คอลัมน์ไฮไลต์โลก: “ยูเอ็น” รัดเข็มขัด แก้วิกฤตถังแตก

แฟ้มภาพรอยเตอร์

องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เป็นเสาหลักความร่วมมือระหว่างประเทศของนานาชาติทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมในหลายด้านตั้งแต่ความร่วมมือด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชน และการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ปัจจุบันยูเอ็นมีชาติสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ นับจากการก่อตั้งในปีค.ศ.1945 หรือหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ในแต่ละปียูเอ็นมีงบประมาณในการดำเนินงานตกปีละหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งงบประมาณเหล่านี้ก็มาจากเงินบริจาคสนับสนุนจากชาติสมาชิกนั่นเอง แต่ตอนนี้ยูเอ็นกำลังประสบปัญหาหนักจากภาวะขาดแคลนเงินสนับสนุนที่อาจถึงขั้นทำให้ไม่มีเงินเดือนจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ยูเอ็นจำนวน 37,000 คนภายในสิ้นเดือนนี้ได้

อันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการยูเอ็น ออกโรงเตือนถึงปัญหานี้เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน โดยชี้ว่านี่อาจจะเป็นวิกฤตเงินสดครั้งเลวร้ายที่สุดของยูเอ็นในรอบเกือบ 10 ปี ที่ทำให้อยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญเสียสภาพคล่องทางการเงินในสิ้นเดือนนี้และอาจทำให้ต้องผิดนัดจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่ยูเอ็น

เหตุที่ทำให้ยูเอ็นตกที่นั่งลำบากเช่นนี้ เป็นเพราะชาติสมาชิกหลายรายยังคงค้างจ่ายเงินบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของยูเอ็นในปีนี้ ที่แม้เลขาธิการยูเอ็นจะไม่ได้เอ่ยชื่อออกมาตรงๆว่ามีประเทศใดบ้าง โดยเพียงได้แต่ร้องขอให้ชาติสมาชิกที่ยังค้างจ่ายเงินสมทบตามหน้าที่ผูกพันที่มีต่อกัน ให้จ่ายเงินสมทบโดยด่วนก็ตาม

Advertisement

แต่แหล่งข่าววงในแย้มพรายออกมาว่ามีอยู่ราว 60 ชาติ ที่ยังไม่จ่ายเงินสมทบของปีนี้ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา เม็กซิโก อิหร่าน และโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ที่เป็นชาติบริจาครายใหญ่ที่สุดของยูเอ็น

รายงานข่าวระบุว่าไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในภารกิจรักษาสันติภาพของยูเอ็น งบประมาณดำเนินงานประจำปี 2018-2019 นี้ของยูเอ็น อยู่ที่ประมาณ 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยูเอ็นยังขาดแคลนงบดำเนินงานในปีนี้อยู่อีกราวๆ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนการบริจาคเงินสมทบในภารกิจรักษาสันติภาพของยูเอ็น ก็ประสบปัญหาล่าช้าเช่นกัน โดยมีรายงานว่าสหรัฐยังค้างจ่ายเงินสมทบในส่วนนี้ให้ยูเอ็นอยู่อีกราวๆ 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สภาพการเงินที่ตึงตัวเช่นนี้ เป็นผลให้เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ยูเอ็นได้เปิดมาตรการรัดเข็มขัดออกมาเพื่อประหยัดรายจ่ายที่มีอยู่ลง ที่มีตั้งแต่ ให้งดใช้บันไดเลื่อน ปิดเครื่องทำความร้อน ปิดบาร์เครื่องดื่มที่ให้บริการนักการทูตลงเร็วกว่าเดิม ลดการเดินทางโดยเครื่องบินและการจัดงานเลี้ยง คุมการจ้างงานเพิ่ม ลดการใช้เอกสารและล่าม หรือแม้กระทั่งเลิกใช้เครื่องทำน้ำเย็น

Advertisement

แคเธอรีน พอลลาร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงแผนกการจัดการของยูเอ็นบอกว่า “เราไม่มีทางเลือกจริงๆ” ที่ต้องใช้วิธีการเหล่านี้

ที่ยูเอ็นยังอาจจะต้องหาทางรัดเข็มขัดอื่นๆเพิ่มเติม จนกว่าชาติสมาชิกที่เหลือจะยอมจ่ายเงินบริจาคสมทบที่คงค้างอยู่ทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image