รายงานพิเศษ : 3 ทศวรรษ การทูตไทยบนเวทีพหุภาคี

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา เรื่อง “สามทศวรรษการทูตไทยบนเวทีพหุภาคี ผลสำเร็จ อุปสรรค และความท้าทาย” เนื่องในโอกาสครบ 67 ปีของการก่อตั้งคณะ โดยมีนักการทูตชั้นครูอย่างนายเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตหลายประเทศ และนายนรชิต สิงหเสนี อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมบรรยาย

นายเตชได้เริ่มต้นโดยเล่าถึงผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการทูตพหุภาคีของไทยอย่างพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือเสด็จในกรม ซึ่งได้เป็นประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 11 ในปี 2499 ว่าเป็นผลสำเร็จสูงสุดของการทูตพหุภาคีของไทยที่เคยมีมา และยังเคยเป็นผู้รายงานพิเศษของการประชุมที่เมืองบันดุงในปี 2498 และร่างเอกสารซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด(นาม)ในยุคต่อมา ทั้งยังเป็นประธานคนแรกของการประชุมเรื่องอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (อันคลอส) ในปัจจุบัน พระองค์เป็นวีรบุรุษนักการทูต เป็นที่เคารพรักมากที่สุดและเป็นคนไทยที่มีความสามารถที่ทั่วโลกรับรอง นับตั้งแต่นั้นมาเรายังไม่เห็นนักการทูตไทยคนใดที่ประสบความสำเร็จในระดับพหุภาคีและระดับโลกที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในนครนิวยอร์กอีกเลย

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการทูตพหุภาคีเป็นเรื่องที่ยากกว่าการทูตทวิภาคีซึ่งเป็นเรื่องสองประเทศมาก เพราะการทูตพหุภาคีคือเรากำลังพูดกับทั้ง 193 ประเทศ ฉะนั้น คนที่จะสามารถโน้มน้าวคนทุกประเทศในโลกได้ต้องเก่งจริงในระดับพระองค์วรรณ

เหตุที่เราไม่สามารถผลิตบุคลากรอย่างพระองค์วรรณขึ้นมาได้อีก เพราะพระองค์มีประสบการณ์ทางการทูตมากมายถึงกว่า 52 ปี ซึ่งข้าราชการในปัจจุบันไม่สามารถมีได้ ท่านยังเป็นผู้มีศักดิ์ มีการศึกษาสูง รู้ภาษาทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส ละติน และสันสกฤต ซึ่งในโลกปัจจุบันคนไม่มีการศึกษาทั้งกว้างขวางและลึกซึ้งอย่างท่านแต่มีความรู้เฉพาะทางแคบลง สืบเนื่องจากฐานันดรศักดิ์ของพระองค์ ท่านจะรับสั่งอย่างไรก็ได้ รัฐบาลก็จะทำตามและสนับสนุนพระองค์ แต่เมื่อเราเป็นทูตก็ต้องรอคำสั่งซึ่งท่านไม่ต้องรอแต่สามารถตัดสินใจได้เลย

Advertisement

อย่างไรก็ดี การทูตพหุภาคีนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทูตทวิภาคีมันไม่พอแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็คือการทำงานร่วมกันในภูมิภาคร่วมกับประเทศในอาเซียน ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันก็มาจากเวทีพหุภาคีทั้งสิ้น ไม่ว่าการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ปัญหาด้านการบินจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ความท้าทายสำคัญสำหรับไทยคือเราต้องมีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับการทูตพหุภาคีให้มากขึ้น และต้องมีการประสานงานในประเทศให้มีความชัดเจนเพื่อให้เรามีท่าทีที่ชัดเจนและแน่นอนให้ทูตไทยในเวทีพหุภาคีสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างทันการณ์ ขณะเดียวกันเราต้องมีทัศนคติและเจตนารมณ์แห่งความเป็นสากล และใช้เวทีการทูตระหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของเราโดยเฉพาะ

ด้านนายกษิตกล่าวว่า บทบาทของเราในเรื่องการทูตพหุภาคีเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการทูตพหุภาคีกับการทูตทวิภาคีเป็นเรื่องที่ต้องไปควบคู่กัน บางเรื่องต้องว่ากันทั้งสองเวที ดังนั้น ท่าทีของเราต้องมีความสม่ำเสมอและต้องไปในทิศทางเดียวกัน ในฐานะที่เคยเป็นอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักของหน่วยงานไทย มองว่าการประสานงานที่กรุงเทพฯมีความสำคัญมาก เราต้องมีท่าทีด้านนโยบายของรัฐบาลมาผสมผสานกับท่าทีขององค์ความรู้เฉพาะทางด้านเทคนิควิชาการของกระทรวงเฉพาะทางที่ดูแลเรื่องนั้นๆ อยู่ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจะดูในภาพรวมและชี้นำให้แนวทางในเรื่องต่างๆ

บริบทของโลกในขณะนี้เปลี่ยนไปจากในอดีตในยุคสงครามเย็นที่การกำหนดท่าทีของไทยทำได้ไม่ยากเพราะจุดยืนเราคือต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หลังจากนั้นโลกของเราไร้พรมแดนเพราะเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูลข่าวสารไปได้อย่างรวดเร็ว การทูตพหุภาคีก็เปลี่ยนแปลงไปเพราะโลกไม่มีพรมแดน ไม่รอเวลา การประสานงานกับต่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทุกหน่วยงานต้องเร่งสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นไปในโลกมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ พรรคการเมือง และรัฐบาล

Advertisement

สิ่งที่ไทยประสบความสำเร็จในเวทีการทูตพหุภาคีคือ การรณรงค์หาเสียงในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกของ คุณศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งได้รับหน้าที่เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) ในเวลาต่อมา แต่ปัญหาคือองค์ความรู้ในสังคมไทยเกี่ยวกับการทูตพหุภาคีไม่กว้างขวาง จึงควรมีการเปิดเวทีในสื่อให้ประชาชนเข้าใจประเด็นปัญหาระหว่างประเทศว่าความเป็นไปในโลกกับในพื้นดินมันไม่ได้แยกจากกัน ดังนั้น เราต้องมีจิตใจที่เป็นสากล เพราะไม่ว่าจะมีนโยบายดีอย่างไร ถ้าประชาชนและส่วนราชการไม่เข้าใจก็ไปไม่ได้

ที่ห่วงที่สุดคือการหดตัวของไทยเข้ามาอยู่ในเปลือกหอย ไม่อยากให้ไทยเป็นเหมือนสหรัฐหรือจีนที่มองเข้ามาข้างใน ชาตินิยม ขาดความเป็นสากล เพราะไทยเป็นประเทศที่มองออกไปข้างนอกมาตลอดตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ไทยเราเปิดรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่วันนี้เราบอกมีความเป็นไทย ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าบวกหรือลบไม่ได้ทั้งนั้น ไม่อยากให้ผู้นำมีความแคบในหัวใจ เพราะเราเป็นประเทศเปิดและมีส่วนร่วมในเวทีโลกมาตลอด

นายนรชิตกล่าวว่า การทูตพหุภาคีเป็นเรื่องที่มีคนนึกถึงน้อย แต่ในอนาคตนับวันการทูตพหุภาคีจะยิ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น และจะมีผลกระทบกับประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ช่วงที่ผ่านมา เราจะไม่สามารถผลิตบุคลากรได้เช่นดังพระองค์วรรณ แต่ก็มีผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นในเวทีโลกทั้งคุณศุภชัยและคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ ในฐานะเลขาธิการอาเซียน ซึ่งยังมีการกล่าวถึงในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เราต้องผลิตบุคลากรและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

ความท้าทายในอนาคตคือท่าทีของเราต้องชัดเจน มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่รัฐบาลนี้เอาอีกรัฐบาลหนึ่งไม่เอา ขณะเดียวกันเราต้องหาสิ่งที่เป็นความโดดเด่นเฉพาะของเราให้ได้ เราจำเป็นต้องมีการประสานงานระหว่างกระทรวง ไม่ใช่แค่เรื่องท่าทีเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเรื่องคนที่สมัครในตำแหน่งต่างๆ การมีทีมไทยแลนด์ไม่ใช่แค่ในต่างประเทศ แต่เราต้องมีทีมไทยแลนด์ในประเทศไทยด้วย

