“กรมยุโรป” จัดสัมมนาอาเซม พัฒนาคนเพื่อความเชื่อมโยงดิจิทัลที่ยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการสัมมนาซึ่งเป็นความร่วมมือในกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซมขึ้น ภายใต้หัวข้อ “การสัมมนาอาเซมยกระดับทรัพยากรมนุษย์เพื่อความเชื่อมโยงดิจิทัลอย่างยั่งยืน” ขึ้น โดยมีผู้รู้และผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสมาชิกอาเซม องค์การระหว่างประเทศ ตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมเป็นวิทยากรในเวทีที่จัดขึ้นอย่างหลากหลายและน่าสนใจ

นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจัดการสัมมนาดังกล่าวขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นเป็นเวทีที่จะหารือกันเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัลอย่างยั่งยืนร่วมกันระหว่างสองภูมิภาค ด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือแนวทางความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซม และยังเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ทำให้เกิดผลสำเร็จในการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากร วางแนวทางในการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ตลอดจนการมองหาโอกาสเข้าถึงตลาดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 12 ทั้งยังเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ที่ต้องการเสริมสร้างความยั่งยืนและความเชื่อมโยงในทุกมิติอีกด้วย

ศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์

นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการสัมมนาโดยย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ โดยคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียและยุโรปมีความสำคัญในด้านความมั่นคง สันติภาพ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเอเชียและยุโรปที่จะได้หารือถึงแนวทางที่เอเชียและยุโรปจะมีความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญเป็นลำดับแรก ในการเตรียมความพร้อมต่างๆ สำหรับประชาชน เพื่อรับมือกับความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล จำเป็นที่ประเทศต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประชาชน รวมถึงต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับประชาชนสำหรับอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ยังเสนอให้เอเชียและยุโรปร่วมมือกันในการส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อใจระหว่างกัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลทางดิจิทัลร่วมกันต่อไป

วาระแรกของการสัมมนาเป็นกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนระดับสูง ในหัวข้อ “Digital Transformation Trends – What should Asia and Europe Change for Sustainable Digital Connectivity?” โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างเอเชียกับยุโรปที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล

Advertisement

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ได้กล่าวถึงแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเอเชียกับยุโรปเพื่อรับมือกับความท้าทายที่มาพร้อมกับยุคสมัยดิจิทัลในด้านต่าง ๆ โดยเน้นย้ำความสำคัญที่ทุกคนต้องมีโอกาสได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางด้านการศึกษาเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในอนาคต และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมถึงการพัฒนาในมิติอื่นๆ อาทิ การสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ

นายเบียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป(อียู)ประจำประเทศไทย กล่าวถึงความเชื่อมโยงทางดิจิทัลว่าเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงยุโรป-เอเชียในภาพรวม ซึ่งมีเป้าหมายคือการพัฒนาความเชื่อมโยงที่มีความครอบคลุมและยั่งยืน โดยตั้งอยู่บนรากฐานของกฎและมาตรฐานที่แต่ละประเทศตกลงร่วมกัน สหภาพยุโรปเชื่อมั่นว่าความเชื่อมโยงที่ครอบคลุมและยั่งยืนนี้จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาค นำประโยชน์มาสู่ประชาชน นอกจากนี้ยังจะช่วยผลักดันให้ภูมิภาคประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย แต่แน่นอนว่าความห่วงกังวลเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ก็มีความสำคัญ เช่นเดียวกับการรักษาบรรยากาศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ ทั้งนี้การสร้างความเชื่อมโยงถือเป็นประเด็นที่เปรียบได้กับ “ดีเอ็นเอ” ของอียู และจะเป็นสิ่งที่อียูให้ความสำคัญสูงสุดในฐานะพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต

นายกิล เอส. เบลทราน ปลัดกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ กล่าวถึงประสบการณ์ของฟิลิปปินส์ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการหลั่งไหลของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การใช้ GCash หรือการจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัลที่ช่วยดันธุรกิจการจ่ายเงินผ่านมือถือให้เติบโตขึ้นอย่างมาก การการจัดตั้ง TradeNet Platform เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าและบริการ การนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมการทำงานของภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัลเพื่อให้ประชาชน ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน ที่สุดแล้วภาครัฐและภาคธุรกิจจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี นวัตกรรม โลกดิจิทัล แบะอี-คอมเมิร์ซ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

Advertisement

การจัดสัมมนาย่อยหัวข้อแรก “Bridging the Digital Skills Gap – Towards a Digital Literated Society in Asia and Europe” มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนจากหลายประเทศเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาบุคลากรสาขาดิจิทัลให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลกในอนาคต ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันภาครัฐจะต้องพึ่งพาภาคเอกชนในลักษณะ public-private partnership มากขึ้น ประเด็นที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแอพลิเคชั่น เช่น Gojek และ e-platform ต่าง ๆ ในการพัฒนาและจัดหาทรัพยากรบุคคลให้แก่บริษัทอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การวางแผนรับมือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่ทุนมนุษย์ในอนาคตด้วย

ส่วนการจัดสัมมนาย่อยในหัวข้อที่สอง “Accessing the Digital Marketplace – Towards an Open Innovative Digital Global Economy” ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA หน่วยงาน Cyberspace Administration ของจีน กระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ และภาคเอกชนจากบริษัท DTAC บริษัท LinkAja และบริษัท Shopee ได้แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซม และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการกำหนดนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและตลาดดิจิทัล รวมถึงความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีดิจิทัล นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการสัมมนายังได้หารือเกี่ยวกับบทบาทของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โอกาสและความท้าทายของ FinTech รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบธนาคารในอนาคต และการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง และผู้ประกอบการรายใหม่ในการใช้แพลตฟอร์มด้านอี-คอมเมิร์ซในการพัฒนาธุรกิจและการตลาด

การจัดสัมมนาย่อยในหัวข้อที่สาม “Towards Sustainable Digital Connectivity and Security in Asia and Europe” ผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก บริษัท Microsoft ในประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนัก State Information Systems ของเอสโตเนีย ผู้แทนจาก DG CONNECT ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และผู้แทนจากสำนักเลขาธิการโอเอสซีอี ได้แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ และเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาความเชื่องโยงทางดิจิทัล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและคำแนะนำผ่านประสบการณ์ของผู้แทนจากประเทศยุโรปในเรื่องของความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน ในด้านของความมั่นคงทางไซเบอร์ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการให้ความรู้และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่สาธารณชน โดยเฉพาะเยาวชนจากภัยของการใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง(hate speech) และข่าวปลอม(fake news)

การสัมมนาครั้งนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมรับฟังมากกว่า 270 คนแล้ว ยังจะมีการนำผลการสัมมนาครั้งนี้ไปรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 14 ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 15-16 ธันวาคมนี้ ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน รวมถึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพื่อการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนกับประเทศสมาชิกอาเซม ภายใต้กรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเชีย-ยุโรป ซึ่งได้กำหนดให้ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงเป็นประเด็นหลักในการหารือร่วมกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image