นิวยอร์กไทม์ส ฉะ ‘ไทย’ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง แม้แต่บนท้องถนนก็ยังแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ส ได้รายงานเรื่อง “ถนนในเมืองไทยเป็นถนนที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนจน” ที่มีบทสรุปว่า สำหรับคนจนแล้วถนนในเมืองไทยไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะที่ความเร็วแค่ไหนก็ตาม

โดยในรายงานดังกล่าว ซึ่งเขียนโดยฮันนา บีช ระบุว่า เมื่อมีเหตุการณ์ผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจก็มักจะให้สัญญาว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง แต่พวกเขาได้ปฏิบัติตามคำสัญญา ที่ให้ไว้จริง ๆ หรือไม่นั้น บทความของสำนักข่าว The New York Times ซีรีย์นี้จะทำการตรวจสอบเพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้

ระหว่างที่หญิงคนหนึ่งกำลังขับรถจักรยานยนต์ไปทำงาน เธอถูกชนโดยรถกระบะซึ่งมีนายตำรวจนอกเวลาปฏิบัติงานที่มีอาการมึนเมาสุรา เป็นผู้ขับ รถของเขาเสียหลักมาชนกับรถจักรยานยนต์ของเธอแล้วลากไปตามถนนราดยางในชนบทแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย

อรทัย จันทร์หอม ผู้ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวถูกชนจนกระเด็น และเสียชีวิตทันที ณ จุดเกิดเหตุ

Advertisement

หลังเกิดเหตุคู่กรณีที่ชนเธอจนเสียชีวิตยังคงปฏิบัติหน้าที่ตำรวจ เขายังมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และสามารถขับรถยนต์ได้ตามปกติเหมือน ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษจำคุกเขาแต่อย่างใด

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แม้แต่บนท้องถนนก็ยังมีการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน โดยที่คนยากจนมักตกเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุมากกว่าผู้ที่มีฐานะร่ำรวยหรือมีเส้นสาย

ตามรายงานประจำปี พ.ศ. 2558 ขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อจำนวนประชากร สูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม สถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบสุขและไม่มีกฎหมายคุ้มครอง อย่างประเทศลิเบียเท่านั้น แต่ถ้านับเฉพาะอัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์แล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่หนึ่งของโลกเลยทีเดียว

Advertisement

“ฉันไม่เคยคิดถึงการตายจากอุบัติเหตุจากรถยนต์มาก่อนที่แม่ตายเลยค่ะ” จุฬารัตน์ จันทร์หอม ลูกสาวของนางอรทัยผู้ตายกล่าวต่อด้วยว่า “ฉันไม่เคยคิดว่ามันเป็นปัญหาใหญ่แบบนี้ในเมืองไทย”

รัฐบาลได้ให้คำปฏิญาณที่องค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2558 ที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตามเหลือเวลาไม่ถึง 1 ปีก่อนกำหนดเวลาเท่านั้น ประเทศไทยก็ยังห่างไกลจากการที่จะทำให้สัญญาที่ได้ให้ไว้ เป็นจริงขึ้นได้ ถนนภายในประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้เป็นถนนที่อันตรายที่สุด 10 อันดับแรกในโลก จากจำนวนการเสียชีวิตด้วย อุบัติเหตุซึ่งสามารถป้องกันได้มากกว่า 20,000 รายต่อปี

ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนลดลงเล็กน้อยตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 และ ประเทศไทยมีการออกกฎหมายที่จำเป็นเพื่อทำให้ท้องถนนปลอดภัยมากขึ้น

แต่สิ่งที่ทางรัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาก็คือช่องว่างของรายได้ที่ต่างกันมากของประชากรในประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่เพียงแต่ทำให้ ถนนเป็นที่ที่อันตรายเท่านั้น แต่ยังแบ่งแยกประเทศออกเป็นสองฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือฝั่งคนมีเงิน และฝั่งคนจน

ความไม่เท่าเทียมกันทั้งตอนมีชีวิตอยู่และตอนตาย

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันมากที่สุดใน 40 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ จากการสำรวจโดยเครดิต สวิส ในปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่อันตรายต่อความปลอดภัยด้านการจราจรที่สูงสุดในโลก

