2019 มวลชนลุกฮือ ทวงสิทธิ-ต้านโกง-ลบเหลื่อมล้ำ-ป้องโลก

ปี 2019 เราได้เห็นหลายพื้นที่ทั่วโลกเกิดการลุกฮือของมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้บนท้องถนน ตั้งแต่ในฮ่องกง ลามไป บาร์เซโลนา ลาปาซ กีโต เบรุต แบกแดด ซานติอาโก และอีกหลายต่อหลายเมือง โดยมีเหตุปัจจัย วิถีทาง และเป้าหมายในการออกมาชุมนุมเรียกร้องหรือสะท้อนในสิ่งที่พวกเขาต้องการที่อาจคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริบทของสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศที่มีอยู่เฉพาะตัว หากแต่ในการเคลื่อนไหวของมวลชนเหล่านั้นมีจุดร่วมกันสำคัญประการหนึ่งและเป็นแรงขับเคลื่อนให้การแสดงพลังของมวลชนเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ลดละนั่นคือ เจตจำนงมุ่งมั่นให้เกิด “การปฏิรูป” หรือ “การเปลี่ยนแปลง” ไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น!!

ปมปัญหาหลักใหญ่ที่จุดชนวนให้มวลชนผู้ประท้วงออกมารวมตัวต่อสู้บนท้องถนนทั่วโลกมีตั้งแต่

Oความเหลื่อมล้ำในสังคม-พิษเศรษฐกิจ

การก่อตัวของกลุ่มผู้ประท้วงในหลายประเทศมีรากเหง้าปัญหามาจากความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมที่ฝังลึกในสังคม ช่องว่างคนรวยและคนจนมีอยู่อย่างเด่นชัด ผนวกกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ข้าวยากหมากแพง กระทบต่อปากท้องของผู้คนโดยถ้วนทั่ว

Advertisement

ในบางประเทศ “มาตรการรัดเข็มขัด” กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ให้ประชาชนออกมารวมตัวประท้วงรัฐบาล ก่อนสถานการณ์ลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจลนองเลือดและนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

หนึ่งในปรากฏการณ์ยึด “ท้องถนน” เป็นสมรภูมิต่อต้านรัฐบาล เกิดขึ้นในกรุงซานติอาโก เมืองหลวงชิลี ที่คนเรือนแสนลุกฮือปิดถนน ก่อจลาจลทำลายทรัพย์สิน และปล้นสะดมร้านค้า จากความโกรธแค้นไม่พอใจที่รัฐบาลชิลีประกาศขึ้นค่ารถโดยสารสาธารณะ โดยอ้างต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น สวนทางค่าเงินที่อ่อนลง ทว่าชาวชิลีมองว่านี่เป็นมาตรการล่าสุดที่รัฐบาลใช้บีบคนยากคนจน การประท้วงยังถูกยกระดับเป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมด้านรายได้ การสนับสนุนระบบประกันสุขภาพที่ดีและการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาตามมา

เหตุประท้วงทำนองเดียวกันยังเกิดในเอกวาดอร์ หลังรัฐบาลประธานาธิบดีเลนิน โมเรนิน ประกาศยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมัน ที่เคยทำให้ชาวเอกวาดอร์ใช้น้ำมันในราคาถูกมานานหลายสิบปี การยกเลิกมาตรการนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันในเอกวาดอร์ทะยานขึ้นทันที ผลกระทบหนักตกอยู่ที่ประชาชนรากหญ้าที่ไม่มีกำลังจ่าย หลังการชุมนุมประท้วงขยายวงเป็นเหตุจลาจลรุนแรง มีการเคลื่อนม็อบบุกโจมตีรัฐสภาและเกิดการปะทะหนักกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่คุมม็อบไว้ไม่อยู่ สุดท้ายรัฐบาลโมเรนินยอมถอยด้วยการคงการอุดหนุนราคาน้ำมันไว้ต่อไปเพื่อดับไฟม็อบ

Advertisement

สถานการณ์ในเลบานอนก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ที่ไม่พอใจแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและการบริหารประเทศผิดพลาดของรัฐบาลสั่งสมเป็นทุนเดิม ได้พากันออกมาประท้วงต่อต้าน หลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการภาษีใหม่ที่จะเรียกเก็บจากสินค้าบุหรี่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะภาษี “วอทส์แอพพ์” ช่องทางการติดต่อสื่อสารเดียวที่ชาวเลบานอนส่วนใหญ่นิยมใช้บริการเพราะมีกำลังพอจ่าย สุดท้ายการประท้วงถูกขยายผลไปสู่การขับไล่รัฐบาล

