วิเทศวิถี : “อาเซียน ซัมมิท 35” ลบภาพอดีต มุ่งสู่อนาคต

ไม่เกินจริงหากจะบอกว่าการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งถือเป็นการประชุมใหญ่ครั้งสุดท้ายในการเป็นประธานอาเซียนของไทยถือเป็นความสำเร็จที่น่ายินดียิ่ง

ประการแรก การประชุมที่ผ่านพ้นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ได้ช่วยลบ “ภาพจำ” ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในพัทยาเมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียนครั้งก่อน แม้ว่าการเมืองไทยในวันนี้จะไม่อยู่ในสถานะที่พูดได้เต็มปากว่านิ่ง แต่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็แสดงให้โลกได้เห็นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยไว้ได้เป็นอย่างดี แม้จะมีความพยายามก่อเหตุป่วนเมืองในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใดๆ เกิดขึ้นเลยในการประชุมครั้งนี้ ที่มีผู้นำจากประเทศคู่เจรจาไล่เรียงไปตั้งแต่ผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย รวมถึงผู้นำองค์การระหว่างประเทศอย่าง นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ และนางคริสตาลินา กอร์เกียว่า กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) มาร่วมหารือกับผู้นำอาเซียน

หากดูในแง่เนื้อหาของการประชุม สิ่งที่ได้รับความสนใจสูงสุดไม่พ้นการหารือเพื่อจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) ที่ได้มีการประกาศความสำเร็จในการเจรจาทั้ง 20 บท โดยผ่านความเห็นชอบจาก 15 ชาติ เว้นแต่อินเดียที่ยังคงมีประเด็นคงค้างในเรื่องการเปิดตลาด แต่ก็ไม่ได้ถือว่าปิดทางทั้งหมดเลยทีเดียว เพราะที่ประชุมยังให้เวลาสำหรับการหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป ระหว่างที่คณะเจรจาจะทำการขัดเกลาเนื้อหาในข้อกฎหมายเพื่อที่จะให้มีการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปกันได้ภายในปี 2563

ขณะที่หลายเสียงก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าหากที่สุดแล้วอินเดียตัดสินใจไม่เข้าร่วมในอาร์เซ็ป ก็เป็นอินเดียเองที่จะตกขบวน เพราะรู้กันอยู่เต็มอกว่าทุกวันนี้สงครามการค้ากำลังเขย่าโลก และทำให้ประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เศรษฐกิจอินเดียเองกำลังเผชิญกับปัญหาภายในพอสมควร จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ต้องการเวลาที่จะหาทางออกจากเสียงคัดค้านภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปรับองคาพยพหรือยกระดับภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของอินเดียให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดการค้าเสรี อย่างไรก็ดีแม้ตลาดอินเดียจะมีขนาดใหญ่ระดับพันล้านคน แต่ที่สุดแล้วหากอินเดียจะถอนตัวจากอาร์เซ็ป ก็เชื่อว่าหลายประเทศยังพร้อมที่จะลงนามในความตกลงดังกล่าวแบบไม่ลังเล

Advertisement

อีกหนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตา ย่อมเป็นการที่อาเซียนได้ตัดสินใจใช้รูปแบบ “ทรอยก้า” ในการประชุมกรอบสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 7 ด้วยการมีเพียงผู้นำไทยในฐานะประธานอาเซียนปัจจุบัน ผู้นำเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนในอนาคต และผู้นำลาวในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-สหรัฐในปัจจุบัน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ส่ง นายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติมาร่วมประชุมแทน โดยอีก 7 ประเทศที่เหลือมีเพียงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมประชุม

การตัดสินใจดังกล่าวไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของอาเซียน แต่ยังเป็นการส่งสัญญานโดยนัยไปยังสหรัฐซึ่งลดระดับหัวหน้าคณะผู้แทนที่เดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดกับอาเซียนตั้งแต่ปีก่อนว่า แม้ความร่วมมือระหว่างกันจะมีความสำคัญ แต่เราก็ให้เกียรติสหรัฐเท่าที่สหรัฐให้เกียรติกับอาเซียน แม้ทรัมป์จะแก้เกี้ยวด้วยการเชิญผู้นำอาเซียนให้ไปร่วมประชุมสมัยพิเศษที่สหรัฐในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าก็ตามที หากมองให้ดีแล้ว อีกทางหนึ่งการกระทำดังกล่าวยังถือว่าเป็นการให้เกียรติแก่ผู้นำชาติต่างๆ ที่เดินทางมาร่วมประชุมกับอาเซียนด้วยตนเองอีกด้วย

Advertisement

การตัดสินใจไม่เดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐในครั้งนี้ยังเป็นการส่งสัญญานที่ผิดว่าสหรัฐไม่ให้ความสำคัญกับอาเซียน ทั้งที่อาเซียนเพิ่งให้การรับรองเอกสาร “แนวคิดอินโด-แปซิฟิก” ของอาเซียน ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ฝ่ายสหรัฐเองก็พยายามผลักดันมาหลายปีไปในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่อย่างที่โลกเห็นกัน การดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ ไม่ได้มุ่งเน้นการรักษาบทบาทนำของสหรัฐในเวทีโลก แต่เป็นการให้ความสำคัญกับการลดทอนอิทธิพลของจีนในด้านต่างๆ ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมมองไหน การตัดสินใจไม่มาร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ไม่ได้ช่วยให้สหรัฐสามารถบรรลุเป้าหมายในเชิงบวกใดๆ ได้เลย