แม้ว่าโดยรวมประเทศจะค่อนข้างยากจน แต่ก็มีโครงข่ายถนนราดยางสภาพดีที่เหมาะกับการขับขี่ด้วยความเร็วสูง พาหนะที่ผู้มีฐานะ และชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากขึ้นในสังคมใช้มักจะเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ซึ่งมีสมรรถนะสูง

แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์เพียงคันเดียวต่อครอบครัวเท่านั้น โดยที่หมวกนิรภัยคุณภาพสูงที่ได้มาตรฐานตาม กฎหมายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับประชาชนส่วนมาก แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้มีการสวมใส่หมวกนิรภัยระหว่างขับขี่รถจักรยานยนต์ก็ตาม

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางหลวงที่มีการจราจรคับคั่งมักเกิดจากการที่รถยนต์ SUV ชนเข้ากับรถจักรยานยนต์จนทำให้ซากจากอุบัติเหตุ ดังกล่าวเกลื่อนถนน ภาพหลังเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ก็มักจะเป็นที่พบเห็นได้ทั่วไป เป็นภาพอันน่าสยดสยองบนท้องถนนเมืองไทย ไม่ว่าจะ เป็นเศษซากยางฉีกขาด กันชนที่พังยับเยิน หรือแม้แต่รองเท้าแตะเปื้อนเลือด

อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ครั้งเดียวอาจทำให้เกิดการตายหลายศพตามมาได้ เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงบริเวณ ชานเมือง จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่จะเห็นภาพของทั้งครอบครัวซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาคันเดียวโดยมีพ่อเป็นคนขับ แม่ซ้อนพร้อมด้วย ลูกเล็ก ๆ อีกคนหรือสองคน

จากผลการรายงานความปลอดภัยบนถนนทั่วโลกขององค์การอนามัยโลกประจำปี พ.ศ. 2561 ระบุว่ามีเพียงร้อยละ 12 ของการเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุบนท้องถนนเมืองไทยเกิดจากผู้ขับขี่รถยนต์ หรือยานพาหนะเบาชนิดอื่น ๆ โดยที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือคนเดินเท้า

ตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทยมีทางเท้าที่กว้างและมีสภาพที่ใช้งานได้ดีไม่มากนัก นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะถนนและทางเท้า ถูกออกแบบโดยให้ความสำคัญกับคนมีฐานะซึ่งส่วนมากแล้วไม่เดินในอากาศที่ร้อนอบอ้าวแบบเมืองไทย และเมื่อใดก็ตามที่ทางเท้ากว้าง พอก็มักจะมีการตั้งหาบเร่แผงลอย หรือแม้แต่รถจักรยานยนต์ขับกีดขวางบนทางเท้า ทำให้ประชาชนต้องลงไปเดินบนถนนแทน

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตบนถนนไม่เท่าเทียมกัน ความยุติธรรมก็ยังถูกใช้ อย่างไม่เท่าเทียมอีกด้วย

กฎจราจรไม่สามารถใช้ควบคุมเหล่าบรรดามหาเศรษฐีหรือผู้ที่มีตำแหน่งหน้าตาในสังคมได้ พวกเขาเหล่านั้นสามารถขับรถเร็วกว่ากฎหมาย กำหนดโดยไม่ต้องได้รับการลงโทษ หรือดื่มจนมึนเมาก่อนขับรถโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมาเลยด้วยซ้ำ

ในปี พ.ศ. 2555 หนุ่มไฮโซทายาทเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดงซิ่งรถสปอร์ตเฟอร์รารี่หรู ชนตำรวจแล้วลากไปจนเสียชีวิตคาถนน นายวรยุทธ์ อยู่วิทยา ผู้คนขับรถคนนั้นมีระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกฎหมายกำหนด แม้ว่าเรื่องนี้จะผ่านมาได้ 7 ปีแล้วก็ตาม เขาก็ ยังไม่ได้ถูกดำเนินคดีใด ๆ

