คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ไชนีส ดรีม

(Host Broadcaster via AP)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ไชนีส ดรีม

สาธารณรัฐประชาชนจีน เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปีในการก่อตั้งประเทศไปอย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

โฉมหน้าของจีนในปัจจุบันนี้ แตกต่างกันอย่างลิบลับกับเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา จีนทุกวันนี้ประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้พ้นจากภาวะอดอยาก หิวโหย

ดังนั้น นักวิชาการและผู้สันทัดกรณีจำนวนหนึ่งจึงชี้ว่า ตัวแทนความสำเร็จของจีนที่ผ่านมา อาจบางทีไม่ได้อยู่ที่ตึกระฟ้าโอฬารในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หรือเมืองใหญ่อื่นๆ หากแต่เป็นเมืองเล็กๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักอย่างเช่น “ไป๋โกว” ในมณฑล เหอเป่ย ต่างหาก

หากย้อนเวลากลับไปในห้วงเวลาดังกล่าว ไป๋โกว นับได้ว่าคือสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของชนบทจีนอีกมากมายทั่วประเทศ ที่ดำรงอยู่ภายใต้ระบบการผลิตรวมของคอมมูน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตุง ซึ่งรู้จักกันทั่้วประเทศในนาม “ประธานเหมา” นำมาใช้หลังจากกวาดล้างระบบการค้าขายแบบเดิมทิ้งไปทั้งหมด

Advertisement

ในเวลานั้นผลผลิตการเกษตรทั้งหมดตกเป็นของรัฐ เกษตรกรทุกคนดำรงชีพอยู่ด้วยการปั่นส่วน ในปี 1960 ที่ ไป๋โกว ธัญพืชปันส่วนที่ได้รับลดลงมาเหลือเพียง 90 กรัม ในยามที่ความอดอยากระดับทุพภิกขภัยระบาดออกไปทั่วประเทศ

สิ่งที่เบ่งบานตามมาคือ “ตลาดมืด” การแลกเปลี่ยนสินค้าจำเป็นซึ่งกันและกันของเอกชน การลักลอบใช้สินค้าแลกกับคูปองปันส่วนอาหาร

บันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพิพิธภัณฑ์ไป๋โกว ให้รายละเอียดไว้ว่า ชาวบ้านจะรวมตัวกันตามแต่โอกาสจะอำนวย มองหน้ากัน แล้วใช้ท่าทางการแสดงออกเป็นเครื่องมือหลีกเร้นความตกลงกันลับๆ การส่งมอบจะเกิดขึ้นในทันทีที่นั่น แต่จะเกิดขึ้นต่างเวลา ต่างสถานที่ออกไป เพื่อไม่ให้ถูกจับและลงโทษหนักจากทางการ

Advertisement

ตอนนั้นสาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากร 650 ล้านคน

7 ทศวรรษผ่านไป สภาพเช่นนี้ไม่หลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว

เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนร่างเล็ก แต่มากด้วยบารมีและอิทธิพล หันมายอมรับระบบการตลาด และ อนุญาตให้รูปแบบของการประกอบการของเอกชนก่อรูปขึ้นมาภายใต้การกำกับดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ 40 ปีก่อน

ผลลัพธ์ที่ตามมานั้น นักวิชาการบางคนบอกว่า คือการขยายตัวเบ่งบานทางเศรษฐกิจชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษย์

ชาวจีน 750 ล้านคน หลุดพ้นจากสภาวะยากจนจากสภาพการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงต่อเนื่องกันยาวนาน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น

หลี่ เต๋อฉุ่ย อดีตหัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ซึ่งเป็นนักกำหนดนโยบายทางเศรษฐศาสตร์ระดับ “คร่ำหวอด” ระบุเอาไว้ในข้อเขียนเนื่องในวาระ 70 ปีการก่อตั้งประเทศเมื่อเร็วๆนี้ ว่า

“ประธานเหมา กล่าวเอาไว้ในปี 1958 ว่า ‘ ถ้าเรากุมข้าวเอาไว้ในมือข้างหนึ่ง และกุมเหล็กอยู่ในมืออีกข้างหนึ่ง ก็ไม่ต้องมีอะไรกังวลอีกต่อไป’…

