คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ลูกสะใภ้ตัวอย่างแดนกิมจิ!

ภาพรอยเตอร์

เอ็มมา ซูมัมปง หญิงชาวฟิลิปปินส์ วัย 48 ปี ต้องจากบ้านเกิดมาไกล เพื่อมาใช้ชีวิตครอบครัวกับ อี บยอง โฮ ผู้เป็นสามีในประเทศเกาหลีใต้ หลังจากทั้งสองได้แต่งงานกันผ่านบริการจัดหาคู่ของโบสถ์ในฟิลิปปินส์

การมาใช้ชีวิตครอบครัวในเกาหลีใต้ เอ็มมา ไม่เพียงทำหน้าที่ดูแลสามี เลี้ยงลูก 3 คน ทำงานบ้าน ปลูกผัก และทำงานพิเศษเพื่อช่วยหาเงินอีกทาง เธอยังต้องคอยดูแลแม่สามีที่ชราภาพและแทบจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกด้วย

การรับบทบาทหนักทั้งในฐานะภรรยา แม่ และ ลูกสะใภ้ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทำให้สังคมรอบข้างมองเห็น และทำให้เธอกลายเป็นหญิงต่างชาติที่ได้รับรางวัล ลูกสะใภ้ดีเด่น จากสมาคมสวัสดิการครอบครัวของเกาหลีใต้ไปเมื่อกลางปีนี้

เอ็มมา เป็นหนึ่งในผู้หญิงต่างชาติหลายหมื่นคนที่เป็นภรรยาอิมพอร์ตและอพยพย้ายถิ่นมาอยู่กับสามีในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางแนวโน้มที่ผู้หญิงเกาหลีไม่อยากแต่งงานมีครอบครัวกันมากขึ้น เหตุเพราะไม่เห็นด้วยกับความคิดแบบเดิมๆ ในสังคมที่ให้ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างเกาหลีใต้ ซึ่งคาดหวังว่าผู้หญิงไม่เพียงจะต้องดูแลสามีและลูกเท่านั้น แต่จะต้องคอยดูแลพ่อแม่ของสามีด้วย นั่นทำให้ผู้หญิงเกาหลียุคใหม่มักจะปฏิเสธการมีชีวิตครอบครัวกันมากขึ้น

Advertisement

ดูได้จากผลสำรวจของทางการเกาหลีใต้ที่พบว่า ในปีที่แล้วมีสาวโสดชาวเกาหลีเพียงร้อยละ 22.4 ที่คิดว่าการแต่งงานเป็นเรื่องจำเป็น ลดลงจากจากร้อยละ 46.8 ในปี 2010 ขณะที่เกาหลีใต้ยังจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก ที่ยังมีการคาดการณ์ว่าเกาหลีใต้จะเผชิญระเบิดเวลาทางประชากรศาสตร์ภายในปี 2030 ที่เกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศจะมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ท่ามกลางการโอบอุ้มจากภาครัฐเพียงเล็กน้อย ทำให้มีความวิตกกังวลกันมากขึ้นว่าแล้วใครจะเป็นผู้ดูแลประชากรผู้สูงอายุถ้าไม่ใช่ครอบครัว

ปัญหาอันน่าห่วงกังวลนี้ยิ่งเป็นที่น่าวิตกมากขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่กลุ่มคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้หญิง บ่ายหน้าเข้ามาทำงานใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่มากขึ้น ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ชายเกาหลีในพื้นที่ต่างจังหวัดที่จะหาผู้หญิงมาแต่งงานและช่วยแบ่งเบาภาระในครอบครัวด้วย

พัค อิน ซอง หนุ่มใหญ่วัย 48 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ที่กำลังป่วย บอกเล่าว่า ไม่มีผู้หญิงเกาหลีคนไหนอยากจะมาแต่งงานกับผู้ชายอย่างเขา ที่หมายความว่าฝ่ายหญิงจะต้องทำหน้าที่ดูแลแม่ของเขาไปด้วยโดยอัตโนมัติ นั่นทำให้เขาต้องพึ่งบริษัทจัดหาคู่ให้ช่วยหาเจ้าสาวให้

Advertisement

มีข้อมูลว่ามีผู้หญิงต่างชาติเดินทางมาแต่งงานกับผู้ชายชาวเกาหลีในประเทศเกาหลีใต้ราว 260,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชาวจีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่มักหนีความยากจนในถิ่นเกิดของตนเองมา ซึ่งผู้หญิงที่แต่งงานข้ามเชื้อชาติข้ามวัฒนธรรมเหล่านี้มาก็มีทั้งที่โชคดีและอาจโชคไม่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเรียนรู้และยอมรับให้ได้คือขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของคนเกาหลีที่ได้เกริ่นมาแต่แรกว่า ผู้ชายเป็นใหญ่ ฝ่ายหญิงผู้เป็นภรรยาจึงต้องเคารพและเชื่อฟังสามี เช่นเดียวกับที่ เอ็มมา ปฏิบัติอยู่

ต่อประเด็นนี้ ฮยอนจู นาโอมิ ชี อาจารย์ภาควิชานโยบายสาธารณะ แห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโดในประเทศญี่ปุ่น มองว่าการตั้งรางวัลที่แบ่งบทบาทด้านเพศเป็นสำคัญอย่างรางวัลลูกสะใภ้ดีเด่น ราวกับจะบอกว่าหน้าที่ของการดูแลครอบครัว เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรจะต้องทำ และการมอบรางวัลลูกสะใภ้ดีเด่นเช่นนี้ให้กับภรรยาที่เป็นหญิงต่างชาติ ก็ยิ่งเป็นเรื่องน่าขัน เพราะดูต้องการจะสื่อว่าการเป็นภรรยาคนเกาหลี คุณจะต้องเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งนี่อาจทำให้สาวเกาหลียุคใหม่ไม่อยากแต่งงาน เพราะไม่ได้อยากเป็นสะใภ้ตัวอย่าง มาพันธนาการตัวเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image