รายงานพิเศษ : ‘บัวแก้วสัญจร’ เยี่ยมเยือนระนอง-ชุมพร (1)

โครงการ “บัวแก้วสัญจร” ของกระทรวงการต่างประเทศเป็นโครงการที่จัดขึ้นต่อเนื่องมานานแล้ว ภายใต้วัตถุประสงค์ที่จะให้คนไทยในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ รับรู้และเข้าใจถึงการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยทั่วไปอย่างที่เคยเข้าใจกัน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ข้าราชการจากกระทรวงการต่างประเทศจะรับฟังและรับทราบข้อมูลรวมถึงข้อเสนอแนะจากข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน

เมื่อไม่นานมานี้ นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะบัวแก้วสัญจรเดินทางเยือนระนองและชุมพร สองจังหวัดในภาคใต้ของไทยเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารและข้าราชการในจังหวัด รวมถึงพบปะกับชาวมุสลิมในพื้นที่ในโครงการสัมมนานักจัดรายการวิทยุมุสลิมระดับภูมิภาค

ระนองเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับพม่าทั้งทางบกและทางทะเล คนระนองมีความคุ้นเคยกับชาวต่างชาติมานานนับย้อนไปได้เป็นร้อยปี เพราะในอดีตระนองก็เต็มไปด้วยแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเหมืองแร่ กระทั่งในปัจจุบัน ชาวระนองก็ยังคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตร่วมกับแรงงานพม่าที่มีอยู่เกือบแสนคนในจังหวัด

ท่านผู้ว่าฯ สุริยันต์ กาญจนศิลป์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เห็นว่าการที่กระทรวงการต่างประเทศนำคณะบัวแก้วสัญจรเดินทางมาเยือนระนองถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะจะเป็นโอกาสให้ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้สอบถามพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ที่อาจยังมีข้อสงสัย พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า ระนองมีประชากร 1.8 แสนคน และมีแรงงานราว 8-9 หมื่นคน ความเป็นอยู่ของชาวระนองค่อนข้างดี มีรายได้ต่อหัวถึง 67,000 บาทต่อคนต่อปี มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 23,000 ล้านบาทต่อปี

Advertisement
สุริยันต์ กาญจนศิลป์
สุริยันต์ กาญจนศิลป์

ท่านผู้ว่าฯสุริยันต์บอกว่า ความพิเศษของ จ.ระนอง ที่ต่างจากจังหวัดชายแดนใต้ฝั่งอันดามันอื่นๆ คือเป็นจังหวัดเดียวที่มีชายแดนติดกับ จ.เกาะสอง ของพม่าซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อีกทั้งระนองยังมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีน้ำแร่ที่มีคุณภาพดีระดับโลกเพราะไม่มีกำมะถัน สี กลิ่น จึงมีประโยชน์ในการรักษาสุขภาพร่างกายได้ดี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเหน็บชา โรคผิวหนัง และโรคทางเดินหายใจ

การที่มีชายแดนติดกับ จ.เกาะสองของพม่า และมีความสัมพันธ์ที่ดีและผูกพันกันอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่อดีตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระนอง แน่นอนว่าไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากพม่า แต่รู้หรือไม่ว่าอัตราการว่างงานในระนองนั้นต่ำมากที่ 0.91 คือเดินมา 100 คนว่างงานไม่ถึง 1 คน จึงต้องใช้แรงงานพม่าในการทำงานที่ลำบาก สกปรก หรืออันตราย แบบที่เรียกกันสั้นๆ ว่างาน 3D หรือ Difficult Dirty and Dangerous ซึ่งงานเหล่านี้แรงงานไทยไม่ทำ

ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจ ระนองส่งออกสินค้าไปยังพม่าเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค คิดเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 21,000 ล้านบาท ส่วนสินค้านำเข้าหลักๆ คืออาหารทะเลที่ราว 2,000 ล้านบาทต่อปี เห็นได้ว่าไทยได้ดุลการค้าสูงมากถึงราว 19,000 บาทต่อปีกันเลยทีเดียว

Advertisement

สิ่งที่ควรผลักดันคือการทำให้ระนองเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเล เพราะในบรรดาจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต พังงา หรือสุราษฎร์ธานี ไม่สามารถสร้างท่าเรือน้ำลึกได้ ขณะที่ในระนอง การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้มาเตรียมสร้างท่าเรือถึง 2 ท่าแล้ว การขนส่งสินค้าทางเรือจากระนองไปยังนครย่างกุ้งใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น ขณะที่การขนส่งสินค้าผ่านแหลมมะละกากินเวลาถึง 12 วัน อย่างไรก็ดีในปีที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะพยายามผลักดันการขนส่งทางทะเลแต่การบริหารงานไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะไม่มีสินค้ามากพอที่จะส่งไป-กลับได้ จึงไม่ต่างจากการเดินเรือเปล่าที่สุดจึงหยุดชะงักไป

ปัจจุบันท่านผู้ว่าฯสุริยันต์บอกว่าทางจังหวัดหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะพบว่าระนองมีสิ่งที่น่าจะดึงดูดใจนักท่องเที่ยวอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำหรือเที่ยวเกาะแก่งที่สวยงาม อาทิ เกาะหัวใจมรกต เกาะแหวนนอก เกาะเกือกม้า และเกาะย่านเชือก ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก แม้เกาะส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตพม่าแต่ก็มีนักลงทุนไทยเข้าไปเช่าเกาะซึ่งทางพม่าให้สัมปทานเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นระนองจึงเป็นจังหวัดที่เติบโตในเรื่องการท่องเที่ยวได้อีกมาก

