คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “อิมพีชเมนต์” เริ่มและจบที่ “การเมือง”

(AP Photo/Andrew Harnik)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “อิมพีชเมนต์” เริ่มและจบที่”การเมือง”

อิมพีชเมนต์ – ในที่สุด โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ประธานาธิบดีลำดับที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ก็สร้างชื่อเสียง ที่ปนเปกันไปทั้งในเชิงบวกและลบ อีกครั้ง ด้วยการกลายเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนที่ 4 ที่ถูกสภาผู้แทนราษฎรดำเนินกระบวนการถอดถอนพ้นจากตำแหน่ง ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา

ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา หมวดที่ 4 มาตราที่ 2 บัญญัติเอาไว้ดังนี้

ประธานาธิบดี หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอื่นใด “ต้องถูกถอดถอนพ้นจากการดำรงตำแหน่งตามกระบวนการอิมพีชเมนต์หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงฐานมีพฤติกรรมเป็นกบฏ, ติดสินบน, หรืออาชญากรรมร้ายแรงและความผิดลหุโทษอื่นใด”

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีผู้ที่ตกเป็นจำเลยในกระบวนการเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งนี้เพียง 20 คน ในจำนวนนั้น 17 คนเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่เป็นประธานาธิบดีแล้วถูกดำเนินกระบวนการถอดถอน

Advertisement

ประธานาธิบดีที่ถูกดำเนินกระบวนการถอดถอนคือ ประธานาธิบดี แอนดรูว์ จอห์นสัน (เดโมแครต), ริชาร์ด นิกสัน (รีพับลิกัน) และ บิล คลินตัน (เดโมแครต)

ประธานาธิบดี จอห์นสัน กับ ประธานาธิบดี คลินตัน ถูกตัดสินชี้ขาดให้พ้นผิด มีเพียงประธานาธิบดี นิกสัน เท่านั้นที่ชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะมีการลงมติกันว่าควรถอดถอนเขาพ้นตำแหน่งหรือไม่

เท่ากับว่าไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนถูกถอดถอนจากตำแหน่งด้วยกระบวนการอิมพีชเมนต์นี้มาก่อน มีเพียง “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” จำนวน 8 รายจาก 17 รายเท่านั้นที่ถูกกระบวนการนี้ชี้ขาดให้พ้นตำแหน่ง ทั้งหมดล้วนเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง “ผู้พิพากษา” ทั้งสิ้น

Advertisement

ประเด็นที่น่าสนใจลำดับแรกสุดก็คือ กระทำผิดอย่างไรถึงเข้าข่ายต้องดำเนินการถอดถอนด้วยกระบวนการอิมพีชเมนต์?

นอกเหนือจากความผิดฐานเป็นกบฏและติดสินบนที่มีฐานความผิดชัดเจนแล้ว คำว่า “อาชญากรรมร้ายแรง และ ความผิดลหุโทษ” อื่นๆ นั้นครอบคลุมกว้างขวางมากและไม่ชัดเจนอย่างยิ่ง หากประเมินจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาความนี้เหมารวมเอาการคอร์รัปชั่นเอาไว้ทั้งหมด รวมถึงการกระทำใดๆ ที่เป็นการ “ละเมิดความไว้วางใจของสาธารณชน”

ในส่วนหลังนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนในกรณีการดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดี เพราะพฤติกรรมของประธานาธิบดีที่ถูกลงความเห็นว่าควรถูกถอดถอนตามกระบวนการนี้อาจไม่จำเป็นต้องละเมิดบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาประการหนึ่งประการใด แต่หากเป็นพฤติกรรมที่ “ล่วงละเมิด” ต่อความไว้วางใจของประชาชนต่อบุคคลนั้นในฐานะประธานาธิบดีที่เป็นประมุขของประเทศ ก็สามารถดำเนินกระบวนการอิมพีชเมนต์ได้แล้ว

เคยมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายยกตัวอย่างไว้เป็นอุทธาหรณ์ว่า การหยุดงาน 1 ปี ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ถ้าประธานาธิบดีผู้หนึ่งผู้ใดลาหยุดไปฮอลิเดย์ทั้งปีย่อมไม่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป จึงเข้าข่ายอิมพีชเมนต์

นักวิชาการบางคนถึงกับบอกว่า อิมพีชเมนต์ เป็นการเมืองมากกว่ากฎหมาย เป็นรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการอิมพีชเมนต์ประธานาธิบดี ที่เริ่มต้นด้วยมิติในเชิงการเมืองและหาข้อสรุปยุติกันด้วยกระบวนการทางการเมือง

******

กระบวนการอิมพีชเมนต์นั้นเริ่มต้นจากสภาผู้แทนราษฎรหรือที่อเมริกันชอบเรียกกันสั้นๆว่า เฮาส์ ไปจบที่วุฒิสภา หรือ ซีเนต แต่จะเริ่มต้นตรงไหน เมื่อใด ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ดัก คอลลินส์ แกนนำของรีพับลิกันที่เป็นกรรมาธิการการยุติธรรมของสภาผู้แทนฯ ยืนยันว่า จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อที่ประชุมเต็มสภาของสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้อำนาจดำเนินการ ฝ่ายเดโมแครตกลับเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นเพียงประกาศมอบหมายให้คณะกรรมาธิการหนึ่งหรือหลายคณะ รับผิดชอบในการสอบสวนเพื่ออิมพีชเมนต์ ก็เท่ากับกระบวนการเริ่มอย่างเป็นทางการแล้ว

