รายงานพิเศษ : รอบโลก รอบปี 2019

(Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP)

ปี 2019 ถือเป็นอีกปีหนึ่ง ที่มีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่การประท้วงที่ฮ่องกง อิรัก ชิลี เลบานอน

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องสงครามการค้า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงกันอย่างมาก นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐที่ยังไม่ลงรอยกันง่ายๆ ขณะที่ภัยธรรมชาติยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของพายุไต้ฝุ่นต่างๆ และไฟป่ารุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ และสร้างความเสียหายอย่างหนัก

มติชนรวบรวมบางส่วนของเรื่องราวเหล่านี้ เป็นสรุปข่าวรอบโลกประจำปี 2019

**ประท้วงฮ่องกง

Advertisement
(AP Photo/Vincent Yu)

คงไม่มีใครคิดว่า การชุมนุมประท้วงบนเกาะฮ่องกง ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี จะยืดเยื้อมาถึงช่วงปลายปี โดยยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า จะยุติลงอย่างไร

การชุมนุม มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่สำนักความมั่นคงฮ่องกง ได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน หลังเกิดเหตุชาวฮ่องกงคนหนึ่ง ไปฆ่าแฟนสาวของตัวเองที่ไต้หวัน และหลบหนีกลับมาฮ่องกง โดยไม่ถูกดำเนินดคี เนื่องจากไม่มีข้อตกลงเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับไต้หวัน จนนำไปสู่การเสนอให้แก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยอนุญาตให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และมาเก๊าได้

(Photo by Nicolas ASFOURI / AFP)

หากแต่ชาวฮ่องกงส่วนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ จึงเกิดเป็นการนัดรวมตัวกันเพื่อประท้วงกฎหมายดังกล่าว จำนวนผู้คนที่ออกมารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่เหตุรุนแรงที่ตามมา ในการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ประท้วง

Advertisement

แม้ว่าในวันที่ 23 ตุลาคม 2019 สภานิติบัญญัติฮ่องกง จะมีมติเพิกถอนร่างกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว หากแต่การชุมนุมประท้วงก็ยังคงเดินหน้าต่อไป และเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การใช้กระสุนจริงของเจ้าหน้าที่ และการปิดสนามบินฮ่องกง เนื่องจากผู้ชุมนุมได้บุกเข้าไปภายในสนามบิน จนทำให้ไม่สามารเปิดให้บริการได้ตามปกติ

ขณะที่ข้อเรียกร้องจากการถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีน ก็ถูกเปลี่ยนไป กลายเป็นการเรียกร้องให้นางแคร์รี หล่ำ ลงจากตำแหน่งผู้นำฮ่องกง การสอบสวนการที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ประท้วง รวมไปถึงการให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปอย่างสมบูรณ์

จนถึงตอนนี้ แม้ว่าดูเหมือนการประท้วงจะมีความรุนแรงน้อยลง หากแต่ก็ยังมีการออกมารวมตัวกันอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่รุนแรงหากแต่ก็ยังมีการชุมนุมแสดงจุดยืนกันอยู่เรื่อยมา

**ไฟป่าแอมะซอน

REUTERS/Bruno Kelly

ป่าแอมะซอน ป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ถูกเรียกว่าเป็น “ปอดของโลก” เนื่องจากถือว่าเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์หลักของโลก ซึ่งมีพื้นที่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในประเทศบราซิล และกระจายไปอยู่ในอีกหลายประเทศ เผชิญกับไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุด ตั้งแต่ต้นปี 2019 และลุกลามรุนแรงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จนกลายเป็นเหตุไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของป่าแอมะซอน

โดยที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ หรือจี7 ได้ประกาศมอบเงินกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการในการต่อสู้กับไฟป่าแอมะซอน

REUTERS/Bruno Kelly/

นอกเหนือไปจากไฟป่าแอมะซอนแล้ว ก็ยังมีไฟป่าแคลิฟอร์เนีย ที่รุนแรงจนต้องอพยพผู้คนหลายหมื่นคน และสร้างความเสียหายจำนวนมาก

ส่งท้ายปี ก็ยังมีไฟป่าที่ออสเตรเลีย ที่ลุกลามเป็นวงกว้าง ที่นอกเหนือจากจะกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในป่าแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในนครซิดนียื เมืองใหญ่สุดของออสเตรเลีย เนื่องจากเกิดหมอกควันพิษจำนวนมาก

**ไฟไหม้มหาวิหารนอเทรอดาม

REUTERS/Benoit Tessier

มหาวิหารนอเทรอดาม ศาสนสถานโบราณเก่าแก่ในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเส ที่มีอายุถึง 850 ปี เกิดไฟไหม้ใหญ่ขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2019 ระหว่างการบูรณะซ่อมแซมอาคาร
ภาพของยอดมหาวิหารที่หักโค่นลงมา กลายเป็นอีกหนึ่งภาพที่หลายๆคนยังคงจดจำได้ และกลายเป็นอีกหนึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่