“สิ่งที่แน่ชัดในเมืองไทยก็คือถนนไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ถนนเลย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม” เอฟเวอลิน เมอร์ฟี่ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการ ป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุ จากองค์การอนามัยโลก หรือ W.H.O. กล่าว เธอยังเสริมว่า “ไม่ว่าจะรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือคนเดินเท้า ผู้ใช้ถนนต้องได้รับความปลอดภัยเสมอ ไม่ว่าผู้ใช้ถนนคนนั้นจะมีฐานะการเงินอย่างไรก็ตาม”

การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอประกอบกับการคอร์รัปชัน

การขับรถเร็วเกินกำหนด เมาแล้วขับ การไม่สวมหมวกนิรภัยที่มีคุณภาพเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศ นี่คือ บทสรุปที่เจ้าหน้าที่ในประเทศไทยได้ให้ไว้
ในขณะที่ประเทศไทยมีกฎหมายไว้เพื่อควบคุมสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่เจ้าหน้าที่ได้สรุปไว้ข้างต้น แต่กลับไม่มีการบังคับใช้จริงจัง

การจับปรับไม่เกิดขึ้นเมื่อผู้ขับขี่จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย เว้นแต่ในช่วงเวลาที่มีการกวดขันเพื่อให้ตำรวจเก็บค่าปรับได้ตามเกณฑ์

การไม่เคยชินกับด่านตรวจหรือเสียงรถตำรวจทำให้ผู้ที่ขับรถเร็วเกินกำหนด หรือผู้ละเมิดกฎจราจรอื่น ๆ อาจไม่จอดข้างทางเมื่อถูกตำรวจ เรียกตรวจ

“มันเป็นเรื่องยากที่จะให้ประชาชนจอดรถ เมื่อเขาไม่เคยชินกับการที่ต้องหยุดให้ตรวจ” พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการ ตำรวจนครบาลกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการคอร์รัปชัน ผู้มีฐานะดีหรือมีเส้นสายรู้ว่าการติดสินบนสามารถช่วยให้พวกเขารอดได้ เมื่อโดนจับกุมเพราะทำผิดกฎจราจร

โดยเฉลี่ยแล้วตำรวจจราจรในกรุงเทพฯ จำนวน 3,000 นายได้รับเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท เพื่อแลกกับการทำงานกลางแดดร้อน เปียกฝน หรือทนฝุ่นควันพิษ จึงทำให้การได้รับเงินสินบนเล็กน้อยเป็นสิ่งดึงดูดใจที่ดีและได้ผลมากด้วย

ในแต่ละปีจะมีสองช่วงเวลาได้แก่ช่วงประเพณีสงกรานต์กลางเดือนเมษายน และปีใหม่สากลต้นเดือนมกราคมที่มักมีการรณรงค์เมาไม่ขับ เพื่อลดอุบัติเหตุโดยการติดป้ายประกาศแสดงภาพอุบัติเหตุและการเสียชีวิตที่น่าสยดสยอง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้รถเพิ่มความระมัดระวังใน การขับขี่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นจะมีการจับกุมผู้ละเมิดกฎจราจรได้มากเป็นพิเศษ แล้วจำนวนการจับกุมก็จะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อผ่าน ทั้งสองช่วงเวลานี้ไปแล้ว

นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับกล่าวว่า “ถ้าคนเรากินอาหารคลีนแค่ปีละสองครั้ง แต่เวลาที่เหลือทั้งปีกินแต่ ไอศกรีม หมอของคุณคงจะคิดว่าคุณเป็นบ้า แต่นั่นเป็นสิ่งที่เรากำลังทำกับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน”

‘สบาย สบาย’ ทำอะไรสบาย ๆ แบบไทยแท้

เมื่อถามว่าทำไมถึงมีคนตายจำนวนมากบนท้องถนน เจ้าหน้าที่รัฐให้เหตุผลว่าเป็นเพราะคนไทยติดกับคำว่า ‘สบาย สบาย’ นั่นเอง

