กต.ยันไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ให้ราคา ‘บุหงารายา’ พูดเวทียูเอ็น

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศตอบข้อซักถามกรณีปรากฏคลิปนายฮาซัน ยามาดีบุ ผู้แทนองค์กรบุหงารายา ไปกล่าวในเวทีสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า การประชุมยูเอ็นว่าด้วยชนกลุ่มน้อย (UN Forum on Minority Issues) เป็นเวทีเสวนาประเด็นชนกลุ่มน้อย ภายใต้กรอบคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council-HRC) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้การประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน มีหัวข้อหลัก คือ “การศึกษา ภาษา และสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อย”
น.ส.บุษฎีกล่าวว่า การประชุมตลอดทั้ง 2 วันกล่าวถึงประเด็นการเรียนการสอนภาษาของชนกลุ่มน้อยในภาพรวม วิทยากรและผู้เข้าร่วมการประชุม เป็นการเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วม ไม่ใช่เฉพาะผู้แทนภาครัฐ ได้หยิบยกกรณีของประเทศต่างๆ หลายสิบประเทศ โดยไม่ได้เน้นกรณีของไทย
“นายฮาซัน ยามาดีบุ ผู้แทนองค์กร Bungaraya Group for Education หรือบุหงารายา ไม่ใช่ผู้อภิปรายหรือวิทยากร แต่เป็นหนึ่งในผู้แทนภาคประชาสังคมจำนวนมากที่เข้าร่วมเวทีเสวนา โดยเมื่อวิทยากรอภิปรายจบแล้ว ประธานได้ให้โอกาสผู้เข้าร่วมกล่าว นายฮาซันเป็นหนึ่งในผู้แทนภาคประชาสังคมที่กล่าวซึ่งใช้เวลา 2 นาที โดยที่การประชุมในกรอบสหประชาชาติมีการถ่ายทอดผ่านเว็บไซต์ จึงเป็นที่มาของคลิปที่เห็น”น.ส.บุษฎีกล่าว
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สิ่งที่นายฮาซันกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จึงเป็นเรื่องที่ต้องชี้แจง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมาชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนแล้ว ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศจะชี้แจงกับประธานร่วมของเวทีเสวนาและผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิของชนกลุ่มน้อย โดยจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อบูรณาการข้อมูล จัดส่งให้ประธานและผู้เสนอรายงานพิเศษรับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อไป
น.ส.บุษฎีกล่าวอีกว่า ในกรอบใหญ่ในประชาคมระหว่างประเทศ ประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องการเป็นสังคมพหุนิยมที่เคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และเผ่าพันธุ์ แม้แต่ผู้แทนขององค์การความร่วมมืออิสลาม(โอไอซี) ที่ไปลงพื้นที่ดูงานในจังหวัดชายแดนใต้หลายครั้งหลายหนก็ได้แสดงความยอมรับและชื่นชม
น.ส.บุษฎียืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องอัตลักษณ์ และได้สนับสนุนงบประมาณโรงเรียนตาดีกา สถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนมาโดยตลอด ตามที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงแล้ว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image