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตก็ดำเนินการเช่นนั้น ประกาศเริ่มกระบวนการอิมพีชเมนต์ต่อประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อ 24 กันยายนที่ผ่านมา และมอบหมายให้คณะกรรมาธิการ 6 คณะซึ่งหลายคณะดำเนินการสอบสวนกรณีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์อยู่ก่อนแล้ว รับผิดชอบในการสอบสวน

ในประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการยุติธรรมจะเป็นผู้นำในการสอบสวนเพื่ออิมพีชเมนต์ โดยคณะกรรมาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการเอง หรือจะมอบอำนาจ แต่งตั้งให้ผู้หนึ่งผู้ใด หรือองค์คณะหนึ่งองค์คณะใด ดำเนินการสอบสวนก็ได้ ต่างจากในกรณีของประธานาธิบดี ทรัมป์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการประกาศดำเนินกระบวนการสอบสวนเพื่ออิมพีชเมนต์ ก็มีการสอบสวนในหลายๆ กรณีอยู่ก่อนแล้ว

ประเด็นสอบสวนเดิมที่สำคัญนั้นเกี่ยวเนื่องกับ ผลการสอบสวนของนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่ปรึกษาพิเศษเพื่อสอบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 ที่มีหลายประเด็นเชื่อมโยงถึงทรัมป์ และมีการสอบสวนพฤติกรรมของทรัมป์เพิ่มเติมว่า เข้าข่ายกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยหรือไม่

ความแตกต่างระหว่างการสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการ 1 คณะหรือมากกว่า ก็คือ ทำให้ในกรณีของทรัมป์ ฐานความผิดที่จะนำไปสู่การถอดถอนกว้างมากขึ้น ครอบคลุมทั้งจากผลการสอบสวนของมุลเลอร์ และ กรณีที่มีการกล่าวหาว่า ทรัมป์ ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ต่างกรรมต่างวาระกันหลายกรณีอีกด้วย

ตัวอย่างเช่นในกรณีของประธานาธิบดีคลินตัน คณะกรรมาธิการการยุติธรรมรายงานสรุปฐานความผิดเพื่อพิจารณาถอดถอนใน 2 ข้อหา คือ เบิกความเท็จ และ ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

กรณีนี้คล้ายคลึงกับกรณีของประธานาธิบดีทรัมป์ ตรงที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐในเวลานั้นได้แต่งตั้ง “ที่ปรึกษาอิสระ เคนเนธ สตาร์” ขึ้นมาสอบสวนพฤติกรรมอื้อฉาวระหว่างคลินตัน กับ โมนิกา ลูวินสกี เจ้าหน้าที่ฝึกงานประจำทำเนียบขาวอยู่ก่อนแล้ว ข้อกล่าวหาในรายงานของกรรมาธิการการยุติธรรม เกิดจากการขัดแย้งกันเองของคำให้การของคลินตันในเดือนมกราคม และในเดือนสิงหาคมนั่นเอง

กระนั้นคณะกรรมาธิการกว่าจะสรุปและลงมติกล่าวหาคลินตันเพื่อลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งก็กินเวลานานถึง 2 เดือนเศษ

ในกรณีของประธานาธิบดีนิกสัน ข้อกล่าวหาทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่คดีวอเตอร์เกต อันลือลั่น คณะกรรมาธิการการยุติธรรมสรุปรายงานเตรียมลงมติใน 3 ข้อหา คือ ใช้อำนาจในทางที่ผิด, ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และ ดูหมิ่นสภาผู้แทนฯ

สภา เริ่มกระบวนการอิมพีชเมื่อเดือนกรกฎาคม 1974 เวลาผ่านไปเดือนเศษ ยังไม่ทันมีการลงมติกัน นิกสัน ก็ชิงลาออกในวันที่ 9 สิงหาคม 1974

******

การสนทนาทางโทรศัพท์ ระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน รวมถึงการระงับเงินช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนจำนวน 400 ล้านดอลลาร์ไว้ชั่วคราว ย่อมไม่ได้เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา และไม่น่าจะนำไปสู่กระบวนการอิมพีชเมนต์

ไม่ได้เป็นเรื่องผิดใดๆ แม้กระทั่งท่าทีแสดงการกดดัน ถ้อยคำและน้ำเสียงคุกคาม ชนิดที่ส.ส. เดโมแครตบางคนถึงกับอุปมาว่า “มีแต่มาเฟียเท่านั้นที่พูดกันอย่างนี้” ก็ตามที

