ใครคืออิสโก โมเรโน?

อิสโกเกิดในเขตทอนโดของกรุงมะนิลา ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตที่จนที่สุดและมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในโลก ช่วงชีวิตวัยรุ่นของเขาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการเดินเก็บขยะหา “แพ็คแพ็ค (pagpag)” ซึ่งแปลตรงตัวว่าอาหารเหลือที่นำมาทอดใหม่อีกครั้งซึ่งหาได้จากกองขยะ

ย่านชุมชนแออัด โมริออนเนส เขตทอนโดที่อยู่อาศัยของคนจนในมะนิลา ย่านที่ โมเรโนเติบโตขึ้นมา

ปัจจุบันฟรานซิสโก โมเรโน โดมาโกโซ อายุ 49 ปีแล้วหรือที่ประชาชนฟิลิปปินส์รู้จักเขาในนามว่า “อิสโก โมเรโน” วันนี้เขาเป็นนายกเทศมนตรีแห่งกรุงมะนิลา

การถีบตัวเองจากเด็กมอมแมมข้างถนนสู่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวจากในภาพยนตร์เท่านั้น แต่นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของเขาจริง ๆ และยิ่งเป็นชาวฟิลิปปินส์ด้วยแล้วการเข้าสู่การเมืองนั้นอยู่ไม่ไกลเลย

Advertisement

อิสโกถูกค้นพบในเขตทอนโดโดยแมวมองในช่วงเริ่มต้น จากนั้นเขาก็ได้รับบทในซีรี่ส์ทางโทรทัศน์และบทในภาพยนตร์มากมายที่ช่วงให้เขาแจ้งเกิด และจากนั้นไม่นานเขาก็ดังระเบิด

แต่เขาก็ไม่เคยหลงลืมว่าเขาเติบโตมาจากที่ไหนและไม่เคยลืมบทเรียนต่าง ๆ ที่เขาได้รับจากตอนที่เขาเป็นเด็ก “ผมโตมาท่ามกลางอาชญากรและพวกติดยา ผมโตมาข้างถนนน ผมมีชีวิตที่ยากลำบากตั้งแต่เกิดมาเพื่อที่จะได้เข้าใจชุมชนของเราในวันนี้ พระเจ้าทรงมีหลายวิธีมาก ๆ ในการที่จะสอนคุณ พวกคุณทุกคนได้เห็นแล้วว่าที่อยู่ของผมเป็นอย่างไรตอนนี้ แต่เมื่อก่อนนั้นบอกเลยว่ามันสภาพเหมือนนรกเลยล่ะครับ ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าชีวิตผมเกิดมาเพื่ออะไร และผมก็คิดกับตัวเองว่า ‘โอ้พระเจ้า เมื่อไรความทุกข์ทรมานเหล่านี้จะสิ้นสุดเสียที?’ แต่หลังจากนั้นผมก็ได้พบคำตอบ เพราะผมโตมาเป็นมายกเทศมนตรีและตอนนี้ผมเข้าใจเหตุผลแล้วว่าทำไมตอนเด็ก ๆ ผมถึงต้องเผชิญกับความลำบากเหล่านั้นด้วย”

และเขตทอนโดเองก็ยังคงจำ—และรักชายคนนี้

Advertisement

กิบโบ คนงานท่าเรือ อายุ 50 ปี ผู้ที่กล่าวว่าเขาโตมากับอิสโกในเขตโมริออนเนส (Moriones) ของทอนโด เล่าติดตลกว่า เขาเองก็อยู่เคียงข้างอิสโกในวันนั้นที่อิสโกเริ่มโด่งดังแรก ๆ กิบโบเล่าให้ “ทีมเล่าเรื่อง” ฟังว่าสิ่งต่าง ๆ ในโมริออนเนสอาจจะไม่ได้รับการพัฒนาทันทีในชั่วข้ามคืน “โยร์เม (Yorme)” (คำสแลงตามท้องถนน แปลว่า “นายกเทศมนตรี”) เพียงแค่ต้องไม่หยุดพัฒนา และต้องพยายามหลีกเลี่ยงในการที่จะเป็น “นิงกัส คูกอน (ningas kugon)” ซึ่งหมายความว่า “ท่าดี-ทีเหลว” กล่าวคือ อย่าเริ่มต้นมาเสียดิบดีแต่สุดท้ายกลายเป็นว่าน่าผิดหวัง

“กิบโบ” เพื่อนตั้งแต่วัยเด็กของ อิสโก โมริโน

เส้นทางสู่อำนาจของอิสโกเป็นอะไรที่ตั้งใจและแน่วแน่มาตลอด เขาสร้างแรงกระเพื่อมโดยการได้เป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดของสภามะนิลา ขณะที่เขาอายุได้ 23 ปี (พ.ศ. 2541-2550) และได้เป็นรองนายกเทศมนตรีขณะที่เขาอายุได้ 32 ปี (พ.ศ. 2550-2559) โดยได้มีโอกาสทำงานทั้งภายใต้รัฐบาลของอัลเฟรโด ลิม (Alfredo Lim)  และโจเซฟ “อีรับ” เอสตราดา (Joseph “Erap” Estrada) โดยคนหลังเป็นประธานาธบดีที่กลายมาเป็นนายกเทศมนตรี

