คอลัมน์ไฮไลต์โลก: นาทีชีวิตบนท้องถนนมะนิลา

แฟ้มภาพเอเอฟพี

ใช่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นให้เห็นแค่ในบ้านเรา กับการที่รถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาในการนำตัวผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาโดยด่วน แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคจากการจราจรติดขัดหนักบนท้องถนน แถมหลายกรณียังถูกซ้ำเติมจากการไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้รถใช้ถนน จนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไป

ปัญหานี้เป็นปัญหาในลักษณะเดียวกับที่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ กำลังประสบอยู่ จนบุคลากรทางการแพทย์ต้องออกมาส่งเสียงร้องเตือนถึงปัญหานี้ ทั้งการไม่มีการสำรองเลนพิเศษสำหรับรถฉุกเฉินวิ่ง ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังล้าหลัง และผู้ขับขี่บนท้องถนนมักไม่เต็มใจหรือไม่สามารถเปิดทางให้รถฉุกเฉินวิ่งได้ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้คนป่วยคนเจ็บต้องมาเสียชีวิตลงระหว่างทางก่อนจะไปถึงมือหมอ

โจเซฟ เลย์โล คนขับรถพยาบาลและเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพ บอกเล่าถึงปัญหาที่ตนเองพบเจอในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ว่าหากการจราจรบนท้องถนนไม่เลวร้ายนัก เขาก็อาจจะสามารถรักษาชีวิตของคนไข้ไว้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นมันเหมือนกับว่าเขาไม่ได้รับโอกาสในการที่จะทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างสุดกำลังเต็มความสามารถในการช่วยชีวิตคนไข้ที่อยู่ในมือของเขาได้ เช่นเดียวกับ เอเดรียล เอรากอน คนขับรถพยาบาลอีกรายเปิดเผยว่า การสูญเสียชีวิตคนไข้ที่อาการเพียบหนักรายหนึ่งไปในระหว่างการนำตัวส่งโรงพยาบาลในปี 2557 เป็นประสบการณ์เลวร้ายที่ยังคงหลอนอยู่ในความรู้สึกของเขา เหตุเพราะเขาต้องใช้เวลาติดอยู่บนท้องถนนนานถึงกว่า 40 นาที จากที่ควรจะใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที คนไข้ก็อาจจะรอด

เอเอฟพี

มีรายงานการศึกษาของฟิลิปปินส์ช่วงปี 2560 ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นชี้ว่า กรุงมะนิลาที่มีประชากรอาศัยอยู่ราว 13 ล้านคน มีอัตราเฉลี่ยการขึ้นทะเบียนครอบครองรถอยู่ที่ประชากร 1 คนต่อรถเกือบ 1 คัน และปัญหาการจราจรติดขัดหนักบนท้องถนน ยังสร้างความสูญเสียด้านผลิตภาพให้กับกรุงมะนิลาตกวันละมากถึง 67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณกว่า 2,000 ล้านบาทอีกด้วย

Advertisement

นอกจากปัญหาปริมาณรถบนท้องถนนที่มากล้นเกินแล้ว เสียงสะท้อนของคนขับรถพยาบาลและรถกู้ชีพยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ในการทำงานของพวกเขาคือไม่ว่าคุณจะรู้เส้นทางลัดดีแค่ไหน หรือพยายามเหยียบคันเร่งลัดเลาะบนถนน บีบแตรขอทางจากผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างมากเพียงไร แต่บ่อยครั้งความพยายามเหล่านั้นก็ไม่สามารถช่วยนำคนป่วยคนเจ็บถึงมือหมอได้ทันกาล เพราะความบกพร่องในจิตสำนึกและจิตสาธารณะของคนบางคนในสังคม ที่ไม่ยินดีเต็มใจที่จะยอมเปิดทางให้ โดยยังมีกรณีที่คนพาลคิดไปว่ารถพยาบาลหรือรถกู้ชีพอาจฉวยโอกาสใช้เสียงไซเรนเปิดทางจราจรในกรณีที่ไม่ใช่เหตุฉุกเฉิน เหมือนขบวนรถของเหล่านักการเมืองผู้มีอำนาจ จึงไม่ยอมหลบทางให้

นายอัลโด เมเยอร์ หัวหน้าฝ่ายกิจการความปลอดภัยสาธารณะ สำนักงานพัฒนานครบาลมะนิลา ระบุว่าเหล่านี้เป็นเรื่องน่าห่วง หนึ่งในทางหนทางแก้ไขนั่นรวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบที่มีออกมาตั้งแต่ปี 2560 อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดทางพิเศษสำหรับรถฉุกเฉินวิ่ง การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ฝังอยู่ในระบบซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆด้าน

ที่สำคัญต้องเน้นให้หนักกับจิตสำนึกและความร่วมมือร่วมใจของผู้คนในสังคม เพื่อป้องกันการสูญเสียอย่างที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image