คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “เทรดวอร์-เบร็กซิท” ทุบเศรษฐกิจทั่วโลก

(AP Photo/Jose Luis Magana, File)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “เทรดวอร์-เบร็กซิท” ทุบเศรษฐกิจทั่วโลก

ย้อนหลังกลับไปในปี 2017 ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันของปีเช่นเดียวกับตอนนี้ คริสตีน ลาร์การ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า ในที่สุดเศรษฐกิจโลกที่บอบช้ำอย่างหนักจากวิกฤตหนี้ในสหรัฐอเมริกาที่ลามออกไปยังยุโรปเมื่อต้นทศวรรษนั้นก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นมา “พร้อมๆ กัน” ในอาการที่ส่อแสดงถึงการขยายตัวอย่าง “ยั่งยืน” ต่อไป

8 ตุลาคมที่ผ่านมา คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศคนใหม่ ที่เพิ่งเข้ารับหน้าที่แทน ลาร์การ์ด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะผู้นำสถาบันการเงินโลกแห่งนี้

สิ่งที่ จอร์จีวา บอกออกมา กลับเป็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่ ลาร์การ์ด เคยเชื่อมั่น เหมือนหน้ามือกับหลังมือยังไงยังงั้น

กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ คนใหม่บอกว่าจากข้อมูลของไอเอ็มเอฟในเวลานี้ เศรษฐกิจโลกที่เคยพร้อมใจกันแกว่งตัวขยับไต่ขึ้น กลับพลิกผันกลายเป็นภาวะ “ชะลอตัว” ลงพร้อมๆ กัน คิดเป็นสัดส่วนแล้วเท่ากับ 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก

Advertisement

ผลก็คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปีนี้จะลดลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มต้นทศวรรษนี้

อะไรคือสาเหตุ?

“เราเคยพูดกันมามากว่า ความขัดแย้งทางการค้านั้นเป็นอันตราย ตอนนี้ เราได้เห็นกันแล้วว่ามันก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นจริงๆ”

Advertisement

จอร์จีวาบอกหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภาวะชะลอตัวที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ออกมา ก่อนเพิ่มเติมว่า “เบร็กซิท” ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้หนักหน่วงมากขึ้น พอๆ กับความตึงเครียดระหว่างประเทศอื่นๆ ที่นักวิชาการเรียกกันว่าเป็นความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์

เมื่อความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนไม่เพียงยืดเยื้อ หากยังลุกลามขยายตัวออกไปเรื่อยๆ รายการสินค้าที่ต้องขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรครอบคลุมแทบจะหมดทุกรายการสินค้าที่ซื้อขายระหว่างกัน ผลลัพธ์ของสงครามการค้าก็แสดงออกให้เห็นได้ชัดเจน

ในสหรัฐอเมริกา ดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มลดลงด้วยเหตุที่การขึ้นภาษีนำเข้าทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีโรงงานผู้ผลิตอเมริกันที่ถูกจับตามองกันอย่างมากในฐานะตัวบ่งชี้ “สุขภาพ” เศรษฐกิจ ก็แสดงอาการชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกันในเดือนกันยายน ในขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศสำหรับสินค้าส่งออก ดิ่งลงอย่างชัดเจน

ในจีน หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรียอมรับเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า “ยากมาก” ที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 6 ถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์ เพราะ “สถานการณ์ซับซ้อนระหว่างประเทศ”

ปัญหาคือไม่เพียงคู่สงครามเท่านั้นที่ได้รับผลเสียหาย ประเทศอื่นๆ พาลเดือดร้อนตามไปด้วย

ตัวอย่างเช่น ยอดคำสั่งซื้อของโรงงานในเยอรมนีตกวูบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามีเงิน “น้อยลง” ในการลงทุนซื้อหาเครื่องจักรในการผลิตจากเยอรมนี ผลกระทบที่ตามมาคือการเข้มงวดการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งในที่สุดก็ลุกลามออกจากเยอรมนีส่งผลกระทบไปทั่วทั้่งยูโรโซน

คริสตาลินา จอร์จีวา บอกว่า ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในเวลานี้แสดงให้เห็นว่าการค้าโลกแทบจะ “หยุดนิ่้ง” แล้ว ส่งผลกระทบต่อการผลิต สะเทือนความมั่นใจในการลงทุน กระทบต่อเนื่องไปกระทั่งถึงภาคบริการ และพฤติกรรมการควักเงินออกมาจับจ่ายของผู้บริโภค

เธอชี้ให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้านี้ “อาจคงอยู่ไปถึงชั่วอายุคน” ระบบห่วงโซ่อุปทานต้องเปลี่ยนแปลง รื้อใหม่หมดเพราะบริษัทที่เคยผลิตสินค้าอยู่ในจีนต้องหาที่ใหม่เลี่ยงสงครามการค้า

ความขัดแย้งที่ลุกลามไปถึงเงื่อนปมช่วงชิงความเป็น “ผู้ครอบงำทางเทคโนโลยี” เหมือนเช่นกรณี 5จี จะก่อให้เกิด “กำแพงเบอร์ลิน(ยุค)ดิจิทัล” ขึ้นมา

บีบบังคับให้ประเทศอื่นๆ เลือกเอาว่าจะยืนอยู่ข้างไหนของกำแพง!