“จีนมีประชากร 650 ล้านคนในปีนั้น และมีคนมากมายนักที่ไม่มีอาหารเพียงพอ ตอนนี้ เรามีประชากร 1,400 ล้าน แต่ละคนสามารถกินอาหารได้มากเท่าที่อยากกิน”

******

ในทัศนะของ หลี่ เต๋อฉุ่ย ห้วงเวลา 70 ปีที่ผ่านมา คือห้วงเวลาของการ “ทดลองทางการพัฒนา” เพื่อค้นหา “โมเดลการพัฒนาที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับจีน”

หลังการค้นพบและประสบความสำเร็จจากห้วงเวลาดังกล่าว ก็ถึงห้วงเวลาของการก้าวไปบนเส้นทางที่จะนำไปสู่ “เป้าหมายแห่งศตวรรษ” ของ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่กำหนดไว้ให้จีนกลายเป็น “ประเทศสังคมนิยมที่ทรงอิทธิพล” ให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งเป็น “ไชนีสดรีม” ความใฝ่ฝันของจีน!

หลี่เชื่อว่า ความฝันที่ว่านี้ยังสามารถบรรลุได้ ด้วยทรัพยากรมนุษย์ที่ล้นเหลือและการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่การยอมรับและการแสดงบทบาทที่จะส่งผลต่ออำนาจอิทธิพลของโลกตะวันตกต่อทั้งโลก

หลี่ ชี้ให้เห็นว่า แรงงานมีทักษะของจีน มีจำนวนมหาศาล เทียบแล้วเท่ากับหรือไม่ก็มากกว่า จำนวนแรงงานมีทักษะของสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ทั้ง 36 ประเทศรวมกัน นั่นหมายถึงว่า มีมากกว่าแรงงานทักษะของจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกของโออีซีดีทั้งสิ้น

หลี่ ไม่ได้คาดหวังว่า จีน จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลก แทนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับกันโดยปริยายว่าเป็นชาติที่มีอำนาจอิทธิพลมากที่สุดในโลกในอีกไม่ช้าไม่นาน

แต่ ทำนายเอาไว้ว่า สภาพควา เสื่อมถอยของอำนาจอิทธิพลของซีกโลกตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วและแสดงออกมาให้เห็นอยู่บ้างในเวลานี้ จะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องต่อไป

นั่นเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ จีน และประเทศมหาอำนาจใหม่อื่นๆ เข้ามามีบทบาท มีอิทธิพล มีปากมีเสียงในเวทีโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

แน่นอน ทุกคนไม่ได้เห็นพ้องกับ หลี่ เต๋อฉุ่ยทั้งหมด ตรงกันข้าม บางคนกลับเชื่อว่า ไม่ว่าในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา จีนจะประสบความสำเร็จมากน้อยเท่าใด “โมเดล” ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ กำลังขยายตัวไปถึง “ขีดจำกัด” ของมันแล้ว

ในแง่ของความเป็นอยู่ของประชาชนจีน ในเวลานี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัว ของประชากรจีนกำลังขยับเข้าใกล้ 10,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีมากขึ้นทุกทีแล้ว

อย่างไรก็ตามตามนิยามของ ธนาคารโลก ที่กำหนดให้ประเทศที่มีจีดีพีต่อหัวประชากรระหว่าง 996-12,055 ดอลลาร์ ว่ายังคงเป็น “ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง”

นั่นหมายความว่า จีน ยังคงจำเป็นต้องทลายขีดจำกัด “กับดักรายได้ปานกลาง” ให้ได้อีกต่างหาก

******

เพื่อก้าวต่อไปจีนจำเป็นต้องเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง” ให้ได้ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความท้าทายที่คุกคามต่อจีนในปัจจุบัน

ริชาร์ด คู หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำ สถาบันวิจัยโนมูระ เตือนเอาไว้ว่า จีนกำลังเผชิญกับ “ภัยคุกคาม” 3 ด้านสำคัญพร้อมๆ กันอยู่ในเวลานี้ กับดักรายได้ปานกลางเป็นเพียง 1 ในจำนวนนั้น ยังมีปัญหาสำคัญของการก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ อย่างรวดเร็ว และปัญหาความเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐอเมริกา

