คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ‘ยูโร 2016’ กับ ‘ก่อการร้าย’

AFP PHOTO / GEOFFROY VAN DER HASSELT

มีเหตุผลหลายประการมากที่ทำให้ทุกๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องหวั่นเกรงมากว่า มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลแห่งทวีปยุโรป อย่าง “ยูโร 2016” ที่ฝรั่งเศสรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพนั้นจะตกเป็นเป้าหมายในการก่อการร้าย โดยเฉพาะจากสมาชิกของขบวนการกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส

ไม่เพียงแต่ปารีสเพิ่งถูกโจมตีด้วยการก่อการร้ายอย่างรุนแรงมาเมื่อ 7 เดือนเศษก่อนหน้านี้เท่านั้น เหตุการณ์ก่อการร้ายรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเบลเยียม ที่บรัสเซลส์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำความเป็น “เป้า” การก่อการร้ายของยูโร 2016 มากยิ่งขึ้น เมื่อ โมฮัมเหม็ด อาบรินี หนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่ถูกทางการเบลเยียมจับกุมตัวได้ ให้การว่าการลงมือก่อเหตุในบรัสเซลส์เกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนา เจตนาที่แท้จริงของกลุ่มผู้ก่อเหตุเหล่านั้น คือทัวร์นาเมนต์ยูโร 2016 นี้ต่างหาก

ตามสมมุติฐานของผู้เชี่ยวชาญการต่อต้านการก่อการร้าย กลุ่มเซลล์ก่อการร้ายเบลเยียม-ฝรั่งเศส เกิดตื่นตระหนกและลงมือก่อเหตุด้วยความแตกตื่น หลังจากที่ ซาเลาะห์ อับเดสลาม หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อเหตุโจมตีปารีสเพียงรายเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ถูกจับกุมไปไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

แม้ว่าคำให้การของอาบรินี ไม่ชัดเจนถึงขนาดสามารถระบุได้ว่าอะไรกันแน่ที่เป็นเป้าในการโจมตี จะเป็นตัวแมตช์การแข่งขันเอง หรือจะเป็นเป้าหมายอื่นๆ ในฝรั่งเศสที่นอกเหนือจากแมตช์การแข่งขันแต่เป็นการลงมือในช่วงเวลาที่ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลรายการใหญ่รายการนี้กำลังดำเนินอยู่

Advertisement

แต่ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นอะไร หากเกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นจริง ยูโร2016 ก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันยินยอมไม่ได้เป็นอันขาด

แต่ไม่ว่าทางการฝรั่งเศสจะยินยอมพร้อมใจหรือไม่ ปัญหาที่แท้จริงกลับอยู่ตรงที่ว่าจะทำอย่างไร เตรียมพร้อมอย่างไร จึงสามารถจะ “ป้องกัน” เหตุก่อการร้ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในเวลาเดียวกันก็ให้พร้อมที่สุดในการ “รับมือ” หากเกิดเหตุขึ้น

การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรปหนนี้ มีประเด็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยเป็นหัวใจหลักของการแข่งขันไปแล้ว

Advertisement

แบร์นาร์ คาเซเนิฟ รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศสยืนกรานไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จำเป็นต้องบอกความจริงกับประชาชนฝรั่งเศส เขาบอกว่า หากการเตรียมพร้อมคิดเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ความเสี่ยงจะมีสูงเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในทางกลับกัน การเตรียมพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงจะลดลงเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่านรัฐมนตรีบอกว่า

“ผมไม่สามารถการันตีได้ว่า เราจะไม่ได้เผชิญหน้ากับการก่อการร้าย” ในฟุตบอลยูโรหนนี้!

