รายงานพิเศษ : มองความท้าทาย”อาเซียน” ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงโลก

ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เราไม่เพียงแต่การรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมหลายร้อยการประชุมตลอดปี แต่สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่างๆ ยังใช้โอกาสนี้เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนในมิติต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน

เมื่อไม่นานมานี้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสปป.ลาว นำโดย ท่านทูตเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ ได้จัดงาน “อาเซียน ดินเนอร์ ทอล์ก” ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในภูมิสถาปัตย์โลก” โดยเชิญ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเคยทำหน้าที่ “เจ้าหน้าที่อาวุโสไทย” ในการประชุมอาเซียนมานับครั้งไม่ถ้วน มาพูดคุยกับเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ในสปป.ลาว ที่มีความสนใจในเรื่องอาเซียน ทั้งยังได้รับเกียรติจาก ท่านอาลุนแก้ว กิตติคุน รัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนของลาว มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นถึงพัฒนาการที่ผ่านมาของอาเซียน รวมถึงสิ่งท้าทายที่อาเซียนกำลังเผชิญอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โลกในปัจจุบัน

ท่านอาลุนแก้วย้อนภาพประวัติศาสตร์ของอาเซียนว่า หากต้องการเข้าใจอาเซียนในปัจจุบัน ต้องศึกษาไปถึงประวัติศาสตร์ของอาเซียนด้วย อาเซียนถูกก่อตั้งขึ้นในยุคสงครามเย็น และพัฒนาไปสู่ยุคที่มีหลายขั้วอำนาจ ไปจนถึงยุคโลกาภิวัฒน์ หลายประเทศนอกภูมิภาคเห็นความสำคัญของอาเซียนในทางการเมือง อาเซียนได้จัดตั้งกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียนบวก 3(จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก(อีเอเอส) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก(เออาร์เอฟ) ปัจจุบันอาเซียนกำลังขับเคลื่อนองค์กรอย่างแคล่วคล่องและเชี่ยวชาญท่ามกลางสถานการณ์ในภูมิภาคและสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้อาเซียนประสบความสำเร็จคือการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค ขณะที่ความท้าท้ายของอาเซียนก็เป็นสิ่งที่ทุกองค์การระหว่างประเทศต้องพบเจอ นั่นคือการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติควบคู่กับผลประโยชน์ขององค์กร จากประสบการณ์พบว่าจะมีสิ่งนี้ในทุกเวทีที่อาเซียนต้องตัดสินใจ

ด้านนายสีหศักดิ์กล่าวว่า อาเซียนอาจเป็นองค์กรที่คนนอกยากจะเข้าใจ เพราะเรามีสิ่งที่เรียกว่า “อาเซียน เวย์” หรือวิถีทางของอาเซียนเอง แน่นอนว่าบางครั้งก็อาจจะดี บางครั้งอาจจะแย่ แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้หากไม่มีอาเซียน ในอดีตตอนที่ตนเพิ่งเริ่มต้นรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งยังอยู่ในยุคสงครามเย็น หนทางจากกรุงเทพมายังเวียงจันทน์ยังไกลกว่าการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา แม่น้ำโขงก็เป็นแม่น้ำที่แบ่งแยกสองประเทศออกจากกัน แต่ขณะนี้แม่น้ำโขงได้กลายเป็นแม่น้ำที่เชื่อมไทยและลาวเข้าด้วยกัน และยังเป็นสายน้ำแห่งความร่วมมือในภูมิภาคทั้งทางเศรษฐกิจและการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน

Advertisement

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันหากพูดถึงอาเซียนคนจะพูดถึงในแง่ของการทำหน้าที่ใน 3 สาขาหลักของประชาคมอาเซียน คือประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม เป็นหลัก แต่สิ่งที่เป็นรากฐานและหัวใจของอาเซียนคือแนวคิดภูมิภาคนิยม เรามีชะตากรรมร่วมกันที่จะต้องดูแลอนาคตของเราเอง ต้องพึ่งพากันเองในด้านความมั่นคง แทนที่จะพึ่งพาอำนาจภายนอกที่มาแล้วก็ไป ที่สำคัญที่สุดคือความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ รากฐานของอาเซียนคือการร่วมมือกันจะเป็นประโยชน์กว่าการแยกจากกัน ขณะนี้ยังมีภูมิภาคนิยมในกรอบที่ใหญ่ขึ้น อาทิ อาเซียนบวก3 อีเอเอส เออาร์เอฟ และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาว่าอาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคต่อไปได้อย่างไร

อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ความท้าทายของอาเซียนในขณะนี้มาจากภายในอาเซียนเอง ประการแรกคือเราจะบริหารจัดการความพึ่งพาระหว่างกันได้อย่างไรโดยยังคงยึดถือนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอาเซียน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดใจกว้างให้พูดถึงเรื่องของประเทศต่างๆ มากพอในทิศทางที่สร้างสรรค์ เพื่อช่วยหากันทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางออกร่วมกัน