คำว่า ‘สบาย สบาย’ เป็นคำพูดติดปากคนไทยที่แสดงให้เห็นนิสัยง่าย ๆ ตามแบบไทย คำว่า ‘สบาย สบาย’ เป็นเหตุผลที่ทำให้เมืองไทย เป็นเมืองที่ผ่อนคลายน่าเที่ยว แต่ในทางกลับกันก็เป็นทัศนคติที่ไม่ช่วยส่งเสริมให้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของประเทศสูงขึ้น

“ถ้าตำรวจปฏิบัติตามกฎจริง ๆ ไม่ใช่แค่ตักเตือน ประชาชนก็จะไม่พอใจ แล้วก็บ่นว่าไม่สบายสบายเลย” พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากผลของการใช้ชีวิตแบบ ‘สบาย สบาย’ ก็คือการสวมหมวกนิรภัย คนขับรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่มักจะไม่แยแสที่ จะหยิบหมวกนิรภัยมาสวมด้วยซ้ำ
“คนคิดว่ามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ไม่คิดแบบเดียวกันกับเรื่องเมาแล้วขับ หรือการใส่หมวกนิรภัย” นายแพทย์แท้จริง จากมูลนิธิเมาไม่ขับเสริมว่า “เราพลาดมาตลอดในการทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเขาสามารถรักษาชีวิตตัวเองได้”

แต่เจ้าหน้าที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ โดยในพื้นที่ที่ตำรวจเขียนใบสั่งหรือจับปรับอย่างจริงจัง จะพบเห็นการใส่หมวกนิรภัยได้ มากกว่า

รัฐบาลไทยสามารถให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ประชาชนเรื่องการใส่หมวกนิรภัย ซึ่งโดยทั่วไปยังมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานหรือสวมใส่ไม่ถูกต้อง

นางเมอร์ฟี จากองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “ถ้าคุณเห็นคนใส่หมวกนิรภัยโดยที่ไม่คาดสายรัดใต้คาง มันก็เท่ากับการใส่หมวกนั้นไม่มี ประโยชน์เลย มันแสดงให้เห็นว่าคนยังขาดความเข้าใจพื้นฐานด้านความปลอดภัยอยู่”

การโยนความผิดให้คนอื่น

ตามสถิติล่าสุดขององค์การอนามัยโลกหรือ W.H.O. ในปี พ.ศ. 2559 คนไทยจำนวน 32.7 คนจากประชากร 100,000 คนเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุบนถนน เปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิตบนถนนของปีเดียวกันในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ 12.4 คน ที่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็น ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ด้อยพัฒนากว่า สภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อมากกว่าประเทศไทย แต่กลับมีอัตราการเสียชีวิต บนถนนเพียงแค่ 12.2 คน ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปมีอัตราการเสียชีวิตบนถนนอยู่ที่เลขหลักเดียวเท่านั้น

ตั้งแต่รัฐบาลได้ให้คำปฎิญาณที่จะลดจำนวนการเสียชีวิตบนถนนลงครึ่งหนึ่ง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็ได้ให้สัญญาเช่นเดียวกัน ประเทศไทย เกือบจะไม่ได้ทำให้สถิติดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย จึงทำให้ประเทศไทยรั้งอันดับเกือบสุดท้ายของประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนถนนมากที่สุด ในอันดับที่ 9 ของโลก

“ไม่มีพรรคการเมืองไหนเห็นเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ไม่มีนายกท่านใดต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง” นายแพทย์แท้จริง จากมูลนิธิ เมาไม่ขับกล่าวทิ้งท้ายว่า “พวกเขาแค่สัญญาว่าจะลดอัตราการเสียชีวิตบนถนนลงครึ่งหนึ่ง แม้จะรู้ว่าทำไม่ได้จริง อาจคิดว่าเราจะลืมสัญญา ที่พวกเขาเคยให้ไว้”

คำถามที่ว่าแล้วเป็นความรับผิดชอบของใครที่ประเทศไทยไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ถูกโยนกลับไปกลับมาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐจากหลาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้ให้สัญญากับองค์การ สหประชาชาติที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลงครึ่งหนึ่ง กล่าวว่าเขาไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับรายละเอียดของสัญญานี้ (เนื่องจากเอกสารภาษาอังกฤษฉบับนั้นไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและเผยแพร่ออนไลน์)