การแข่งขันกีฬา ไม่น่าจะและไม่ควรจะตกเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความสนใจทางการเมืองด้วยการก่อการร้าย แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ริชาร์ด วอลตัน อดีตผู้บัญชาการกองกำลังต่อต้านการก่อการร้าย ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งมหานครในลอนดอน หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า สก็อตแลนด์ยาร์ด ระบุเอาไว้ว่าการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะการจัดการแข่งขันในระดับ “มหกรรมกีฬา” ตกเป็นเป้าหมายที่ดึงดูดใจสำหรับผู้ก่อการร้ายมานานแล้ว

นับตั้งแต่ปี 1972 เรื่อยมาจนถึงปี 2014 มีการก่อเหตุของผู้ก่อการร้ายที่พุ่งเป้าไปที่การแข่งขันกีฬาโดยเฉพาะมากถึง 168 ครั้ง หนึ่งในจำนวนนั้นคือเหตุการณ์การบุกเข้าไปสังหารหมู่นักกีฬายิวในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก ที่นครมิวนิก

ประเทศเยอรมนี ของกองกำลังก่อการร้าย “แบล็คเซ็ปเทมเบอร์” เมื่อปี 1972 ที่ทำให้ชื่อกลุ่ม “กันยายนทมิฬ” ติดปากผู้คนไปทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ สต๊าด เดอ ฟรองซ์ สนามฟุตบอลหลักของกรุงปารีส เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวฝรั่งเศสเอง เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นสิ่งเทียบเคียงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ในระหว่างมหกรรมฟุตบอลที่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน

รัฐบาลอเมริกันหรือแม้แต่รัฐบาลอังกฤษ ออกคำเตือนอย่างเป็นทางการต่อพลเรือนสัญชาติของตนให้พยายามหลีกเลี่ยง ทั้งแมตช์การแข่งขัน ศูนย์กลางคมนาคม และสถานที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างเทศกาลยูโร 2016 เพราะเชื่อว่าจุดต่างๆ เหล่านี้ “มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะถูกผู้ก่อการร้ายโจมตี”

การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ยาวนาน 31 วัน มีแมตช์แข่งขันรวมทั้งสิ้น 51 แมตช์ กระจายกันออกไปตามเมืองต่างๆ รวม 10 เมืองทั่วประเทศ มีทีมฟุตบอลจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้ามาร่วมการแข่งขัน 24 ทีม จากทั่วทั้งทวีปยุโรป

นี่ยังไม่นับรวมบรรดาผู้เข้าชมการแข่งขันอีก 2.5 ล้านคนที่จะเดินทางมาจากพื้นที่ต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะในภาคพื้นยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจากทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งจากประเทศไทย

เห็นได้ชัดเจนว่า ตลอดระยะเวลา 1 เดือนนี้ ความหวั่นกลัวจะเคียงคู่อยู่กับยูโร 2016 และแฟนฟุตบอลทั้งหลายชนิดวันต่อวัน

เมื่อคนเหล่านั้นมุ่งมั่นที่จะตอบโต้การก่อการร้ายด้วยการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งต่างชาติและทั้งที่เป็นชาวฝรั่งเศสเอง “เป้า” ใหญ่ที่สุดที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะตกอยู่ในการโจมตีของผู้ก่อการร้ายก็คือ อาณาบริเวณที่ถูกกันไว้ให้เป็น “แฟนโซน” ที่จะจัดให้มีกิจกรรมหลากหลาย รวมทั้งการรับชมการถ่ายทอดสดแมตช์การแข่งขันผ่านจอขนาดยักษ์กลางแจ้ง

“แฟนโซน” ที่ว่านี้มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ขนาดย่อมที่สุดจุผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ 10,000 คน ที่แซงต์ เดนีส์, 20,000 คน ที่ปลาซ แบลล์กูร์ ในลียง, และ 80,000 คน ที่ปลาจ ดู ปราโด ในมาร์เซย เรื่อยไปจนถึงใหญ่ที่สุดที่สามารถรองรับคนได้มากถึง 100,000 คน ที่ชองป์ เดอ มาร์ ใกล้กับ ลาตูร์ ไอเฟล

มีการประเมินกันหยาบๆ ว่า ผู้คนราว 7 ล้านคนจะวนเวียนกันเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันใน “แฟนโซน” เหล่านี้ ที่จะเปิดรับผู้คนแทบทุกคืนที่มีแมตช์แข่งขัน ไม่ว่าจะในเมืองไหนในประเทศ โดยที่เมืองแต่ละเมืองที่เป็น

