รายงาน : ฉลองวาระ 333 ปี ราชทูตสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส

เมื่อไม่นานมานี้ นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ และ นายฌาก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้ร่วมงาน “การฉลองในวาระ ๓๓๓ ปี ราชทูตสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส” (333 Years: Siamese Envoy to France) โดย ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การทูตของไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ออกพระวิสุทสุนทร หรือโกษาปาน ได้นำคณะราชทูตสยามไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2229 ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งได้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนในหลายมิติในปัจจุบัน

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมมากมายเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญดังกล่าว อาทิ การจัดทำตราสัญลักษณ์ เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือระหว่างกัน การจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก “333 ปี ราชทูตสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส” ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) และการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation) ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) และ Agence Francaise de Developpement (French Development Agency-AFD) ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ยังได้ร่วมมือกับสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญนี้ อาทิ งานแสดงดนตรียุคบาโรค การจัดฉายภาพยนตร์พร้อมเสวนาในหัวข้อพระราชวังแวร์ซายส์และราชสำนัก การเผยแพร่ศิลปะการแสดงศิลปร่วมสมัย และวัฒนธรรมด้านอาหารของฝรั่งเศส

หนึ่งในกิจกรรมสำคัญภายในงานคือการบรรยายเชิงวิชาการเกี่ยวกับหนังสือที่ระลึก “333 ปี ราชทูตสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส” โดย รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นบรรณาธิการหนังสือที่น่าสนใจยิ่งเล่มนี้ด้วย โดยรศ.ดร.ปรีดีระบุว่า ปี 2562 นับเป็นวาระโอกาสสำคัญที่ราชทูตสยามได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสครบ 333 ปี (พ.ศ.2229-2562) ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตที่ยั่งยืนระหว่าง 2 ประเทศตราบจนปัจจุบัน และประเทศฝรั่งเศสนับเป็นชาติตะวันตกแรกๆ ที่เข้ามาติดต่อกับสยาม อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์นี้ได้นำมาซึ่งความเจริญในหลากหลายมิติ

Advertisement

ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสมีจุดเริ่มต้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งในช่วงระยะเวลานั้น มีชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ทั้งเพื่อการค้าขาย แสวงโชค และเผยแผ่คริสต์ศาสนา ทำให้อยุธยามีลักษณะของสังคมพหุวัฒนธรรมที่ผสมผสานความคิด ความเชื่อ การดำรงชีวิตของชาวตะวันตกกับชาวตะวันออกได้เป็นอย่างดี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงคุ้นเคยกับชาวตะวันตกมาก่อน ทรงเห็นว่าการติดต่อกับชาวตะวันตกย่อมนำมาซึ่งผลประโยชน์และความเจริญของอาณาจักรมากกว่าสิ่งอื่น จึงทรงแต่งคณะทูตออกไปเจริญทางพระราชไมตรีกับหลายประเทศนับแต่ต้นรัชกาลเป็นต้นมา และทรงให้การต้อนรับทูตจากประเทศต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกันทั้งสิ้น

คณะทูตสยามชุดแรกเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2223 แต่ภารกิจนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เรือโดยสารเกิดอับปางลงที่บริเวณเกาะมาดากัสการ์ ต่อมาอีก 2 ปี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงมีพระราชดำริแต่งตั้งออกขุนพิชัยวาทิตและออกขุนพิชิตไมตรีให้เดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อสืบข่าวคณะทูตชุดแรก พร้อมด้วยบาทหลวงเบนีญ วาเชต์ เป็นล่าม ซึ่งได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หลังจากนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงได้ทรงแต่งตั้งให้เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) เป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

การลงนาม TICA กับ AFD

คณะราชทูตฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นที่พระราชวังหลวงอยุธยาในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2228 และเดินทางกลับฝรั่งเศสในช่วงปลายปี 2228 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงแต่งคณะราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีด้วย ครั้งนี้มีออกพระวิสุทสุนทร (ปาน) เป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอุปทูต และออกขุนศรีวิศาลวาจาเป็นตรีทูต คณะทูตสยามได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229 พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการจำนวนมาก ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่จากฝ่ายฝรั่งเศสและประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

Advertisement

ที่สำคัญที่สุด ออกพระวิสุทสุนทรได้จดบันทึกรายวันด้วยลายมือของท่านเอง ซึ่งนับเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ามาก อาทิ บันทึกเมื่อเดินทางถึงเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส จดหมายขอบคุณเสนาบดีเมื่อเดินทางกลับจากการเจริญทางพระราชไมตรี และจดหมายอีกหลายฉบับที่เขียนขึ้นหลังจากรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพื่อยืนยันสัมพันธไมตรีที่เคยมีมาต่อกันและปรารถนาที่จะให้ไมตรีนั้นกระชับมั่นคงดังเดิม เอกสารเหล่านี้จึงมีคุณค่าทั้งในเชิงการรวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์ทางการทูต และเป็นสิ่งที่แสดงความเป็นไทยให้ประจักษ์ในเวทีโลกที่มีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา รวมถึงทำให้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยากับปัจจุบันด้วย