ส่วนหนึ่งอาจเพราะการท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดอื่นๆ ทางภาคใต้ของไทยในปัจจุบันค่อนข้างแออัด นักท่องเที่ยวจึงหนีมาทางระนอง ท่านผู้ว่าฯสุริยันต์เล่าให้ฟังว่าได้สอบถามทั้งโรงแรมและร้านอาหารในท้องที่ต่างก็พูดเป็นเสียงเเดียวกันว่านักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น จังหวัดจึงได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการขอให้คนระนองเป็นเจ้าภาพที่ดี ดูแลเรื่องการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัย ไม่เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวให้เข้าใจถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น ไม่เข้ามาท่องเที่ยวแล้วทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการท่องเที่ยวของระนองกับพม่าก็อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค เราไม่เอาเปรียบเขาและเคารพซึ่งกันและกัน

ในปี 2560 ถนนสี่เลนที่เชื่อมต่อในจังหวัดภาคใต้จะเสร็จสมบูรณ์ ขณะที่ท่าอากาศยานระนองก็มีแผนที่จะทำรันเวย์ให้ยาวเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 เมตร ซึ่งจะทำให้เครื่องบินขนาดกลางสามารถลงจอดได้ จึงเชื่อว่าดูจากแนวโน้มแล้วหลังจากแผนการเหล่านี้เสร็จสมบูรณ์ ระนองก็จะพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ท่านผู้ว่าฯ สุริยันต์มั่นใจว่าระนองเป็นดั่งเพชรที่รอการเจียระไน และจะสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวได้อีกมาก ล่าสุดระนองยังได้รับเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้เป็นหนึ่งใน 12 เมืองต้องห้ามพลาดในปีนี้อีกด้วย

ท่านผู้ว่าฯสุริยันต์บอกด้วยว่า ระนองมีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างพม่ามายาวนาน ในส่วนของภาครัฐทั้งสองประเทศมีการจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน “ปั่นสองน่องท่องสองประเทศ” การจัดงานแสดงสินค้าโอท็อปสานสัมพันธ์ไทย-พม่า มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมประเพณี ที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือระหว่างกันในด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ความร่วมมือเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์

ท่านผู้ว่าฯบอกด้วยว่า ชาวระนองมีความตื่นตัวอย่างมากกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีที่ผ่านมา เพราะทางจังหวัดได้เร่งให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน มีการสอนภาษาพม่าและภาษาอังกฤษให้กับคนในจังหวัด และยังมีการสอนภาษาไทยให้กับแรงงานพม่าในระนองเพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลด้านการผ่านแดนให้ทันสมัยเป็นมาตรฐานสากลโดยเชื่อมต่อข้อมูลตรงกับส่วนกลางเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการตรวจสอบมาก สามารถตรวจสอบเรื่องบุคคลต้องห้ามได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังจัดให้สำนักงานของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และฝ่ายปกครองที่จะต้องออกบัตรผ่านแดนมาไว้ด้วยกัน ทำให้การทำงานไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพแต่ยังสะดวกและรวดเร็วอีกด้วย ทั้งนี้ระนองมีจุดผ่านแดนถาวร 1 จุด แต่แบ่งเป็น 4 ช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการให้ได้มากที่สุดเพราะเป็นจุดผ่านแดนทางทะเลนั่นเอง

เมื่อถามถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของระนอง ท่านผู้ว่าฯสุริยันต์บอกว่า วันนี้อยากให้นักธุรกิจมองเรื่องการลงทุนในที่ดินของระนองเพราะยังมีราคาไม่สูงเหมือนจังหวัดอื่นๆ ที่ติดทะเลเหมือนกัน การเดินทางไปพม่าก็ทำได้ง่าย แรงงานก็มีอยู่ คนพม่ายังนิยมซื้อสินค้าไทยมากกว่าสินค้าที่ผลิตในพม่าเองหรือสินค้าจีน ไม่ว่าเสื้อผ้าไปจนถึงสบู่ เขาก็ซื้อสินค้าไทยทั้งหมด ดังนั้นการมาลงทุนทำธุรกิจหรือสินค้าอุตสาหกรรมในระนองจึงน่าสนใจ เพราะสินค้าเป็นที่ต้องการ สามารถส่งไปขายยังพม่าได้ง่าย อีกทั้งเมื่อถนนสี่เลนเสร็จการเดินทางต่างๆ ก็จะสะดวกมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าก็ไม่มีแล้ว ดังนั้นแม้จะมีพรมแดนติดกันก็ไม่มีอะไรน่าวิตกกังวลเพราะการแบ่งเขตแดนชัดเจนไม่มีข้อสงสัยใดๆ ไม่เหมือนพื้นที่เขตแดนทางบกทางด้านอื่น

หลังจากได้ไปเยือนระนองก็ทำให้ตระหนักว่าคำพูดของท่านผู้ว่าฯสุริยันต์ไม่ได้เกินจริงแม้แต่น้อย โอกาสของระนองที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ริมชายฝั่งอันดามันนั้นมีศักยภาพสูง ยิ่งในปัจจุบันพม่าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น การเข้าไปสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของเพื่อนบ้านอย่างพม่าผ่านทางระนองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image