคงเป็นไปตามปกติ

นายธฤต จรุงวัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตและหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอาเซียน 2019 ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดูแลภาพรวมของการจัดการประชุมอาเซียนตลอดทั้งปี แสดงความชื่นชมต่อการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีความเป็นมืออาชีพในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังตำรวจเข้ามาดูแลสถานที่จัดประชุมโดยรอบ มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาเดินเท้าตรวจสอบและค้นหาอย่างละเอียดทั่วบริเวณทันที และยังมีการส่งทีมเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ซึ่งเป็นที่พักของรัฐมนตรีต่างประเทศทั้ง 9 โรงแรม เพื่อสร้างความมั่นใจในการรักษาความปลอดภัย

อีกเรื่องหนึ่งที่จะไม่พูดถึงเสียไม่ได้คือการที่นายดอนยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลใหม่ ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยให้การประชุมใหญ่ครั้งนี้เสร็จสิ้นไปได้อย่างราบรื่นเช่นกัน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้พิสูจน์ให้โลกได้เห็นถึงความพร้อมของไทยในการแสดงบทบาทนำในการผลักดันหลายต่อหลายเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจของประชาคมโลก เป็นประธานอาเซียนที่จะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือในอนุภูมิภาคนี้ให้ก้าวหน้าต่อไปตามแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งเป็นธีมของการประชุมตลอดปีนี้ของไทยให้สัมฤทธิผลได้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image