นอกเหนือจากมหาวิหารนอเทรอดามแล้ว ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็มีรายงานการเกิดเพลิงไหม้โบราณสถานสำคัญ อย่างปราสาทชูริ ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้เป็นมรดกโลก ด้วยอายุที่เก่าแก่กว่า 600 ปี

**“ไต้ฝุ่นฮากิบิส”พัดถล่มญี่ปุ่น

Kyodo/via REUTERS

อีกหนึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ของปีนี้ ไต้ฝุ่น “ฮากิบิส” หรือไต้ฝุ่นหมายเลข 19 ที่พัดถล่มญี่ปุ่น เมื่อต้นเดือนตุลาคม และได้ทวีกำลังแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกหนักและลมกระโชกแรง รวมถึงน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ต้องมีการสั่งอพยพผู้คนหลายล้านคน และมีผู้เสียชีวิตอีกหลายสิบราย กลายเป็นอีกหน้าหนึ่งของภัยธรรมชาติครั้งร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

REUTERS/Kim Kyung-Hoon

**สงครามการค้า

REUTERS/Aly Song

สงครามการค้า ในปี 2019 เริ่มจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสูงถึงร้อยละ 25 สำหรับการนำเข้าสินค้าจากจีน ตั้งแต่เมื่อปี 2019 หลังจากนั้น จีนก็มีการตอบโต้ ขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐเช่นกัน เมื่อมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจโลกมีปัญหากัน ผลกระทบจึงเกิดต่อเศรษฐกิจโลกอย่างใหญ่หลวง เกิดเป็น “สงครามการค้า” ขึ้นมา และยังลุกลามไปจนถึงเรื่องของการทำธุรกิจกับ “หัวเว่ย” ที่กระทบหนักไปถึงผู้บริโภคที่ใช้สินค้าของหัวเว่ยอีกต่างหาก

กระนั้นก็ตาม ปลายปีก็ยังพอมีข่าวดีว่า สหรัฐและจีน สามารถตกลงเห็นชอบร่วมกันในเรื่องข้อตกลงการค้าในเฟสแรกแล้ว ที่ครอบคลุมการระงับและลดกำแพงภาษี และให้จีนสามารถเพิ่มการซื้อสินค้าจากสหรัฐ เพื่อลดความรุนแรงในเรื่องพิพาททางการค้าระหว่างสองประเทศ

ถือเป็นข่าวดี (เบาๆ) สำหรับปลายปีอย่างนี้ และเชื่อว่า นักลงทุนทั้งหลายก็หวังว่า สองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก จะคุยกันดีๆได้ต่อไปในปีหน้า

**พิษบุหรี่ไฟฟ้า

(Photo by EVA HAMBACH / AFP)

หลังจากที่ “บุหรี่ไฟฟ้า” ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน แต่ปีนี้ พิษของบุหรี่ไฟฟ้าดูเหมือนจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่ เนื่องจากมีรายงานผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่มีการระบุว่า มีโรคระบาดใหม่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า

สาเหตุที่แท้จริงนั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เบื้องต้นเชื่อว่า มาจากสาร “ทีเอชซี” สารออกฤทธิ์ที่ก่อให้เกิดอาการเมา ที่พบในกัญชา ซึ่งในน้ำยาสำหรับบุหรี่ไฟฟ้าบางชนิด มีส่วนผสมของทีเอชซีอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า พบ วิตามินอี อะซีเตท อยู่ในเซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยสูงมาก ซึ่งวิตามินอี อะซีเตท เป็นสารประกอบทางเคมีประเภทไขมัน ที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายตั้งข้อสมมุติฐานไว้ว่า เป็นไปได้ที่การสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะส่งผลให้สารนี้เข้าไปเคลือบเนื้อปอดในปริมาณมากจนก่อให้เกิดปัญหาในการทำหน้าที่ฟอกเลือด ด้วยการนำออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไปแทนที่คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดเดิม ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบขึ้น เมื่อปอดอักเสบ เซลล์ภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหา ด้วยการโจมตีวิตามินอี อะซีเตท ให้แตกตัวออก จนพบสะสมเป็นปริมาณมากในเซลล์ภูมิคุ้มกันดังกล่าว

แต่ก็ยังต้องรอผลการศึกษายืนยันที่แน่ชัด ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

**เบร็กซิท การออกที่ยังไม่ได้ออก

(Photo by Tolga AKMEN / AFP)

การถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือเบร็กซิท ที่แต่เดิมกำหนดเส้นตายไว้วันที่ 31 ตุลาคม 2019 แต่กลับต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2020 อันเนื่องมาจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในรัฐบาลอังกฤษ ตั้งแต่การที่นางเทเรซา เมย์ ต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่รับรองร่างกฎหมายเบร็กซิท มาจนถึงนายบอริส จอห์นสัน ที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดเบร็กซิทได้ตามกำหนด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image