แม้ว่าอิสโกจะไม่ประสบความสำเร็จในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปีพ.ศ. 2559 และได้รับตำแหน่งเล็ก ๆ ในรัฐบาลของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต แต่สุดท้ายแล้วอิสโกก็กลับมาเอาชนะ “อีรับ” ได้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการชนะอย่างถล่มทลายที่ช่วยให้เขาได้รับสมญานามว่า “อิสโกผู้ฆ่ายักษ์”

แม้จะเพิ่งเริ่มทำงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรีได้เพียง 100 วัน อิสโกก็ได้กลายเป็นผู้ที่เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่คลั่งไคล้ในวงการเมืองของฟิลิปปินส์เสียแล้ว การปรากฏตัวของเขาในสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเฟซบุ๊ก (Facebook) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศฟิลิปปินส์เป็นอะไรที่ไม่สามารถต้านทานได้เลย โดยตอนนี้เขาได้รับจำนวนไลก์ (likes) แล้วกว่า 1.8 ล้านครั้งและยังคงได้รับการกดไลก์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงเขาได้ทำการไลฟ์ (ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก) แล้วกว่า 263 ครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน เรื่องที่เขาไลฟ์มีตั้งแต่การประชุมอย่างเป็นทางการทั่วไปไปจนถึงการเข้าไปตรวจเยี่ยมการทำงานของตำรวจโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าหรือแม้แต่การไปพบทันตแพทย์ของเขาเอง

อิสโกมองว่าการปรากฏตัวของเขาเองในสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากในการปกครองของเขา “ผมไลฟ์เพื่อแสดงให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ เห็นว่ารัฐบาลควรที่จะยังคงทำหน้าที่ต่อไปแม้ในขณะที่ประชาชนหลับ สิ่งนี้ช่วยให้ประชาชนรู้สึกว่ามีหน่วยงานหรือใครสักคนที่ช่วยตรวจตราและรักษาความปลอดภัยให้กับเมืองนี้ และแน่นอนมันทำให้พวกตำรวจบางคนที่ขี้เกียจนอนไม่หลับกันเลยทีเดียว และผมจะไม่หยุดทำแบบนี้ครับ”

อิสโก โมเรโน เจ้าของฉายา “นายกเทศมนตรีเซลฟี” อวดฝีมือเซลฟีกับทีมเรื่องเล่า

และแน่นอนอิสโกไม่ได้ใช้เวลาทั้งหมดของเขาไปกับการโพสต์ข้อความและไลฟ์รัว ๆ ลงหน้าฟีดในเฟซบุ๊กของประชาชนเท่านั้น เขาจริงจังอย่างมากที่จะคืนชีวิตให้แก่ประชาชนกว่า 1.78 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในมะนิลา

มีอะไรต้องทำอีกหลายอย่าง หลายพื้นที่ของมะนิลาตอนนี้มีชื่อเสียงในแง่ลบในเรื่องของความเสื่อมโทรม

บินอนโด (Binondo) และคิอาโป (Quiapo) ซึ่งแต่ก่อนนั้นเป็นหัวใจของเขตไชน่าทาวน์ของมะนิลาและเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ตอนนี้กลับการจราจรแออัดมาก ๆ และร้านรวงก็ปิดไปเยอะ เมืองที่มีมาก่อนสงครามและร่ำรวยอย่างเอร์มิตา (Ermita) และ มาลาเต (Malate) ตอนนี้กลายเป็นเมืองที่เหม็นอับและซอมซ่อ หลอกหลอนไปด้วยการค้าประเวณีและการท่องเที่ยวที่สกปรก

อิสโกแต่งงานกับไดอานา ลินน์ ดิตัน (Dian Lynn Ditan) และมีบุตรด้วยกัน 5 คน เขาได้เข้าสู่ตำแหน่งและเริ่มงานอย่างแข็งขัน เขาทำงานอย่างรวดเร็วด้วยความกระตือรือร้น และด้วยความพยายามที่จะแก้ไขปัญหารถติดตลอดกาลของมะนิลาเขาได้จัดการและลงโทษบรรดาร้านค้าที่ขายของบนถนนอย่างผิดกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตช้อปปิ้ง ดิวิซอเรีย (Divisoria) ซึ่งร้านค้าบางเจ้าได้รับการย้ายให้ไปลงที่อื่น

เขาได้ประกาศห้ามขายแอลกอฮอล์ในพื้นที่ระยะ 200 เมตรรอบ ๆ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และประกาศบังคับใช้เคอร์ฟิวสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างเข้มงวดในช่วงเวลาตั้งแต่ 22:00 น. – 4:00 น.