เจ้าภาพจัดการแข่งขันในแต่ละสนามจะเป็นผู้รับผิดชอบในมาตรการรักษาความปลอดภัย ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาลกลางฝรั่งเศส

ที่ว่ากันว่า ตอนนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ทะยานพรวดขึ้นเป็น 2 เท่าตัว รวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 24 ล้านยูโรเข้าไปแล้ว

การเตรียมการดังกล่าวเหล่านี้ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดออกมามากมายนัก แต่เชื่อว่ารวมไปถึงการใช้โดรนบินตรวจสอบเหนือพื้นที่แฟนโซนอยู่ตลอดเวลาในขณะที่มีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่จำนวนมากตรวจตราในอาณาบริเวณดังกล่าวอย่างหนัก ก่อนที่ทุกคนจะผ่านเข้าไปในแฟนโซนจะต้องถูกตรวจค้นร่างกาย

ในขณะที่ในพื้นที่เองก็มีเจ้าหน้าที่ปนอยู่กับผู้คนในสัดส่วน 1 นายต่อ 100 คนอีกด้วย

ในส่วนของสนามแข่งขัน ก่อนหน้าแมตช์แข่งทุกแมตช์ จะมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงตรวจสอบและประเมินทุกๆ จุดที่เป็น “ที่ชุมนุมสาธารณะ” ทั้งอัฒจันทร์, สถานีขนส่ง และอื่นๆ ทั้งหมดไม่เพียงคำนึงถึงแนวทางป้องกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังกินความรวมไปถึงเส้นทางเข้าถึงแต่ละจุดของเจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษ กับทีมแพทย์ฉุกเฉิน

สถานที่พักของทีมต่างๆ ก็ได้รับการเอาใจใส่จากมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างสูง

บทเรียนจากการสังหารหมู่ในโอลิมปิกมิวนิกไม่ใช่เรื่องที่จะลืมเลือนกันง่ายๆ แน่นอน

ยูโร 2016 น่าจะนับเนื่องได้ว่าเป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่ใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมากที่สุดครั้งหนึ่ง รัฐบาลฝรั่งเศสระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้ามารับผิดชอบการรักษาความปลอดภัยในการแข่งขันครั้งนี้มากถึง 120,000 นาย สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟา ร่วมกับคณะกรรมการจัดการแข่งขันระดมกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเอกชนเข้ามาร่วมรับผิดชอบอีก 15,000 คน

ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการก่อการร้ายชี้ว่า นอกเหนือจากการใช้ระเบิดในการก่อการร้ายครั้งนี้แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยพิเศษของสำนักงานตำรวจยังเตรียมพร้อมรับมือกับความเป็นไปได้ในการก่อการร้ายอีกหลาย

รูปแบบ รวมทั้งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างเช่นการใช้ “โดรน” เพื่อเป็น “โดรนระเบิด” หรือใช้เป็นเครื่องมือเพื่อพ่นสารเคมี เป็นต้น

แต่ เฮนรี วิลคินสัน ผู้อำนวยการแผนกวิเคราะห์ข่าวกรองของกลุ่มที่ปรึกษาความเสี่ยง (อาร์เอซี) บริษัทเอกชนจากอังกฤษที่ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับยูโร 2016เชื่อว่า วิธีการที่น่าจะเป็น

ไปได้มากที่สุด หากมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันทัวร์นาเมนต์นี้ก็คือการใช้วิธีการเดียวกันกับที่ใช้ที่ “บาตาคล็อง คอนเสิร์ต ฮอลล์”

นั่นคือการกราดยิงโดยผู้ก่อการร้ายที่คาดเข็มขัดระเบิดรอบตัว

บาตาคล็องเป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในเหตุการณ์โจมตีปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 130 ราย เสียชีวิตจากจุดนี้มากถึง 90 ราย

ในทรรศนะของวิลคินสัน ไม่ว่าจะเป็นไอเอสหรืออัลเคดา ถนัดวิธีการระดมยิงอย่างบ้าคลั่งทำนองนี้เหมือนกันทั้งหมด

