คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน: ภูเขาไฟมาซายา แหล่งท่องเที่ยวใหม่”นิการากัว”

หลายร้อยปีก่อน ภูเขาไฟ “มาซายา”ประเทศนิการากัว เป็นสถานที่สำหรับการบูชายัญ ที่เด็กและผู้หญิงจะถูกนำมาโยนในปล่องภูเขาไฟแห่งนี้

มาวันนี้ภูเขาไฟมาซายา ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงมานากัว เมืองหลวงของนิการากัว ได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่อยากสัมผัสถึงความน่ากลัวที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้น และได้เห็น “แมกมา” ปุดๆ อยู่ตรงหน้า ซึ่งยากที่จะได้เห็นกัน เพราะภูเขาไฟที่ยังคงมีแมกมาร้อนระอุให้เห็นนั้น มีอยู่ไม่กี่แห่งบนโลก นอกจากภูเขาไฟมาซายาแล้ว ก็ยังมีที่ฮาวาย และที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

การได้เห็นแมกมาอยู่ใจกลางภูเขาไฟจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างยิ่ง

ภูเขาไฟมาซายาตั้งอยู่บริเวณแนวชายหาดแปซิฟิกของนิการากัว ภายในเขตสงวนที่มีความแตกต่างของธรรมชาติให้ได้เห็นกันในที่เดียวในพื้นที่ราว 50 ตารางกิโลเมตร ที่นอกจากจะมีภูเขาไฟที่ดูน่ากลัว ขณะเดียวกันก็มีดอกลีลาวดีขึ้นอยู่เต็มไปหมด

Advertisement

ภูเขาไฟมาซายานี้มีความสูง 400 เมตร เกิดขึ้นเมื่อราว 5,000 ปีก่อน และในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนมันจะมีความเคลื่อนไหวรุนแรงมากขึ้น

มิเจลา คิวบา พยาบาลสาวชาวออสเตรีย เปิดเผยระหว่างการมาเที่ยวที่ภูเขาไฟนี้ว่า รู้สึกประทับใจอย่างมาก และเป็นครั้งแรกที่ได้มาเห็นอะไรอย่างนี้

โดยมิเจลา คิวบา เป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยว 4,000 คน ที่รัฐบาลนิการากัว อนุญาตให้มาเที่ยวที่ปากปล่องภูเขาไฟนี้ได้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และแต่ละครั้งที่เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชม ก็จะให้เวลาเพียงคนละไม่กี่นาทีเท่านั้น เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยจากการสูดดมก๊าซพิษเข้าไป

Advertisement

และสิ่งมีชีวิตที่พบอยู่ที่บริเวณปากปล่องภูเขาไฟที่ลึกลงไปหลายร้อยเมตรนี้ก็คือ นกแก้วเขียวและค้างคาว!

โดยจากประวัติศาสตร์เท่าที่เคยมีการบันทึกมา ภูเขาไฟมาซายา เคยปะทุมาแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อปี ค.ศ.1670 และ 1772

ส่วนตอนนี้มีการสำรวจว่า แมกมาที่อยู่ในภูเขาไฟนี้ ก็เริ่มมีระดับที่สูงขึ้นมาเรื่อยๆ และเชื่อว่า มันอาจจะปะทุขึ้นมาอีกครั้งในอีกราว 150 ปีข้างหน้า และความรุนแรงก็น่าจะพอๆ กับเมื่อปี 1772 ที่มีการปะทุของภูเขาไฟที่ส่งผลกระทบไปไกลถึง 30 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ท่าอากาศยานนานาชาตินิการากัวตั้งอยู่

แต่ตอนนี้ยังไม่ปะทุ ก็ไปเที่ยวกันก่อนได้ เพียงแต่ก็ไม่ได้มีใครรับรองนะว่ามันอาจจะปะทุขึ้นมาก่อนหน้านั้นก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นชีวิตบนปากปล่องภูเขาไฟ คือ “ความเสี่ยง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image