Advertisement

ประการต่อมาคือความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของอาเซียน โดยเฉพาะการบูรณาการการทำงานร่วมกันได้อย่างแท้จริง เพื่อเร่งกระบวนการของอาเซียนให้รวดเร็วและเท่าทันสถานการณ์มากยิ่งขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มของการกีดกันการค้าในโลกปัจจุบัน นอกจากนี้ความท้าทายอีกเรื่องหนึ่งของอาเซียนคือเรื่องประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราต้องตระหนักถึงความต้องการของประชาชน ต้องทำให้ประชาชนอาเซียนเข้าใจอาเซียน และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอาเซียนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพราะในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการเปลี่ยนประธานอาเซียน หลายเรื่องหลายราวก็จะสูญหาย เราต้องเสริมบทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียนและตัวเลขาธิการอาเซียนให้มีความสำคัญมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงานต่างๆ ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่จะให้ประสิทธิภาพการทำงานของอาเซียนขึ้นอยู่กับประเทศที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนซึ่งมีการหมุนเวียนกันไปทุกปี

ขณะเดียวกันอาเซียนต้องพัฒนาการทำงานให้รวดเร็วและเท่าทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ และยังต้องทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในบางกรณีไม่จำเป็นต้องยึดติดกับหลักฉันทามติ หรือการที่ประเทศสมาชิกมีความเห็นขัดแย้งน้อยที่สุดเท่านั้น อาเซียนต้องจัดการเรื่องภายในของเราให้ดีก่อน เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับประเด็นที่ถือเป็นความท้าทายระหว่างประเทศที่อาเซียนกำลังเผชิญคือจะจัดการอย่างไรกับความไม่แน่นอนในเวทีโลกที่เพิ่มขึ้นจากความสั่นคลอนของระบบพหุภาคีนิยมและการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ และการเพิ่มขึ้นของลัทธิปกป้องทางการค้า

เราจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสมดุลอำนาจ และรับมือกับบทบาทรวมถึงอิทธิพลของประเทศใหญ่ อย่างจีน อินเดีย สหรัฐ อย่างไร เพราะอาเซียนกำลังถูกบังคับให้เลือกข้าง แต่เราไม่สามารถเลือกข้างได้ และบางเรื่องเราก็ไม่สามารถเป็นกลางได้เช่นกัน ดังนั้นอาเซียนจะหาหลักการและแนวทางของตัวเองได้อย่างไร
อีกทั้งเราจะรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของอาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีได้อย่างไร เพราะเราพูดเสมอว่าเราต้องเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือต่างๆ เราต้องเป็นคนขับเคลื่อน เราต้องรู้ว่าจะเชื่อมต่อกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับอาเซียนได้อย่างไร

เอกอัครราชทูตรัสเซียได้ตั้งคำถามถึงความจำเป็นของเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ทั้งที่อาเซียนมีเวทีอีเอเอสอยู่แล้ว ซึ่งนายสีหศักดิ์อธิบายว่า อาเซียนไม่ได้เป็นผู้คิดค้นคำว่า “อินโด-แปซิฟิก” เพราะมีการกล่าวถึงแนวคิดนี้มากมาย และหลายแนวคิดในเรื่องดังกล่าวก็ไม่ตรงกัน อาเซียนได้มีบทบาทในการประสานแนวคิดเหล่านี้ออกมาเป็นแนวคิดที่เปิดกว้าง ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เป็นพื้นฐานในการพูดคุยหารือถึงความร่วมมือที่จะมีต่อไปโดยมีอาเซียนเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือ และคิดว่ามุมมองของอาเซียนเรื่องอินโด-แปซิฟิกเป็นมุมมองที่จะช่วยประสานความร่วมมือในภูมิภาคทั้งหมดได้

เวทีการพูดคุยครั้งนี้มีผู้ระดับรัฐมนตรีจากสปป.ลาวเข้าร่วมถึง 2 คน ซึ่งนอกจากท่านอาลุนแก้วแล้ว ยังมี ท่านทองผ่าน สะหวันเพ็ด รองรัฐมนตรีต่างประเทศ ขณะที่ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตในลาวเข้าร่วมรับฟังอีก 18 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเอกอัครราชทูตที่มาร่วมรับฟังเองถึง 13 คน สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจที่ประชาคมระหว่างประเทศมีต่ออาเซียนได้เป็นอย่างดี

การจัดกิจกรรมอาเซียน ดินเนอร์ ทอล์ก ครั้งนี้ ได้รับเสียงชื่นชมจากคณะทูตต่างประเทศในสปป.ลาวอย่างมาก เพราะแม้จะเป็นการจัดการพูดคุยในเวทีที่ไม่เป็นทางการ แต่บรรยากาศที่เป็นกันเองทำให้สามารถพูดคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา และเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งถือเป็นการสะท้อนถึงการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยในอีกมิติหนึ่งได้อย่างงดงาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image