คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ใช้เทคโนโลยี “AR” ให้ความรู้เรื่อง “เพศศึกษา”

www.facebook.co,/datthinpone

คดีข่มขืนเด็กหญิงชาวเมียนมา วัยเพียง 3 ขวบ ที่เนอร์สเซอรีแห่งหนึ่งในประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมเมื่อช่วงต้นปี จุดความโกรธแค้นให้กับผู้คนในสังคมเมียนมาไปทั่วจนพากันลุกฮือขึ้นมาเดินขบวนเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเด็กหญิงผู้ตกเป็นเหยื่อ คดีนี้เกิดขึ้นท่ามกลางรายงานอัตราการเกิดคดีข่มขืนในประเทศเมียนมาที่พุ่งสูงขึ้นมากจาก 1,000 คดีในปี 2016 เป็นมากกว่า 1,500 คดีในปี 2018 ในจำนวนนี้เกือบ 2 ใน 3 มีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ

คดีข่มขืนเด็กหญิงรายนี้เป็นอีกมุมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการให้ความรู้ด้านเพศศึกษาที่ยังคงถูกมองข้ามหรือมีการให้ความสำคัญน้อยมากในสังคมอนุรักษ์นิยมอย่างเมียนมาที่เรื่อง “เพศ” ยังถูกมองเป็นเรื่องต้องห้ามที่จะมาพูดคุยกันแบบเปิดเผย

จากการมองเห็นถึงปัญหานี้ ทำให้ ฮลา ฮลา วิน อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ วัย 38 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม 360ed ขึ้นในเมียมา และเป็นหนึ่งในนักกิจการเพื่อสังคมจำนวน 40 คน ที่คว้ารางวัลจากเวทีเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม ในนครนิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากผลงานการปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนนับหลายแสนคนในประเทศเมียนมา ได้หันมาผลักดันที่จะนำเทคโนโลยี Augmented Reality (AR)หรือ เออาร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นำภาพเสมือนจริง มาใช้ในการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา โดยเชื่อว่าวิธีนี้น่าจะช่วยป้องกันปัญหาข่มขืนที่เป็นรูปแบบหนึ่งของปัญหาความรุนแรงทางเพศที่มีมากขึ้นในสังคมเมียนมาได้ทางหนึ่ง

ฮลา ฮลา วิน บอกว่าคดีข่มขืนเด็กหญิง วัย 3 ขวบ เป็นหลักฐานชัดเจนที่บ่งชี้ว่าเรากำลังขาดความรู้เรื่องเพศศึกษา ปัญหานี้ไม่เพียงเป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจของผู้เป็นพ่อแม่แตกสลาย แต่ยังเป็นสัญญาณร้องเตือนว่าเราไม่สามารถมองเรื่องเพศศึกษาเป็นสิ่งต้องห้ามอีกต่อไป โดยเธอเชื่อว่าเทคโนโลยี เออาร์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างมีประสิทธิผลได้

Advertisement

ก่อนหน้านี้กลุ่ม 360ed ได้ใช้ เออาร์ ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016 เป็นสื่อในการเรียนวิชาเคมีและชีววิทยาเพื่อช่วยให้เด็กมีความเข้าใจเนื้อหาวิชาที่เรียนได้ง่ายขึ้น แต่ในโปรเจ็กต์การเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา ภายใต้โครงการที่ใช้ชื่อว่า Bay Kin หรือ “ปลอดอันตราย” ของกลุ่ม 360ed ได้เริ่มดำเนินการในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีการจัดทำตำราเรื่องเพศศึกษา ที่มีทั้งในรูปแบบที่เป็นเอกสาร และรูปแบบ เออาร์ รวมถึงจัดทำเป็นการ์ตูน และ เกม เพื่อใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนเด็กด้านเพศศึกษาตั้งแต่เรื่องอวัยวะเพศไปจนถึงการตั้งครรภ์

ฮลา ฮลา วิน บอกว่าเธอในฐานะที่เป็นแม่และครู เธอมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานเรื่องนี้ เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่มีความอยากรู้อยากเห็น แต่เรายังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะสอนพวกเขาได้เรียนรู้ได้เข้าใจอย่างเห็นภาพได้ โครงการนี้ก็จะเป็นตัวช่วยหนึ่ง

นับจากเริ่มโครงการนี้มา มีโรงเรียนราว 100 แห่งแล้วที่เข้าร่วมกับ 360ed ในการใช้ตำราเรียนเรื่องเพศศึกษาและทางกลุ่มยังทำงานร่วมกับครูอีกจำนวนมากเพื่อที่จะใช้เทคโนโลยี เออาร์ ในการขยายการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาให้แผ่กว้างออกไปเพื่อเด็กจะได้มีความรู้ความเข้าใจและรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้าได้ดีขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image