ความผิดอยู่ตรงที่ วัตถุประสงค์ในการแสดงท่าที “มาเฟีย” ดังกล่าวนั้น เป็นไปเพื่อกดดันให้ เซเลนสกี ตั้งคณะกรรมการสอบสวนบทบาทของนายโจ ไบเดน และ นายฮันเตอร์ ไบเดน “ภายใต้ความร่วมมือจาก วิลเลียม บาร์” รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐอเมริกา เพื่อหวังผลในทางการเมือง เนื่องจาก โจ ไบเดน คือคู่แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปีหน้าที่ทรัมป์ “เป็นกังวลมากที่สุด”

กรณีดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการใช้อำนาจประธานาธิบดีไปเพื่อ “ผลประโยชน์ส่วนตัว” ของตนเองเท่านั้น ยังเป็นการกดดันให้ต่างชาติดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา เท่ากับเป็นการทำให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งอเมริกันโดยตรงนั่นเอง

นักกฎหมายส่วนใหญ่ ลงความเห็นว่า การกดดันต่อผู้นำต่างชาติให้เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกานั้น เป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายต้องถูกดำเนินการถอดถอนด้วยกระบวนการอิมพีชเมนต์ตามรัฐธรรมนูญอเมริกัน

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาให้ทัศนะของตนเองเอาไว้ในวันแถลงการเริ่มกระบวนการอิมพีชเมนต์ว่า การกระทำของทรัมป์ เข้าข่ายการเป็น “กบฏ” ทั้งต่อ “คำสาบานตน” รับตำแหน่ง และ ต่อกระบวนการการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ย้ำไว้ด้วยว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่นี่คือพฤติกรรมซ้ำซากของการวางตัว “อยู่เหนือกฎหมาย” ของทรัมป์

แต่อย่างที่ว่าไว้ว่า ผู้ที่จะตัดสินชี้ขาดว่า ทรัมป์ กระทำผิดจนต้องถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไม่นั้น คือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภาสหรัฐอเมริกา

เมื่อผ่านขั้นตอนการสอบสวนของสภาแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะกำหนดข้อหาและฐานความผิดของทรัมป์ ด้วยเสียงข้างมากปกติ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงมากเนื่องจากเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาล่างอยู่ก่อนแล้ว

หลังจากเสียงข้างมากในสภาล่างมีมติให้อิมพีชทรัมป์แล้ว กระบวนการก็จะถูกนำขึ้นไปสู่วุฒิสภา ซึ่งเป็นการจำลองระบบการไต่สวนพิจารณาคดีในศาลอเมริกันมาใช้ทางการเมือง โดยที่ ตัวแทนของสภาล่างจะทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น “เจ้าพนักงานอัยการ” ที่เป็นผู้กล่าวหา สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 100 คน จะทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นคณะลูกขุน โดยมีประธานศาลฎีกา หรือประธานศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาทำหน้าที่เป็นประธานการพิจารณา

จะถอดถอนทรัมป์พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้ จำเป็นต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ คือ 67 เสียง

มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน? ตอบได้ยากมาก เพราะมีปัจจัยที่เป็น “ตัวแปร” หลายอย่างมากเหลือเกิน นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่า พรรครีพับลิกันของทรัมป์ ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาสูงในเวลานี้ ซึ่งทำให้จะถอดถอนได้ก็ต้องให้ส.ว.รีพับลิกันหันมาลงคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยอย่างน้อย 20 คน เพื่อรวมเสียงกับ ส.ว.เดโมแครต 46 คนและส.ว. อิสระ อีก 1 คนให้ได้ 67 เสียง

ตรงนี้เองที่ตัวแปรอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ ฐานความผิดที่ถูกใช้ในการเล่นงานทรัมป์นั้นเป็นฐานความผิดใด และมีมูลเหตุมาจากอะไร รวมทั้งความนิยมชมชอบและความสำเร็จส่วนตัวของทรัมป์ในด้านอื่นๆ

ตัวอย่างเช่นในกรณีของ คลินตัน มติในสภาสูงในข้อหาเบิกความเท็จคือ 45 ต่อ 55, ในข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรมคือ 50ต่อ50 เสียง

ผู้สันทัดกรณีชี้ให้เห็นว่า คลินตัน ถูกเล่นงานด้วยเรื่องที่เป็นความเสียหาย “ส่วนตัว” ในขณะที่เจ้าตัวประสบความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาสูงมาก่อนหน้านั้น

บรรยากาศทางการเมืองในเวลานั้น ก็เป็นตัวแปรสำคัญอีกเช่นกัน ในกรณีที่การสอบสวนข้อกล่าวหาต่อทรัมป์แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรงได้ และส่งผลต่อคะแนนเสียงในพื้นที่เลือกตั้งของส.ว.ทั้งหลายได้

ทรัมป์ ก็อาจถูกพรรครีพับลิกัน “เททิ้ง” เอาได้ง่ายๆ เพราะหมดคุณค่าในทางการเมืองไปแล้วนั่นเอง

อิมพีชเมนต์ ในเมื่อเริ่มต้นที่การเมือง ตอนจบก็ลงเอยกันง่ายๆ ในทางการเมืองเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image