เจ้าหน้าที่ผู้ทำการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยในท้องถนนต่อองค์การสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2558 กล่าวว่าเธอเป็นเพียงตัวแทนเพื่อนร่วมงานของเธอ ที่ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมในวันนั้นได้ ในทางกลับ เพื่อนร่วมงานดังกล่าวนส.อุษณิศา จิกยอง แจ้งผ่านอีเมล์ว่าหน่วยงานของเธอ “ไม่มีความรับผิดชอบต่อโครงการความปลอดภัยบนถนน ในระดับประเทศ”

นส.อุษณิศา ให้ข้อมูลว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง แต่นายชยพล ธิติศักดิ์ ผู้อำนวยการทั่วไปของกรมป้องกันฯ ปัดความรับผิดชอบกลับไปที่หน่วยงานต้นสังกัดของนส.อุษณิศา

เจ้าหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของตำรวจ

“ปัจจัยหลักคือการบังคับใช้กฎหมาย” นายชยพลกล่าวเสริม “เราต้องทำให้ประชาชนตระหนักว่าหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ต้องเผชิญ กับผลร้ายแรงที่จะตามมา”

แต่ตำรวจปฏิเสธที่จะรับความผิดดังกล่าว

“ในฐานะตำรวจแล้วมีหลายสิ่งที่ตำรวจทำไม่ได้” พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าว “เราไม่สามารถสร้างถนนและระบบขนส่งมวลชนเพิ่มได้ เราไม่สามารถลดจำนวนรถบนถนนให้น้อยลง เราไม่สามารถเปลี่ยนให้ประชาชนมีระเบียบวินัยได้.”

ความเป็นมนุษย์มีราคาแพง

จากผลการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2561 ของธนาคารโลกที่ได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยอาจสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศได้มากถึง ร้อยละ 22 ในปี พ.ศ. 2581 หากสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลงได้ครึ่งหนึ่ง

แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลจากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ที่นำทีมโดยนายทหารเกษียณอายุก็แทบไม่ได้แก้ปัญหาเรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาหลักของการเสียชีวิตบนถนนของประเทศไทยเลย

อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้มีการปรับปรุงความปลอดภัยของถนนให้ดีขึ้น และได้ให้สัญญาที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ อีกด้วย โรงเรียนได้มีการบรรจุหลักสูตรเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน รัฐบาลได้กำหนดมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของยานพาหนะขึ้นใหม่

จากสถิติแสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาขึ้นเล็กน้อย อัตราการเสียชีวิตบนถนนลดลงร้อยละ 7 โดยในปี พ.ศ. 2561 มีจำนวนผู้เสียชีวิตบนถนน 22,491 รายเมื่อเทียบกับในปี พ.ศ. 2558 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตบนถนน 24,237 ราย

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทางเศรษฐศาสตร์มหภาคจำนวนมหาศาลของการเสียชีวิตบนท้องถนนสามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้ สิ่งที่ไม่สามารถวัด เป็นตัวเลขได้คือการสูญเสียที่เกิดจากบุคคลซึ่งไม่ต้องรับโทษที่คุกคามถนนในประเทศไทย

ครอบครัวของนางอรทัย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่เสียชีวิตไม่มีทนายในการดำเนินการคดีแพ่ง เพื่อขออุทธรณ์คำตัดสินของศาลที่พิพากษา ไม่จำคุกนายตำรวจ และไม่มีการดำเนินนการทางกฎหมายต่อจากนั้น

“ในเมืองไทยกฎหมายไม่มีความสำคัญ” จุฬารัตน์ลูกสาวผู้ตายตัดพ้อว่า “คนจนแบบเราจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราต้องตายไป อย่างไร้ค่า เพราะชีวิตของเรามันไม่มีค่าพอ”

ข้อสรุป: สำหรับคนจนแล้วถนนในเมืองไทยไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะที่ความเร็วแค่ไหนก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image