คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ความซับซ้อนของเรื่องรักใคร่ในที่ทำงาน

แฟ้มภาพเอเอฟพี

เป็นข่าวฮือฮาเมื่อวานก่อน ประเด็นสมภารกินไก่วัด ที่ทำให้ “สตีฟ อีสเตอร์บรูก” ซีอีโอของ “แมคโดนัลด์” เครือข่ายธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดยักษ์ใหญ่ ถูกเด้งพ้นเก้าอี้ หลังจากเจ้าตัวยอมรับแต่โดยดีว่ามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับพนักงานในบริษัท ซึ่งถือเป็นการละเมิดนโยบายบริษัทที่มีกฎห้ามพนักงานคบหาออกเดทกันหรือมีความสัมพันธ์ทางเพศ แม้ว่าจะเป็นความยินยอมพร้อมใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็ตาม

กรณีของอีสเตอร์บรูก ไม่ได้เป็นกรณีแรกของบุคคลที่มีตำแหน่งใหญ่โต ที่ต้องสังเวย “รัก” ในที่ทำงาน ด้วยการร่วงหล่นจากเก้าอี้

ที่ผ่านมามีผู้บริหารระดับสูงหลายรายที่ต้องลาออกหรือถูกไล่ออก จากการทำผิดกฎบริษัทที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงชู้สาวในที่ทำงาน อย่างกรณีของ ไบรอัน ดันน์ ซีอีโอของ เบสต์บาย ห้างค้าปลีกสินค้าอิเลคทรอนิคส์รายใหญ่ของสหรัฐ ที่ลาออกไปในปี 2012 หลังถูกเปิดโปงว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ใต้บังคับบัญชาสาว วัย 29

อีกรายเป็นกรณีของ ไบรอัน คซานิช ซีอีโอของ อินเทล ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ ที่ลาออกในปีที่แล้ว เหตุละเมิดกฎบริษัทที่ห้ามมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพนักงานในองค์กร

Advertisement

หรือกรณีของ เคที ฮิลล์ ส.ส.หญิงรัฐแคลิฟอร์เนียจากพรรคเดโมแครต ที่ลาออกไปเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากเจ้าตัวออกมายอมรับว่ามีความสัมพันธ์กับทีมงานหาเสียงของเธอเอง

และยังมีอีกจำนวนมากทั้งในระดับผู้บริหารและพนักงานทั่วไป ที่ต้องสูญเสียหน้าที่การงานไป เหตุเพราะมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวในองค์กรหรือคนในที่ทำงานเดียวกัน

มีรายงานว่านับจากเกิดกระแส “#MeToo” จากเหตุที่มีเหยื่อสาวหลายคนออกมาแฉว่าตนเองตกเป็นเหยื่อที่ถูกนายฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ผู้กำกับดังแห่งวงการฮอลลีวูด ล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้สังคมอเมริกันเกิดความตื่นตัวถึงปัญหาคุกคามทางเพศและสิทธิความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจังมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจในสหรัฐส่วนใหญ่ โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ มีการกำหนดแนวปฏิบัติเรื่องความสัมพันธ์ของบุคลากรในองค์กรและนำมาบังคับใช้อย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีนี้

Advertisement

ผลสำรวจของ โซไซตี ฟอร์ ฮิวแมน รีซอร์ซ แมเนจเมนต์ (เอสเอชอาร์เอ็ม) พบว่า ในปี 2013 มีแรงงานในสหรัฐร้อยละ 42 ที่ทำงานอยู่ในบริษัทหรือองค์กรที่มีการกำหนดนโยบายทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เกี่ยวกับความสัมพันธ์รักใคร่ในสถานที่ทำงาน โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ป้องกันเรื่องการคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้นในองค์กรเท่านั้น แต่หากยังเป็นการป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการเลือกปฏิบัติด้วยความเสน่หาที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

จูลี มัวร์ ทนายความด้านสิทธิแรงงาน บอกว่า กฎระเบียบขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของบุคลากร ถูกนำมาพิจารณาปฏิบัติใช้ในหลายองค์กรมากขึ้น หลังเกิดกระแส #MeToo เพราะไม่ว่าจะความสัมพันธ์ใกล้ชิดดังกล่าว จะเป็นไปด้วยความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่ายหรือไม่ เรื่องนี้ยังคงถือเป็นประเด็นอ่อนไหวที่สามารถนำไปสู่ปัญหาการคุกคามทางเพศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นระหว่าง หัวหน้ากับหรือลูกน้อง หรือ ผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ที่มัวร์มองว่า ในอำนาจที่ไม่เท่าเทียม จะยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะในขณะที่อีกฝ่ายซึ่งเป็นระดับผู้บริหารที่มีอำนาจเหนือกว่า อาจมองในมุมของตนเองว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ว่าป็นความยินยอมของอีกฝ่าย แต่ฝ่ายที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ซึ่งยินยอมไป แต่อาจไม่ได้คิดเช่นนั้นจริงๆ ก็อาจจะมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในภายหลังได้

จริงๆ แล้วเรื่องรักใคร่ในที่ทำงาน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะคนในวัยทำงานส่วนใหญ่ เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมา ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ทำงาน การพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิด จึงย่อมเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าควรอยู่บนหลักความถูกต้องเหมาะสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image