รายงาน : 2491 ปฐมบทแห่งสัมพันธ์ ไทย-เมียนมา

หมายเหตุ“มติชน”ในบทความนี้มีการเขียนชื่อประเทศเมียนในหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการเขียนตามที่ปรากฎในหนังสือ โดยใช้คำว่า พม่า ในช่วงที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ และใช้คำว่า เมียนมา ในเหตุการณ์ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศแล้ว
///////

หากย้อนไปตั้งแต่ที่ไทยและพม่าได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2491 เริ่มจากเมื่อพระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไทย ซึ่งเป็น 1 ในผู้แทนรัฐบาลเพียง 12 ประเทศ ที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมในงานประกาศเอกราชของประเทศพม่า ณ กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491 ก่อนที่จะมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 สิงหาคมปีเดียวกัน นับจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็สืบเนื่องยาวนานเข้าสู่ปีที่ 71 แล้ว

ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา ไทยและเมียนมาได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลอง 70 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดงานเปิดตัวหนังสือที่ระลึก “2491 งานฉลองเอกราชพม่า ปฐมบทการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-พม่า” โดยหนังสือดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูลปฐมภูมิที่น่าสนใจในโอกาสสำคัญของการที่คณะผู้แทนไทยได้เดินทางเข้าร่วมในงานประกาศเอกราชของพม่า ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสานสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าในยุคใหม่ ที่สืบเนื่องยาวนานมาจนถึงขณะนี้

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลปฐมภูมิซึ่งเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของกระทรวงการต่างประเทศไทยและเมียนมา เช่น สาร หนังสือลงนาม โทรเลข และบันทึกการประชุมเข้าไว้ด้วยกัน โดยเป็นเอกสารที่ฝ่ายไทยและฝ่ายเมียนมาได้จัดทําขึ้นเพื่อประสานงานระหว่างกัน ทั้งยังเสริมด้วยข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้เนื้อหามีความครบถ้วนมากขึ้น และมีการเรียบเรียงด้วยการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยละเอียด ซึ่งรวมถึงการหาซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานเอกอัครราชทูตไทยในพม่าที่ได้กลายมาเป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตไทยในเมียนมาในปัจจุบัน รวมทั้งได้สอดแทรกเกร็ดความรู้ด้านพิธีการทูตในช่วงงานฉลองเอกราชของพม่าไว้พร้อมๆ กัน

Advertisement

นอกจากนี้ ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจําภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้เขียนบทความเรื่อง “กว่าจะเป็นพม่าสมัยใหม่” ซึ่งช่วยให้เห็นภาพของพม่าตั้งแต่ครั้งอดีตและการเปลี่ยนผ่านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ที่เป็นเมืองแห่งโอกาสและการค้าอันรุ่งเรืองร่ำรวย การเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษและการกำเนิดขึ้นของขบวนการชาตินิยมพม่า รวมถึงสนธิสัญญาปางหลวงและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความเป็นไปเป็นมาที่หล่อหลอมให้พม่าเรียกร้องเอกราชกลับคืนจากอังกฤษ และกลายเป็นประเทศเมียนมาที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวระหว่างเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ว่า นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2491 ไทยและเมียนมาได้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างต่อเนื่องทุกระดับและทุกมิติ ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความใกล้ชิดและแน่นแฟ้นอย่างมาก เมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศยังได้ประกาศยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partnership)” บนพื้นฐานของการมีพรมแดนทางธรรมชาติที่ติดกันยาวที่สุดถึง 2,401 กิโลเมตร และการมีผลประโยชน์ร่วมกันในทุกด้านเพื่อเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 70 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

Advertisement

นายดอนกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศยังได้จัดทําหนังสือเล่มนี้ขึ้นตามที่รัฐมนตรี เตช บุนนาค ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กรุณาแนะนําและสนับสนุนข้อมูลปฐมภูมิที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์การทูตของไทยกับเมียนมา และได้สละเวลาของท่านให้คําแนะนําที่เป็นประโยชน์แก่คณะผู้จัดทํา คําแนะนําของท่านได้มีส่วนสําคัญที่ทําให้หนังสือเล่มนี้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ และกลายเป็นหนังสือที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อีกเล่มหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องราวของพระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) ท่านปู่ของท่านรัฐมนตรีเตช ที่ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมงานวันประกาศเอกราชของพม่าในขณะนั้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนถึงมิตรจิตมิตรใจที่ผู้นําพม่ารู้สึกต่อไทยในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิด อันนํามาสู่การแลกเปลี่ยนสารสถาปนาสัมพันธไมตรีทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2491 และเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – เมียนมาอย่างเป็นทางการ

ด้านนายเตชกล่าวว่า แรงบันดาลใจในการจัดทำหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่ ยาใจ บุนนาค บุตรสาว ที่ปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่การทูตของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา กำลังเตรียมการจัดงานฉลองความสัมพันธ์สองประเทศ ทำให้ท่านระลึกได้ว่า รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ได้แต่งตั้งพระยาอภิบาลราชไมตรี ซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ และเป็นข้าราชการเกษียณในขณะนั้น เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไปเข้าร่วมในโอกาสสำคัญดังกล่าว ซึ่งพระยาอภิบาลราชไมตรีได้เขียนรายงานกลับมายังรัฐบาล ถือเป็นข้อมูลอันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่จะนำมาบอกเล่าให้คนได้ทราบถึงบรรยากาศของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรื่องราวในการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมา รวมถึงวิธีการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศในอดีตที่น่าสนใจซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบัน

ภายในงานเปิดตัวหนังสือดังกล่าวมีผู้ที่สนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับเมียนมาในหลายแวดวงมารวมตัวกัน ทั้งอดีตเอกอัครราชทูต นักการทูต นักวิชาการ ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนผู้ที่มีความสนใจมาเข้าร่วมกว่า 150 คน เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเอกสารที่จะช่วยให้เราได้มองย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา และยังประโยชน์ให้กับผู้ที่สนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา ได้เป็นอย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image