ยังมีการชุมนุมประท้วงค่าครองชีพสูงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองนับล้านในฝรั่งเศส การประท้วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในโคลอมเบีย และเหตุประท้วงต่อต้านการปรับขึ้นราคาน้ำมันในอิหร่านอย่างรุนแรง ที่เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 140 ราย

Oการทุจริตประพฤติมิชอบ

การทุจริตกินลึกในหมู่ผู้กุมอำนาจรัฐ เป็นปมปัญหาสำคัญและยังมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่ปลุกให้ผู้คนออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาล อย่างปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเลบานอน อิรัก และ อียิปต์ ที่ผู้ประท้วงไม่เพียงไม่พอใจภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่พวกเขาต้องประสบ หากแต่ยังโกรธแค้นคณะผู้ปกครองที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการแสวงหาความร่ำรวยส่วนตนด้วยการรับสินบนและเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตนเอง การลุกฮือในบางประเทศ ส่งผลให้ผู้นำรัฐบาลยอมลาออกไปในที่สุด

Oการทวงสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

ความรู้สึกติดอยู่ในกับดักของระบบการเมืองหรืออำนาจปกครองที่กดขี่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน เป็นเชื้อไฟชั้นดีที่ปลุกมวลชนให้ออกมาทวงคืนสิทธิอันชอบธรรม การเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างแรงกล้าปรากฎขึ้นในฮ่องกง ดินแดนใต้อาณัติจีน ที่ยึดหลักปกครอง “1 ประเทศ 2 ระบบ” โดยมีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐบาล “แคร์รี หล่ำ” ผู้ถูกตราหน้าว่าเป็น “หุ่นเชิด” ของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงหวั่นกลัวกันว่าร่างกฎหมายนี้จะเปิดทางให้จีนได้เข้ามาฮุบอำนาจควบคุมฮ่องกงได้อย่างเบ็ดเสร็จในท้ายที่สุด

การชุมนุมอย่างสันติในแรกเริ่มของผู้ประท้วงฮ่องกงที่สวมใส่ เสื้อสีดำ เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ผันเปลี่ยนกลายมาเป็นเหตุประท้วงนองเลือดรุนแรง หลังการเปิดฉากปะทะระหว่างตำรวจปราบจลาจลที่ยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนปืนยางเข้าใส่ ก่อนมีการใช้กระสุนปืนจริงประปราย กับกลุ่มผู้ประท้วงที่งัดเอาอาวุธที่พึงหยิบจับได้ทั้งไม้ ราวเหล็ก ก้อนหิน ระเบิดขวด และ ลูกธนู เข้าตอบโต้เจ้าหน้าที่ประหนึ่งทำสงครามจรยุทธ์

การประท้วงรุนแรงยืดเยื้อต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ กลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงยังไม่ล่าถอย แม้ร่างกฎหมายตัวปัญหาจะถูกเพิกถอนไปแล้ว ขณะข้อเรียกร้องของม็อบผู้ประท้วงถูกยกระดับขึ้นสู่การเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งโดยตรงของชาวฮ่องกงและการสอบสวนการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ โดยที่ฮ่องกงได้กลายร่างจากการเป็นศูนย์กลางการเงินอันรุ่งโรจน์แห่งเอเชีย มาเป็นดินแดนอันง่อยเปลี้ยที่ติดหล่มอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดหลังจากกลับคืนสู่อ้อมอกจีน

การต่อสู้ทางการเมืองของผู้ประท้วงในฮ่องกง ยังเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับกลุ่มนักเคลื่อนไหวอีกซีกโลกเอาเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะกลยุทธ์ในการต่อสู้ โดยที่แคว้นกาตาลุญญา เขตปกครองตนเองในประเทศสเปน คลื่นผู้ประท้วงออกมาชุมนุมก่อความไม่สงบ หลังจากศาลสเปนตัดสินความผิดของกลุ่มผู้นำแบ่งแยกดินแดนชาวกาตาลุญญาในการเรียกร้องเอกราชจากสเปน โดยกลุ่มผู้ประท้วงชาวกาตาลุญญาดำเนินกลยุทธ์แบบเดียวกับม็อบฮ่องกงในการพุ่งเป้าก่อกวนขัดขวางเพื่อให้เกิดภาวะชะงักงันสูงสุด ที่รวมถึงการยึดสนามบิน เป็นสมรภูมิประท้วง!

Oการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภาพอากาศที่ทำให้โลกเราร้อนขึ้น ส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ ล้วนเกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์เรา แม้หลายปีที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์ต่อสู้กับปัญหานี้มาโดยตลอด ทว่าก็ยังมองไม่เห็นมาตรการจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจังจากรัฐบาลนานาประเทศ ในปีนี้จึงเป็นอีกปีที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างหนัก หนึ่งในกิจกรรมใหญ่เป็นการออกมาเดินขบวนพร้อมกันของผู้ประท้วงมากกว่า 7.6 ล้านคนใน 185 ประเทศทั่วโลก เพื่อเรียกร้องกดดันให้ผู้กำหนดนโยบายสนใจและหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนจริงจัง

ปีนี้ยังได้เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วโลกเข้าร่วมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนต่อสู้ปัญหานี้ หลังได้แรงบันดาลใจจาก “เกรตา ธุนเบิร์ก” นักเรียนหญิงชาวสวีเดน วัยเพียง 16 ปี ที่ขณะนี้กลายเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัว ที่ลุกขึ้นมาโดดเรียนในทุกวันศุกร์เพื่อไปนั่งประท้วงเพียงลำพังที่หน้ารัฐสภาสวีเดน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเด็ดขาดในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จนเป็นที่มาของการก่อเกิดขบวนการแนวร่วมด้านสิ่งแวดล้อม “ฟรายเดย์ ฟอร์ ฟิวเจอร์” โดยบทบาทการเคลื่อนไหวอย่างเด็ดเดี่ยวของเกรตา ยังทำให้เธอได้รับเลือกเป็น “บุคคลแห่งปี 2019” ของ “TIME” นิตยสารทรงอิทธิพลฉบับหนึ่งของโลกด้วย

Oโซเชียลมีเดียกระพือไฟม็อบ

โซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมืออันทรงพลัง ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้อย่างฉับไวกว้างขวางและปลุกระดมกำลังพลผู้ประท้วงให้ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนได้อย่างรวดเร็วมหาศาล เป็นเครื่องมือที่ม็อบผู้ประท้วงทั่วโลกต่างนำมาใช้กันอย่างเห็นผล จนในบางประเทศอย่างใน อิหร่าน และ อียิปต์ รัฐบาลต้องพยายามหาทางสกัดด้วยการบล็อกสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพื่อตัดช่องทางการติดต่อสื่อสารของกลุ่มผู้ประท้วง หรืออย่างในอินเดียที่มีการประท้วงต่อต้านกฎหมายการให้สัญชาติที่ถูกก่นประณามว่าเป็นการกีดกันชาวมุสลิม ก็มีการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ด้วยหวังว่าจะสามารถคุมม็อบผู้ประท้วงไว้ได้ แต่นี่ไม่ได้เป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

สำหรับการลุกฮือประท้วงของมวลชนในทั่วทุกมุมโลกในปีนี้ แม้จะไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ โดยยังทำให้หวนนึกถึงเหตุประท้วงสำคัญในบางเหตุการณ์ที่ผ่านมาอย่างปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ในปี 2011 ที่ทำให้เราได้เห็นผู้กุมอำนาจรัฐในหลายประเทศ ร่วงหล่นลงจากอำนาจไปก็ตาม

ทว่าการประท้วงในหลายๆที่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นของความรู้สึกโกรธแค้นและการหมดสิ้นความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ต่อคณะผู้ปกครอง ที่ไม่สามารถทำตามพันธสัญญาที่ให้ไว้ได้ ส่วนผลลัพท์สุดท้ายจะมีการเดินซ้ำรอยของการถูกพลังประชาชนบีบโค่นลงจากอำนาจหรือไม่ ต้องรอดู

ที่แน่ๆ ตอนนี้ในหลายๆ แห่งที่ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ บังเกิดขึ้น การต่อสู้บนท้องถนนของมวลชนก็จะลากยาวต่อเนื่องข้ามปีไปอย่างแน่นอน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image