“การที่ชาติใดชาติหนึ่ง ต้องเผชิญกับปัญหาจำกัดเชิงประชากร พร้อมๆ ไปกับการเผชิญหน้ากับปัญหากับดักรายได้ปานกลางนั้น พบเห็นได้ยากมาก ยากถึงขีดสุด”

เขาบอกว่า แค่ 2 ปัจจัยดังกล่าวก็ถือเป็นความท้าทายที่ยากเย็นแสนเข็ญ ไม่ว่าจะกับประเทศหนึ่งประเทศใด “และในตอนนี้ จีนยังจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับสงครามการค้า ซึ่งริเริ่มโดยประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาพร้อมกันไปด้วย”

เผย หมินซิ่น ศาสตราจารย์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากวิทยาลัย แคลมอนต์ แมคเคนนา คาดการณ์เอาไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่เริ่มต้นขึ้นและคงอยู่ต่อเนื่องในเวลานี้ กำลังจะนำไปสู่จุด “สิ้นสุดของระบอบการปกครองแบบพรรคเดียว” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

“ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มที่จะทำให้บรรยากาศการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 2021 เสื่อมถอยลง และระบบการปกครองแบบพรรคเดียวอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ไปจนถึงปี 2049”

อันเป็นวาระครบรอบ 100 ปีของการสถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีน!

เผย หมินซิ่น เชื่อว่าเศรษฐกิจที่บูมในช่วง 40 ปีหลังของจีนเกิดขึ้นจากแรงงานหนุ่มสาวที่มีขนาดใหญ่โต, การขยายตัวของสภาพชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว, การลงทุนด้านสาธารณูปโภคระดับเมกะโปรเจกต์ทั้งหลาย และ ภาวะโลกาภิวัฒน์

เขาชี้ว่า ปัจจัยเหล่านั้นในเวลานี้ถ้าไม่เสื่อมทรามลงมาก ก็หายไปจนหมดแล้ว

นักวิชาการจีนหลายรายไม่เห็นพ้องกับการคาดการณ์ดังกล่าว ลี่ เต้ากุ่ย ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิงหัว เชื่อว่าจีนสามารถจะสร้างรายได้ให้กับประชากรของตนให้อยู่ในระดับเดียวกันกับญี่ปุ่นและฝรั่งเศสได้ภายในปี 2049 ซึ่งในเวลานั้นจำนวนชนชั้นกลางของจีนจะพุ่งขึ้นเป็น 800 ล้านคน

หวง ฉีฟ่าน อดีตนายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง เชื่อว่าในแง่ของเศรษฐกิจแล้ว จีนกำลังขยับเข้าใกล้ความเป็น “ศูนย์กลางของโลก” แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือ ครองความเป็นเจ้าในห่วงโซ่อุปทาน, ห่วงโซ่มูลค่า, และห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อไปโดยการทำให้ “กำแพงภาษี, อุปสรรคทางการค้า และ การอุดหนุนจากภาครัฐเป็นศูนย์” ให้หมด

เหตุผลสำคัญที่ทำให้นักวิชาการเหล่านี้เชื่อมั่นอย่างมากต่อการบรรลุถึง “ไชนีสดรีม” ก็คือข้อพิสูจน์ที่รัฐบาลจีนแสดงให้เห็นมาครั้งแล้วครั้งเล่าว่า สามารถมีความคิดอ่านที่เล็งเห็นการณ์ไกล จนประสบความสำเร็จนอกเหนือความคาดหมายได้ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา

จีนยังมีช่องทางให้เจริญเติบโตได้อีกมาก ศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศกำลังพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ๆ ได้อีกหลายทางมาก

******

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน นับตั้งแต่ “ประธานเหมา” เรื่อยมา กล่าวเอาไว้ในพิธีเปิดท่าอากาศยาน ต้าซิง อินเตอร์เนชันแนล สนามบินระดับนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงปักกิ่ง ในเดือนกันยายน ยืนกรานว่า ประเทศจีน และชาวจีน มีความสามารถพิเศษในการทำสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” ให้กลายเป็นสิ่งที่ “เป็นไปได้” ขึ้นมา

สามารถรังสรรค์ “สิ่งมหัศจรรย์” ของโลกขึ้นมาหลากสิ่งหลายอย่างอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจีน และ ประเทศจีน จึงสามารถบรรลุถึง “ไชนีสดรีม” ได้อย่างแน่นอน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image