แม้แต่เวทีของคู่สมรสของผู้นำที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ก็ยังมีการจัดกิจกรรมเสวนาเชิงวิชาการในเรื่อง “การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านการบริหารจัดการขยะ” ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่สร้างสรรค์และร่วมสมัย จากเดิมที่จะเน้นไปที่การเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์ หรือชมสถานที่ที่น่าสนใจในประเทศเจ้าภาพเป็นหลัก

เมื่อหันมาดูการจัดประชุมในกรอบอาเซียนของไทยตลอดทั้งปี ก็จะเห็นถึงการสอดแทรกแนวคิดในการจัดการประชุมที่สะท้อนถึงความใส่ใจและสอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งสอบรับกับแนวคิดหลักในการจัดประชุม “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ได้อย่างงดงาม ทั้งในเอกสารต่างๆ ที่ได้มีการรับรองในการประชุมถึง 46 ฉบับในหลายกรอบการประชุม มีประเด็นที่ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างความเชื่อมโยง สิทธิเด็ก และสมาร์ทซิตี้ ไปจนถึงการจัดงานที่ใส่ใจภายใต้แนวคิด “กรีน มีตตี้ง” และเปิดโอกาสให้กับคนทุกกลุ่มในสังคม ด้วยการร่วมมือกับเครือข่ายภาคเอกชน

ภายในห้องนักข่าวมีการจัด “กรีน คาเฟ่” ที่รวบรวมความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ร้านกาแฟอเมซอนที่นำเอาบาริสต้าหูหนวกมาคอยให้บริการเครื่องดื่ม การนำช็อกโกแล็ตจากโครงการ 60+ ที่ใช้ต้นโกโก้ที่ปลูกในไทยและมีฝึกผู้พิการให้มีอาชีพในการผลิตช็อกโกแลตมาให้ชิมและจำหน่าย การนำผลิตภัณฑ์แบรนด์ “ตานี” ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติอย่างกาบกล้วยและให้น้องๆ ที่เป็นเด็กออทิสติกมาร่วมวาดรูปประกอบของสยามพิวรรธน์ การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านด้วยการให้ความช่วยเหลือในการออกแบบสินค้าภายใต้ชื่อแบรนด์ “Good Goods” ของกลุ่มเซ็นทรัล การนำเสนอผลงานผ้าปักที่เป็นฝีมือของคนตาบอดจาก “โครงการปักจิตปักใจ” ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปพลาสติกมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ใหม่ ทั้งเสื้อผ้า ผ้าคลุมไหล่ ไปจนถึงกระเป๋าและเก้าอี้ ของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี ที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกที่มาเข้าร่วมทำข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้อย่างล้นหลาม แถมยังเพิ่มความใส่ใจด้วยการนำหมอนวดจากกระทรวงสาธารณสุขมาคอยให้บริการนวดหลังบ่าไหล่และมือให้กับนักข่าว เรียกได้ว่าเป็นการโปรโมทนวดแผนไทยที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกใจคนทำงานเป็นอย่างยิ่ง

แม้จะมีพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้าให้กับเวียดนามไปแล้ว แต่การทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เป็น 1 ปีที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับไทย และเป็น 1 ปีที่เราได้พิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ปัญหาในไทยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองมากมายเช่นในอดีตที่ผ่านมา และไทยพร้อมจะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีโลกต่อไป

REUTERS

มีอีกหนึ่งประเด็นที่อดจะพูดถึงไม่ได้ เพราะเห็นมีกระแสในโลกโซเชียลที่วิพากษ์วิจารณ์พิธีมอบฆ้อนประธานอาเซียนให้กับเวียดนามในช่วงท้ายการประชุม โดยคำวิพากษ์วิจารณ์พุ่งเป้าไปยังผู้ที่ถือฆ้อนไปมอบให้กับพล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นสตรีชาวมุสลิม ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงไม่ให้หญิงแต่งชุดที่สะท้อนถึงความเป็นไทยขึ้นไปทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งทำให้เห็นถึงแนวโน้มที่มาพร้อมกับโลกโซเชียลในปัจจุบัน ที่ไม่ว่าใครต่อใครก็พร้อมจะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดๆ ที่ได้เห็นและรู้สึกขัดใจ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ก็ตามที

ในความเป็นจริง ผู้ที่ทำหน้าที่ส่งมอบฆ้อนให้กับพล.อ.ประยุทธ์ คือข้าราชการในกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำหน้าที่ดูแลในด้านพิธีการในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้งในระหว่างการเป็นประธานอาเซียนของไทย ภาพที่ปรากฎแสดงให้เห็นถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของไทยที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติและเปิดรับทุกศาสนา เพราะประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคนที่อยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายอันงดงาม

ในฐานะคนไทย เราควรเปิดใจกว้างและยินดีที่เราอยู่ในสังคมที่ไม่แบ่งแยกเช่นนี้มิใช่หรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image