******

ก่อนหน้าที่ คริสตาลินา จอร์จีวา จะกล่าวปราศรัยครั้งแรกในฐานะกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ปรับลดประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปีนี้ว่า จะลดลงเหลือเพียง 1.2 เปอร์เซ็นต์ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา

เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก บอกออกมาพร้อมๆ กับ จอร์จีวา ว่า กำลังปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน

เมื่อเดือนมิถุนายน ธนาคารโลกประเมินการขยายตัวดังกล่าวไว้ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ ต่ำสุดในรอบ 3 ปี แต่ตอนนี้ยิ่งชะลอลงมากยิ่งขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นทั้งการค้า เบร็กซิท และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป

ไอเอ็มเอฟ เอง ประเมินเอาไว้ว่า เฉพาะความเสียหายที่เกิดจากสงครามการค้านั้นอย่างน้อยคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 700,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 0.8 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)รวมกันทั้งโลก

จำนวนดังกล่าวรวมถึงความเสียหายโดยตรงต่อธุรกิจและผู้บริโภค 200,000 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่รวมถึงสิ่งที่ จอร์จีวา เรียกว่า “เซกคันดารี เอฟเฟกต์” ผลเสียหายระลอกสอง ที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียความเชื่อมั่นและภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับตลาดต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอน และมหาศาลกว่าความเสียหายระลอกแรกอีกด้วย

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ จอร์จีวา ยืนยันกับบีบีซีว่า การออกจากอียู หรือ เบร็กซิท นั้น “เจ็บปวด” แน่นอน

นักการเมืองทั้งหลายจำเป็นต้องหาหนทาง “ปกป้อง” ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจากเบร็กซิท นั่นเป็นเรื่องแน่ แต่ “ทางเลือก” เพื่อใช้ปกป้องที่ว่านี้ในความเห็นของจอร์จีวา “จำกัด” มาก

เหลือเพียงแค่ “ถ้าไม่กู้เงินมา ก็ต้องขึ้น ภาษี” ให้ได้เงินมาใช้เพื่อการนี้

นั่นเป็นเรื่องที่จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศ แต่สิ่งที่จอร์จีวา เป็นห่วงมากกว่าคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปยังบรรดาประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้น้อยซึ่ง “พึ่งพา” ตลาดใหญ่อย่างสหภาพยุโรปและอังกฤษอยู่ในเวลานี้

เพราะเหตุว่า เบร็กซิท อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ ยิ่งเป็นเงื่อนไขสมทบกับปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอยู่ก่อนแล้ว

เรื่องนี้จึงไม่ใช่ “ข่าวดี” เลยแม้แต่นิดเดียวสำหรับจอร์จีวา

******

ภาวะ “ชะลอตัว” แม้จะยังคงเป็นภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวอยู่ แต่เป็นการขยายตัวเพียงเล็กน้อยมาก หรือช้ามาก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ นี่คือสัญญาณเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจ “ถดถอย” ซึ่งหมายถึงระดับการขยายตัวเป็นลบเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และภาวะเศรษฐกิจ “ตกต่ำ” อันเป็นภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างรุนแรง

“ชะลอตัว” ยังดีตรงที่ยังมีเวลาให้แก้ไข

ในทัศนะของไอเอ็มเอฟอัตราเงินเฟ้อต่ำ การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ ความจริงเอื้อต่อการใช้นโยบายการเงินโดยธนาคารกลางรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ แต่ในหลายประเทศเป็นปัญหา เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อยู่ก็ต่ำอยู่แล้ว หรือเป็นอัตราดอกเบี้ยติดลบด้วยซ้ำไปในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ “เครื่องมือ” นี้เป็นอันจำกัด หรือใช้ไม่ได้ในหลายประเทศ

นอกจากนั้น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟคนใหม่ยังเตือนด้วยว่า ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดปัญหาข้างเคียงในทางลบขึ้นตามมา นั่นคือเกิดการลงทุนเสี่ยงมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น

สถานการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ เมื่อเกิดการสั่งสมหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้วิธีการควบรวมกิจการ และการซื้อกิจการ แทนที่จะเป็นการลงทุน

ความเสี่ยงก็คือ หากเกิดเศรษฐกิจ “ถดถอย” ขึ้นมาจะเกิดการ “ผิดนัดชำระหนี้” หรือพูดง่ายๆ ว่า “ชักดาบ” เกิดขึ้นมหาศาลตามมา

จอร์จีวา ระบุว่า จากการวิเคราะห์ของไอเอ็มเอฟ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวมีหนี้ที่เสี่ยงต่อการเบี้ยวเกิดขึ้นมากถึง 19 ล้านล้านดอลลาร์

หรือคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณรวมของหนี้สินในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ๆ 8 ประเทศ

ประเทศไหนที่ใช้มาตรการทางการเงินไม่ได้ ก็ต้องหันมาใช้การแก้ปัญหาด้วยมาตรการด้านการคลัง เพิ่มการใช้จ่ายจากภาครัฐลงไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัว ภาวะดอกเบี้ยต่ำ มีส่วนเอื้อต่อการใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น

แต่โดยรวมทั่วโลกแล้ว หนี้ภาครัฐ ในยามนี้ก็ขยับสูงขึ้นแทบจะทำสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นในประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูงๆ ก็ควรรักษาวินัยด้านการคลังต่อไป

นั่นคือ มีบางประเทศที่ไม่สามารถใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อแก้ปัญหาภาวะชะลอตัวครั้งนี้

ได้แต่ปล่อยให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นถดถอยและตกต่ำในที่สุด

ประเทศไหนจะถูกหวย “สงครามการค้า” บวก “เบร็กซิท” ครั้่งนี้? และจะส่งผลสะเทือนมากน้อยแค่ไหน? คือคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image