เท่าที่ผ่านมามีการฝึกซ้อมมาตรการรักษาความปลอดภัยในการแข่งขันครั้งนี้แล้วไม่น้อยกว่า 30 ครั้งทั่วประเทศ

เหตุผลก็คือเดิมพันครั้งนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การทำให้ยูโร 2016 ดำเนินต่อไปได้ตลอดรอดฝั่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึง “อนาคต” ของฝรั่งเศสในระยะยาวอีกด้วย

ปาสคาล โบนิเฟซ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษายุทธศาสตร์ความสัมพันธ์และการต่างประเทศ บอกว่าฝรั่งเศสมีทั้งเรื่องความปลอดภัยและภาพลักษณ์เป็นเดิมพัน ถ้าหากการแข่งขันครั้งนี้มีปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัยเกิดขึ้น ภาพลักษณ์ของประเทศก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

แต่ในทางกลับกัน ถ้ายูโร 2016 ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ผลตอบแทนที่ฝรั่งเศสจะได้รับก็มหาศาลตามไปด้วย

ที่สำคัญก็คือฝรั่งเศสยื่นใบสมัครขอเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนของปี 2024 อยู่ด้วย ในความเห็นของโบนิเฟซ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการจัดการแข่งขัน หรือการรักษาความปลอดภัย

ยูโร 2016 ก็คือการ “สอบไล่” สำหรับโอลิมปิกเกมส์ในอนาคตดีๆ นี่เอง

ความเป็นจริงอันโหดร้ายประการหนึ่งก็คือ ไม่ว่าฝรั่งเศสจะเตรียมพร้อมมากแค่ไหน ฝึกซ้อมกันกี่หนกี่ครั้ง ก็ยังมีรูโหว่ มีช่องว่างให้ผู้เชี่ยวชาญติติงได้อยู่ดี

ข้อกังวลสำคัญประการหนึ่งก็คือ ควรจะทำอย่างไรกับคิวที่คาดว่าจะยาวเหยียดทั้งในพื้นที่ที่เป็นจุดตรวจก่อนเข้าสู่ “แฟนโซน” หรือตอนที่จะเข้าสู่สนามก่อนหน้าแมตช์การแข่งขัน ถ้าเกิดสภาพชะงักงันเป็นคอขวดมากๆ อาจกลายเป็นสถานการณ์บังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องยอมผ่อนปรน ไม่สามารถตรวจสอบผู้ชมได้ถี่ถ้วนแน่ๆ

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของเรื่องนี้ก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ “เฟรนช์คัพ” ระหว่างสโมสรดังอย่าง ปารีส แซงต์ แชร์แมง กับ มาร์เซย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่ สต๊าด เดอ ฟรองซ์ ซึ่งถือเป็นแมตช์สำหรับการ “ซ้อมใหญ่ในสถานการณ์จริง” สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยในยูโร 2016 ครั้งนี้

มีการวางแนวรักษาความปลอดภัยเพื่อตรวจสอบผู้ที่เดินทางเข้าชมแมตช์ดังกล่าวถึง 2 ชั้น

กระนั้น “พลุ” และ “ขวดแก้ว” ก็ยังถูกจุดและขว้างปาลงไปในสนาม ทั้งๆ ที่มันควรจะถูกตรวจสอบพบและยึดเก็บไว้ในวงรักษาความปลอดภัย 2 ชั้นดังกล่าว

ฟิลิปป์ กัลลี ผู้รับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยของแมตช์ยอมรับข้อบกพร่องดังกล่าว ที่เกิดจากการปิดช่องทางเข้าสนามจาก 26 ประตูให้หลงเหลือเพียง 8 เพื่อให้เพียงพอต่อการประจำการของเจ้าหน้าที่

แต่สุดท้ายก็กลายเป็นคอขวด รอคิวกันยาวเหยียดจนการตรวจสอบต้องหละหลวมไปในที่สุด

ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าจะเกิดขึ้นในยูโร 2016 นี้ไม่ได้เด็ดขาด เพราะครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่พลุหรือขวด แต่เป็นอย่างอื่นที่รุนแรงกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image