“พวกเราพยายามที่จะให้การศึกษา ให้พื้นที่โล่งสีเขียว และให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยในแนวดิ่ง และพวกเราก็พยายามที่จะแก้ปัญหาการจราจร การท่องเที่ยว และธุรกิจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือประชาชน อะไรมาก่อนสิ่งอื่น ๆ เสมอน่ะหรือ? ทรัพยากรมนุษย์ยังไงล่ะ”

อิสโกได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญที่เขาได้ไล่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่ามาตรฐานออก เขาเล่าให้ “ทีมเล่าเรื่อง” ฟังว่า “ผมปลดเจ้าหน้าที่ไป 9 นายในช่วง 3 สัปดาห์แรก[ที่ผมเข้ามาทำงาน] เพราะเจ้าหน้าที่พวกนี้ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง และนี่คือเหตุผลที่ประชาชนเป็นห่วงถึงเรื่องความปลอดภัยของผม แต่แล้วยังไงอะครับ? นี่ไม่ใช่เหรอที่เรียกกันว่า ‘อันตรายในอาชีพ (occupational hazard)’ มันเป็นส่วนหนึ่งของงานครับ”

อย่างไรก็ตาม ต่างจากประธานาธบดีดูเตร์เตผู้ที่นับวันจะยิ่งก้าวร้าวขึ้นเรื่อย ๆ อิสโกนั้นไม่นิยมวิธีการที่สุดโต่ง เขาอธิบายให้ฟังว่า “อาชญากรที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจำนวนมากนั้นถูกจับเป็น ไม่จับตาย เพราะผมเคารพสิทธิมนุษยชนและเคารพกระบวนการทางกฎหมายที่เหมาะสม พวกเราหนักแน่นในการบังคับใช้สิ่งต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องมั่นใจว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายไม่ใช้อำนาจที่ได้รับมาในทางที่ผิดในการจับกุมอาชญากร”

ความตื่นเต้นและความนิยมที่มีต่อนายกเทศมนตรีคนนี้นั้นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมาก ตอนนี้ไปถึงหูของกลุ่มผู้นำทางธุรกิจหลายคนของฟิลิปปินส์ ซึ่งบางคนได้เดินทางมายังมะนิลาแล้ว เช่น เทสซี ซี (Tessy Sy) ของยักษ์ใหญ่แห่งการค้าปลีกอย่างเอ็สเอ็ม (SM) และ เฟอร์นานโด โซเบบ (Fernando Zobel) ของ อยาลา คอร์ปอเรชั่น (Ayla Corporation)

ทั้งยังมีการสนทนากันถึงการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี พ.ศ. 2565 โดยมีอิสโกเป็นตัวแทนผู้ท้าชิง ชนกับประธานาธิบดีดูเตร์เตที่ดูเหมือนจะต้านทานไม่ได้ เสียด้วย

เป็นเรื่องดึงดูดใจที่ได้เห็นการขึ้นมาได้รับความนิยมของอิสโก ซึ่งไม่เพียงขนานไปกับประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์อย่างดูเตร์เต แต่ยังขนานไปกับอดีตนายกเทศมนตรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้โด่งดังอีกคนนั่นก็คือโจโก วิโดโด (หรือ “โจโควี”) ซึ่งปัจจุบันคือประธานาธิบดีของอินโดนีเซียอีกด้วย

ชายทั้ง 3 คนนั้นมาจากภายนอกวงการชนชั้นนำทางการเมืองของชาติตนเอง และเป็นที่รู้จักจากการบริหารบ้านเมืองโดยการยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

แม้ว่าในครั้งนี้ “ทีมเล่าเรื่อง” จะไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับอิสโกถึงความมุ่งมั่นของเขาที่อยากจะเป็นประธานาธิบดี แต่อิสโกก็ได้กล่าวว่า เขาชื่นชมความมุ่งมั่นตั้งใจของประธานาธิบดีโจโควีในการปกป้องอธิปไตยของอินโดนีเซียในการเผชิญหน้ากับจีน โดยกล่าวว่า “นั่นคือวิธีการที่คุณจะปกป้องประเทศของคุณ”

ดูเหมือนว่านายกเทศมนตรีของมะนิลากำลังปูเส้นทางเข้าสู่อำนาจ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เคยใช้กันมาหลายต่อหลายครั้งแล้วในอดีต และนักวิจารณ์อาจจะพูดว่าอะไรแบบนี้ใคร ๆ เขาก็ทำกันมาหมดแล้ว

เช่นเดียวกับดูเตร์เต อิสโกนั้นหนักแน่นและเข้มงวด แต่สิ่งที่ทำให้อิสโกแตกต่างจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ ในฟิลิปปินส์ ก็คือความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อผู้อื่น ความติดดิน และความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะยกระดับศักดิ์ศรีของประชาชนของเขา

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งนั้นจะสร้างความแตกต่างอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image