ผู้ร่วมฟังบรรยายได้ตั้งคำถามถึงการดำเนินนโยบายทางการทูตของไทยในยุคที่รัฐบาลถูกมองว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเป็นไปอย่างไร นายเตชกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้การทูตไม่เหมือนการเมืองภายในคือ การทูตเป็นเรื่องที่มักจะไม่มีพรรคและไม่มีการเมือง ทุกประเทศจะคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ดูว่าผลประโยชน์ของประเทศอยู่ตรงไหน ประเทศไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร นโยบายต่างประเทศจึงไม่ใช่เรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะ บางช่วงเรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง บางช่วงก็เป็นรัฐบาลทหาร สำหรับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เราไม่เคยคำนึงถึงเรื่องนี้ แต่เรากำลังทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย แน่นอนว่าสำหรับตะวันตกบางประเทศ ถ้าเผื่อเรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง การทำงานก็จะง่ายขึ้น แต่ที่สุดถ้าพิจารณาดู ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือสหภาพยุโรปเขาก็รู้ดีว่าประเทศไทยและประชาชนไทยจะยังคงอยู่ต่อไปไม่ว่าเราจะเป็นรัฐบาลที่มาหรือไม่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม

นายกษิตกล่าวว่า เราต้องยอมรับว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2475 ไทยมุ่งมั่นปรารถนาที่จะเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา แต่กระบวนการประชาธิปไตยก็มีขึ้นมีลงเป็นระยะ จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องขับเคลื่อนไป คนไทยวันนี้เราอยู่กับรัฐบาลทหารเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ชี้แจงว่าเมื่อเป็นรัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่าน เรามีเสถียรภาพและความสงบเรียบร้อยบนท้องถนน แต่สิทธิเสรีภาพก็ต้องพักไว้บ้าง คนที่ออกมาพูดไม่สร้างสรรค์ก็มีแค่ไม่กี่คน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแม้สถานการณ์จะเป็นเช่นนี้แต่ทุกฝ่ายก็ยังมีช่องทางที่จะพูดจากันได้และยังเพียรพยายามหาทางออกให้กับบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ส่วนการคบใครเป็นทางเลือก เรายังเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ แม้จะหงุดหงิดไปหารัสเซียและจีน ที่สุดต้องคิดว่าความมั่นคงของเราอยู่ตรงไหน แต่เราควรจะเอาเนื้อหามาดูด้วย จะบอกว่าเขาวิจารณ์เราไม่ได้ แล้วไปหาคนที่เขาเอาของเล่นมาหลอกเรา อันนั้นใช้ไม่ได้

นายนรชิตกล่าวว่า ในต่างประเทศไม่เห็นเขาว่าอย่างไรกับวิธีการเพราะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในของไทย เพียงแต่รอว่าไทยกำลังจะจัดการเลือกตั้งและกลับสู่ประชาธิปไตยเมื่อไหร่ เราอยู่ในประเทศ ได้ยินทูตอะไรพูดสักทีก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต แต่ความจริงข้างนอกเขาไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้ เช่นเดียวกับเรื่องยูพีอาร์ มันไม่ได้เจาะจงจะพูดถึงไทยเพราะเรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่มันเป็นการทบทวนตามรอบ ที่สำคัญมันไม่เกี่ยวกับรัฐบาล หลายอย่างคือเรื่องที่ข้าราชการประจำทำอยู่และไม่ค่อยถูกต้อง หากไปดูจะเห็นว่าประเทศตะวันตกก็พอๆ กัน ที่พูดไม่ได้แก้ต่างแทนรัฐบาลชุดนี้ แต่ถ้าใครบอกว่าเราถูกวิจารณ์เพราะรัฐบาลก็ขอให้ทราบว่ากำลังถูกเขาหลอก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image