คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : รังเพื่อการเรียนรู้ของผู้ลี้ภัย ที่”ซีซารูอา”อินโดนีเซีย

This picture taken on May 31, 2016 shows refugee children attending a pioneering school in Cisarua, West Java, in the mountains south of Jakarta, where refugees from war-torn corners of the globe are banding together to educate their children. The school, which marked its one-year anniversary in March, has become a source of immense pride among the migrant community in hilly Cisarua, once a key transit point on the largely closed people-smuggling route to Australia. / AFP PHOTO / BAY ISMOYO / TO GO WITH Indonesia-migration-refugee-education-UN,FEATURE by Nick Perry

บนเทือกเขาที่เมือง ซีซารูอา จังหวัดชวาตะวันตกของอินโดนีเซีย มีโรงเรียนอยู่โรงเรียนหนึ่งซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป เพราะโรงเรียนแห่งนี้ อ้าแขนต้อนรับเด็กๆ ที่เป็นพวก “ผู้ลี้ภัย” เท่านั้น

โรงเรียนแห่งนี้มีชื่อว่า “เรฟูจี เลิร์นนิ่งเนสต์” หรือรังเพื่อการเรียนรู้ของผู้ลี้ภัย เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้ลี้ภัย ที่ต่างต้องหนีออกจากบ้านเมืองของตัวเอง จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ และที่สุดแล้ว ก็ได้มาพักพิง ณ ที่แห่งนี้ ด้วยความฝันที่อยากจะได้เรียนเหมือนกับคนอื่นๆ กลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยเหมือนกับตัวเองได้เรียนหนังสือเหมือนเด็กทั่วไป

อย่างเช่น มาห์บูบ จาฟารี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ และเป็นผู้ลี้ภัยสงครามจากอัฟกานิสถาน ปัจจุบันอายุ 19 ปีทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ พร้อมกับครูอาสาสมัครกว่า 20 คน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ลี้ภัยมาก่อนทั้งสิ้น

มีสอนทั้งวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ และศิลปะ ให้แก่เด็กอายุ 6-18 ปี

Advertisement

โรงเรียนแห่งนี้เปิดมาครบรอบ 1 ปี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวบ้านในเมืองซีซารูอา ที่ครั้งหนึ่งเมืองนี้เคยเป็นเพียงแค่จุดพักสำหรับการลักลอบขนคนไปยังประเทศออสเตรเลีย

แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นแหล่งให้ความรู้แก่เด็กๆ ที่ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนอยู่ 58 คน ซึ่งมีทั้งมาจากประเทศอัฟกานิสถาน อิหร่าน ปากีสถาน อิรัก และศรีลังกา โดย นายอับบาส ฮุสไซนี หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียน เปิดเผยว่า เด็กนักเรียนจะถูกแบ่งชั้นเรียนตามอายุและความสามารถ ขณะที่เด็กบางคนก็ไม่เคยได้รับการเรียนหนังสือมาก่อนเลย ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่

แม้จะไม่ค่อยมีเงินทองมากเท่าไหร่ แต่บรรดาอาสาสมัครต่างก็พยายามหาหนทางเพื่อการเรียนการสอนที่ดีให้แก่เด็กๆ อย่างเช่น หนังสือเรียน ก็ไปยืมมาจากห้องสมุดเล็กๆ แห่งนี้ ส่วนการออกกำลังกาย บรรดาผู้ปกครองของเด็กๆ ก็ช่วยกันสร้างสนามขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆ ได้เตะฟุตบอลกัน

Advertisement

หลังจากที่เด็กๆ เรียนเสร็จในช่วงบ่าย พ่อแม่ของเด็กๆ ก็จะมาเรียนภาษาอังกฤษกันที่โรงเรียนแห่งนี้ต่อ ซึ่งเป็นวิชาที่บรรดาครอบครัวผู้ลี้ภัยอยากจะเรียนมากที่สุด เนื่องจากต้องเรียนไว้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศอื่นๆ อย่างแคนาดา นิวซีแลนด์ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา

ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนเร่ร่อนหาที่พักพิง ไม่ต้องพูดเรื่องเรียนหนังสือ แค่จะมีที่หลับที่นอนหรืออาหารให้กินก็ยากแล้ว และปัจจุบัน มีเด็กลี้ภัยที่ต้องอยู่ตามบ้านมากกว่าอยู่ตาม “โรงเรียน”

ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยก็ช่วยสร้างความหวังอันยิ่งใหญ่ให้เด็กเหล่านี้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image