สัมมนากงสุลทั่วโลก 2562 “เหลียวหลังแลหน้า การทูตเพื่อประชาชน”

เมื่อไม่นานมานี้กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้จัดสัมมนาเจ้าหน้าที่กงสุลทั่วโลกประจำปี 2562 เพื่อให้ข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศที่ประจำการในต่างประเทศซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุลรวม 93 คน ได้มาพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการในการทำงาน ถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดีในแต่ละประเทศ และรับทราบนโยบายรัฐบาล เพื่อปรับปรุงและพัฒนางานด้านกงสุลของไทยให้ดียิ่งขึ้น

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงานว่า ปัจจุบันมีการลงทะเบียนคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ 1.6 ล้านคน การดูแลทุกข์สุขและผลประโยชน์ของคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศถือเป็นภาระหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ และยังส่งผลกลับมายังประเทศไทยด้วย เจ้าหน้าที่กงสุลต้องมุ่งดูแลทุกข์สุขคนไทยในต่างประเทศ และให้ทำงานร่วมกับเครือข่าย “เพื่อนกงสุล” ในประเทศเจ้าบ้านและในประเทศไทย รวมทั้งการนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจากประเทศต่างๆ มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน

นายดอนกล่าวด้วยว่า งานด้านกงสุลมีส่วนในการยกระดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยและคนไทยต่อประเทศอื่นๆ เพราะเมื่อประเทศมีความน่าเชื่อถือก็จะส่งผลถึงประชาชนในประเทศนั้นๆ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ที่หนังสือเดินทางของเขาได้รับความน่าเชื่อถือ จะเดินทางไปที่ใดก็แทบจะไม่ต้องขอวีซ่า เราต้องพัฒนาและยกระดับหนังสือเดินทางไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้คนไทยสามารถเดินทางไปประเทศต่างๆ ได้อย่างภาคภูมิและมีศักดิ์ศรีเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

นายดอนยังได้เป็นประธานมอบเข็มเชิดชูเกียรติให้แก่ “กงสุลอาสา” ซึ่งเป็นผู้แทนชุมชนไทยในต่างประเทศและคนไทยในประเทศจำนวน 10 คนที่มีบทบาทในการสนับสนุนงานด้านกงสุลและดูแลคนไทยทั่วโลก อาทิ ในมาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเก๊า สิงคโปร์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา รวมถึงน.ส.เขมนิจ จารุกรณ์ หรือแพนเค้ก และนายศรัณยู วินัยพานิช หรือ ไอซ์-ศรัณยู 2 ศิลปินที่รับหน้าที่ “ทูตหนังสือเดินทาง” ด้วย

Advertisement

เนื่องจากปีนี้ยังครบ 20 ปีของการก่อตั้งกรมการกงสุล ภายในงานจึงได้จัดเวทีเสวนา “เหลียวหลังแลหน้า การทูตเพื่อประชาชน” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมคิดและทิศทางงานการทูตเพื่อประชาชนโดยวิทยากรซึ่งนับเป็น “ผู้รู้” เกี่ยวกับงานกงสุลของไทย ได้แก่ นายจักร บุญ-หลง อดีตอธิบดีกรมการกงสุลและอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล นายมนชัย พัชนี อดีตกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน และอดีต ผอ.กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ รวมทั้งแพนเค้ก-เขมนิจ ทูตหนังสือเดินทางไทย

อธิบดีชาตรีได้ย้ำถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่าย “เพื่อนกงสุล” ทั่วโลก ทั้งคนต่างชาติที่เป็นมิตรกับไทย คนไทยจากภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ และกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวร่วมกับเจ้าหน้าที่กงสุลในการดูแลทุกข์สุขของคนไทยในต่างประเทศ รวมทั้งการตั้งเป้าพัฒนาระบบงานกงสุลสู่ยุค “e-Consular” ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการทำงาน ซึ่งสองเรื่องนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มการขับเคลื่อนงานกงสุลและการดูแลทุกข์สุขคนไทยทั้งในและต่างประเทศให้ทั่วถึงและดียิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในอนาคต

สำหรับทิศทางการบริการด้านกงสุลระยะต่อไป อธิบดีชาตรีระบุว่า เราจะก้าวไปสู่ “ยุค EI” โดยกรมการกงสุลจะเริ่มโครงการ e-passport ระยะที่ 3 ที่จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการทำหนังสือเดินทางมากยิ่งขึ้น และจะขยายอายุหนังสือเดินทางเป็น 10 ปีสำหรับผู้ที่บรรลุนิติภาวะ นอกจากนี้ ระบบการทำวีซ่าออนไลน์ (e-Visa) ที่เริ่มแล้วที่จีนจะขยายไปสู่สำนักงานนำร่องในต่างประเทศแห่งอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยให้สามารถคัดกรองคนต่างชาติที่จะเข้าออกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์รับคำร้องการตรวจลงตราในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาระบบเก็บสถิติข้อมูลด้านกงสุลหรือ Consular Index เพื่อใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงสถิติต่างๆ ในการทำงาน

Advertisement

ส่วนในมิติของคนทำงาน อธิบดีกรมการกงสุลย้ำว่า สิ่งสำคัญคือเจ้าหน้าที่กงสุลทุกคนต้องเปลี่ยนมุมคิด ปรับทัศนคติ และตั้งโจทย์ใหม่คือต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ เอาใจใส่ในการทำงานทุกขั้นตอน หากคิดเช่นนี้ควบคู่กันไปก็จะสามารถทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดี สมกับที่เป็นที่พึ่งของคนไทยในต่างประเทศ