คณะราชทูตสยามออกเดินทางกลับในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2230 พร้อมด้วยผู้แทนพิเศษฝรั่งเศสซิมง เดอ ลาลูแบร์ และโคล้ด เซเบอเรต์ อุปทูต และทหารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่ง โดยได้มาถึงอยุธยาในราวปลายปี พ.ศ. 2230 ต่อจากนั้นไม่นานนัก ก็เกิดการปฏิวัติ โดยสมเด็จพระเพทราชาขึ้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศหยุดชะงักลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะรื้อฟื้นอีกครั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศสจึงมีจุดเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ทางศาสนา และพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ทางการทูตที่อาจกล่าวได้ว่า คณะทูตของออกพระวิสุทสุนทร (ปาน) ประสบความสำเร็จสูงสุดในการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ และนำมาซึ่งความเจริญของทั้ง 2 ประเทศ ที่กลายเป็นมิตรประเทศกันตราบปัจจุบัน

นอกจากนี้ ประวัติของออกพระวิสุทสุนทรมีความน่าสนใจมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานต่าง ๆ ที่บ่งบอกว่า ท่านเป็นปฐมบรรพบุรุษของพระราชวงศ์จักรี และเป็นแบบอย่างของผู้ใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำกลับมาใช้พัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส และความสนใจของท่านในการศึกษาความเจริญของฝรั่งเศส เช่น การดาราศาสตร์

ในโอกาสครบรอบ 333 ปีที่ราชทูตสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ผลจากความสัมพันธ์ในครั้งนั้น ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงมรดกที่ทั้ง 2 ประเทศต่างได้รับ สยามเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่จากโลกตะวันตก ความเจริญทางเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การวิทยาศาสตร์ การดาราศาสตร์ การสาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ของฝรั่งเศส ล้วนปรากฏขึ้นในกรุงศรีอยุธยาและในช่วงเวลาต่อมา ในทางกลับกัน ฝรั่งเศสได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมของโลกตะวันออก ทั้งการดำรงชีวิต สภาพธรรมชาติ และผู้คน ทำให้เกิดความสนใจ ความท้าทางที่จะเดินทางโดยเรือกลไฟ และความพยายามแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติที่จะสามารถนำไปแปรเป็นทรัพย์สินในยุโรปได้มากขึ้น การแลกเปลี่ยนมรดกทางวัฒนธรรมในปัจจุบันนี้ก็เป็นผลมาจากเมื่อครั้งที่ออกพระวิสุทสุนทร (ปาน) เป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีแต่ครั้งนั้น นับได้ว่าเส้นทางทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศมีจุดเริ่มต้นอย่างกระชับแน่นแฟ้น ทั้งยืนยาวตราบจนปัจจุบันและในอนาคต

ด้านนายฌาก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ได้ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่จัดงานได้อย่างดี และย้อนเล่าไปถึงเหตุการณ์ที่พระวิสุทสุนทร หรือโกษาปาน เป็นราชทูตนำคณะไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สองอารยธรรมอันไกลโพ้นมาพบกัน จากโลกที่แตกต่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างมองกันอย่างแปลกตา เล่ากันว่าความสังสัยใคร่รู้ของโกษาปานนั้นไม่สิ้นสุด ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในเหตุการณ์ในสมัยนั้นสังเกตว่าถ้าใครถามโกษาปาน 4 คำถาม ท่านจะถามกลับ 6 คำถาม ท่านจดทุกอย่าง บันทึกของท่านที่เหลืออยู่เพียงส่วนเดียวยังคงได้รับการเก็บรักษาไว้ในปัจจุบัน โดยบันทึกถูกพบอย่างน่าอัศจรรย์ที่หอจดหมายเหตุ สำนักมิซซังต่างประเทศ กรุงปารีส

สมัยก่อนฝรั่งเศสมองสยามเหมือนเป็นสวนอีเด็น ดุจสวรรค์แห่งหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากบันทึกโบราณหลายฉบับของนักเดินทางชาวฝรั่งเศสซึ่งได้บรรยายภาพสยามไว้ว่า “ต้นไม้อุดมไปด้วยผล แม่น้ำอุดมไปด้วยปลา หว่านเมล็ดพันธุ์ปลูกต้นกล้า แล้วปล่อยให้พระอาทิตย์ดูแล” แน่นอนว่าภาพที่ดูเรียบง่ายเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ยิ่งเราได้รู้จักกันมากเท่าไหร่ ภาพดังกล่าวก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งสองประเทศยังคงมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงจนถึงปัจจุบัน

การจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นย่างก้าวสำคัญในการฟื้นฟูสถาบันประชาธิปไตยในไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยเดินทางเยือนฝรั่งเศสเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ผ่านมา และได้พบหารือกับนายเอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก่อให้เกิดการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ฝรั่งเศสจะทำงานกับรัฐบาลไทยชุดใหม่เพื่อสร้างเสริมความสัมพันธ์กับไทยซึ่งเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจอันดับสองของฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนฝรั่งเศสแสดงความสนใจอย่างมากที่จะประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กรอบ Thailand 4.0 ซึ่งฝรั่งเศสมีความรู้ความชำนาญที่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจไทย

จากแวร์ซายส์เมื่อพ.ศ. 2229 สู่กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ฝรั่งเศสและไทยได้เดินทางด้วยกันมาอย่างยาวนาน ตลอดการเดินทาง โลกรอบตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากนี้ไปทั้งสองประเทศจะต้องเผชิญความท้าทายร่วมกันซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ของเรายิ่งมีความหมายและมีคุณค่ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน พร้อมกับอวยพรขอให้มิตรภาพระหว่างฝรั่งเศสกับไทยจงเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image