ด้านนายจักร อดีตอธิบดีกรมการกงสุล กล่าวว่า หัวใจของงานกงสุล คือ งานบริการประชาชน กงสุลทุกคนจึงต้องจารึกไว้ในหัวใจเสมอว่า “กงสุลคือความหวังของคนไทยที่ทุกข์ร้อน” มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือคนไทย และต้องเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายต่างๆ ประการแรกคือ ความซับซ้อนของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแรงงาน การคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ ประการที่สองคือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นดาบ 2 คม ในทางหนึ่งสามารถช่วยให้การทำงาน ติดต่อสื่อสาร และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนรวดเร็วมากขึ้น แต่อีกทางหนึ่ง ก็อาจเป็น “ตัวร้าย” บั่นทอนกำลังใจในการทำงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ที่พร้อมจะติดตามและรายงานการทำงานของทุกคน รวมถึงการที่เรามีระบบการเมืองแบบรัฐสภา ส.ส. และส.ว. จากทุกพื้นที่ที่จะตรวจสอบการทำงานอยู่เสมอ ดังนั้นต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อที่จะสามารถตอบคำถามของผู้แทนประชาชนได้

อดีตอธิบดีจักรกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้ คือ “งานกงสุลไม่มีพระเอกขี่ม้าขาว” แต่ต้องเดินไปด้วยกันเป็นทีม จึงต้องหมั่นสร้างทีมเสริมเครือข่ายการทำงานทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทยภายใต้คณะกรรมการสหวิชาชีพ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกับชุมชนไทยในพื้นที่ความดูแล กงสุลต้อง “รู้จริต” ของชุมชนไทยในพื้นที่ว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องใด สตรีไทยที่สมรสกับคนต่างชาติ แรงงานผิดกฎหมาย หรือการเข้าถึงคนไทยรุ่นใหม่ เพื่อให้สามารถรวมเป็นทีมเดียวกันในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้

ขณะที่นายมนต์ชัยได้ถ่ายทอดเคล็บลับของการทำงานกงสุลว่าต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ ประการแรกต้องมี service mind หรือจิตบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การมีใจให้บริการจะทำให้กงสุลทำงานเรื่องการดูแลคนไทยในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกไปตระเวนเยี่ยมคนไทยที่ต้องโทษในคุก ดูแลคนไทยเรื่องสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม การออกไปให้บริการกงสุลในเมืองต่างๆ เป็นต้น ประการที่สองคือ มีความรู้และแม่นยำในกฎและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของกงสุล อาทิ ประเภทของแรงงานและสิทธิประโยชน์ที่ต่างกัน ระเบียบหนังสือเดินทาง สัญชาติ หลักเกณฑ์และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับบุตรบุญธรรม ประการสุดท้ายคือ เครือข่าย การมีเครือข่ายทั้งชุมชนไทยในเมืองต่างๆ และคนต่างชาติในประเทศที่ประจำการ จะสามารถทำให้เรามีแนวร่วม มีเพื่อนช่วยคิดช่วยทำ และเข้าถึงผู้คนในทุกพื้นที่ได้มากขึ้น ทำให้ดูแลช่วยเหลือคนไทยได้อย่างราบรื่นและทันสถานการณ์

ด้านแพนเค้ก นักแสดงมากความสามารถในฐานะทูตหนังสือเดินทางไทย กล่าวชื่นชมการทำงานของกรมการกงสุล และกงสุลไทยในสถานทูตและสถานกงสุลทั่วโลก โดยเล่าถึงประสบการณ์ที่คุณแม่เคยทำหนังสือเดินทางสูญหายในต่างประเทศ และได้รับความช่วยเหลือจากกรมการกงสุลและสถานทูต ทำให้คนไทยรู้สึกอุ่นใจทุกครั้งเวลาเดินทางไปต่างประเทศ เพราะรู้สึกว่าสถานทูต คือบ้าน คือตัวแทนประเทศไทย ปัจจุบันการบริการของกรมการกงสุลมีความสะดวกรวดเร็ว ใช้เอกสารน้อย เป็นหน่วยราชการยุคใหม่ที่ทันสมัย ตอบโจทย์ตรงใจคนเดินทาง จึงภาคภูมิใจที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในกงสุลอาสา และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกรมการกงสุลและกงสุลในต่างประเทศทุกคน

กงสุลไทยจากประเทศจีนได้ตั้งคำถามถึงเทคนิคการดูแลสุขภาพใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่กงสุลภายใต้สถาวะกดดันจากการทำงานในพื้นที่ ซึ่งหลายครั้งมีชีวิตคนไทยเป็นเครื่องเดิมพัน อาทิ การอพยพในสถานการณ์ฉุกเฉิน การช่วยเหลือหญิงไทยที่ถูกหลอกไปค้าประเวณี นายจักรได้แนะให้กงสุลเรียนรู้ที่จะบริหารความเครียด และรักษาสุขภาพกายใจให้ห่างไกลจากโรคภัย โดยต้องจำไว้เสมอว่า “เราจะช่วยใครไม่ได้ถ้าเราเจ็บป่วยเสียเอง”

นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนาสรุปในตอนท้ายว่า เนื้อหาที่ได้มีการพูดคุยกันในวันนี้จะเป็น “เข็มทิศ” ในการทำงานแก่กงสุลในฐานะ “หน้าต่างบานแรก” ของไทยในต่างประเทศ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการทำงานกงสุลในยุคที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ประสบผลสำเร็จตามแนวทางการทำงาน “การทูตเพื่อประชาชน ทุกแห่งหนเราดูแล” ของกรมการกงสุลต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image