‘สีหศักดิ์’ มอง 1 ปีไทย ‘ปธ.อาเซียน’ ทูตไทยดันหนุน ‘เวียดนาม’ เจ้าภาพ

เมื่อไม่นานมานี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้ร่วมกับ สถาบันการทูตแห่งเวียดนาม (Diplomatic Academy of Vietnam ) จัดสัมมนา ASEAN Dialogue Series ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “ผลักดันอาเซียนไปข้างหน้า : จากประธานอาเซียนของไทยไปสู่การเป็นประธานอาเซียนของเวียดนามในปี 2020 อาเซียนที่ยึดโยงและตอบสนองร่วมกัน” หรือ Driving ASEAN Forward: From Thailand’s Chairmanship in 2019 to Vietnam’s Cohesive and Responsive ASEAN 2020 ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยในการประชุมอาเซียน เป็นผู้บรรยายหลักในส่วนของมุมมองเกี่ยวกับไทย

การสัมมนาดังกล่าวมีขึ้นเพื่อประเมินการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ทั้งความสำเร็จและความท้าทายที่ประเทศไทยประสบ ภายในบริบทของสถานการณ์การเมืองภายในภูมิภาคและสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ “มติชน” จึงได้นำเนื้อหาบางส่วนของการสัมมนาครั้งนี้มานำเสนอ โดยเฉพาะในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา และได้พูดคุยกับ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนาม ถึงการสัมมนาครั้งนี้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของเวียดนามในการรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้

นายสีหศักดิ์ระบุว่า การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 เป็นโอกาสที่จะทำให้นโยบายต่างประเทศของไทยกลับมาสู่สถานะที่ควรจะเป็นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากไทยในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับ 2 ของอาเซียน และยังเป็นประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน ไทยถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของอาเซียนมาตลอด และยังเป็นประเทศที่อยู่ในแนวหน้าของประชาธิปไตยในภูมิภาคอีกด้วย อย่างไรก็ดีหลังจากเหตุวุ่นวายทางการเมืองที่ต่อเนื่องในไทย ตามด้วยการเข้ามาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นักการทูตไทยต้องใช้เวลาค่อนข้างมากไปกับการชี้แจงถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ บทบาทด้านการต่างประเทศไทยก็เปรียบดังถูกใส่กุญแจมือไว้

Advertisement

เมื่อไทยรับหน้าที่ประธานอาเซียน ความท้าทายสำคัญคือการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยเองบวกกับการบริหารจัดการสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ เพราะยังคงมีความหวั่นวิตกว่าความไม่แน่นอนของการเมืองไทยอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยในช่วงเวลาสำคัญยิ่งนี้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิสถาปัตย์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกที่เกิดขึ้น อาเซียนจึงต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งจากสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกภูมิภาค ทั้งจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน การเพิ่มขึ้นของลัทธิกีดกันทางการค้า และการเสื่อมถอยของระบบพหุภาคี

การกลับมารับตำแหน่งประธานอาเซียนอีกครั้งของไทยยังทำให้ความทรงจำที่การประชุมต้องล้มเลิกกระทันหันเมื่อครั้งที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนครั้งก่อนในปี 2551 ย้อนกลับมาอีกครั้ง ในการเป็นประธานอาเซียนครั้งนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดิมซ้ำอีก และวางมาตรการต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงการเลื่อนเวลาประชุมผู้นำอาเซียนครั้งแรกออกไปเป็นเดือนมิถุนายน หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไทยตั้งใจมุ่งมั่นที่จะทำให้การเป็นประธานอาเซียนในครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยังเป็นการตอบสนองความมุ่งมั่นที่จะทำให้การต่างประเทศของไทยกลับมาสู่ทิศทางที่ควรจะเป็นอีกครั้งหนึ่ง

แนวคิดหลักในการเป็นประธานอาเซียนของไทยคือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งประกอบด้วยนัยสำคัญของการมุ่งไปสู่อนาคต การเป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน และความยั่งยืน เพื่อรักษาไว้ซึ่งการเป็นแกนกลางของอาเซียน การสร้างประชาคมอาเซียน และความเชื่อมโยง สิ่งที่ถือเป็นความสำเร็จของการเป็นประธานอาเซียนของไทยคือการที่สามารถสรุปผลการเจรจาในประเด็นหลักของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) โดยมองว่าบริบทของสงครามการค้าจีน-สหรัฐเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันการเจรจา ขณะที่ไทยได้ผลักดันให้มีการเพิ่มการหารือระหว่างกันมากขึ้นจนทำให้บรรลุผลการเจรจาได้ พร้อมกับคาดหวังว่าอินเดียจะกลับเข้าสู่การเป็นภาคีของอาร์เซ็ป เพราะหากไม่มีอินเดียอาร์เซ็ปก็จะไม่มีความหมายเท่าที่ควรจะเป็น

Advertisement

ต่อกรณีเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกนั้น ถือเป็นความจำเป็นที่อาเซียนต้องมีเอกสารมุมมองของอาเซียนเองในเรื่องดังกล่าว ไม่เช่นนั้นก็เสี่ยงที่จะตกขบวน อย่างไรก็ดีการที่อาเซียนจะรักษาความเป็นแกนกลางที่แท้จริง อาเซียนจะต้องมีการดำเนินการในเชิงรุก เพื่อให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพและสันติภาพอย่างแท้จริง ส่วนประเด็นทะเลจีนใต้ แม้จะมีร่างแรกซึ่งเป็นผลสรุปเบื้องต้นของการหารือแล้วก็ตาม แต่การเจรจาเพื่อจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้(ซีโอซี) ในช่วงปี 2562 ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ความท้าทายที่แท้จริงอยู่ในขั้นต่อไปที่จะต้องมีการเจรจาเกี่ยวกับผลผูกพันทางกฎหมายและการตัดสินใจว่าซีโอซีจะมีผลผูกพันมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดีคิดว่าอาเซียน-จีนเดินหน้าไปยังทิศทางที่ถูกต้องแล้วในเรื่องดังกล่าว

การผลักดันประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของไทยในการเป็นประธานอาเซียน โดยเฉพาะการรับรองแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล นอกจากนี้ไทยซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู) จนสามารถปลดใบเหลืองได้ ยังได้ดำเนินการผลักดันการแก้ไขปัญหานี้ในกรอบอาเซียนด้วย

ในประเด็นการสร้างความเชื่อมโยงนั้น ไทยเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์หลักจากการมีความเชื่อมโยงในอาเซียนและภูมิภาค โดยได้ก้าวข้ามความเชื่อมโยงภายในอาเซียนด้วยกัน และผลักดันให้มีการ “Connecting the Connectivities” คือการเชื่อมอาเซียนกับแนวคิดความเชื่อมโยงทั้งของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยรวม

สำหรับประเด็นที่อาจไม่ดีเท่าที่ควรคือการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ส่งหัวหน้าคณะผู้ทแนระดับที่ไม่สูงนักมาร่วมประชุม ซึ่งไม่ทำให้เกิดความมั่นใจต่อพันธสัญญาของสหรัฐที่มีต่อภูมิภาค แต่สหรัฐก็พยายามที่จะชดเชยด้วยข้อเสนอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษในช่วงต้นปี 2563 แทน ขณะที่การหารือและการตัดสินใจโดยฉันทามติทำให้การผลักดันประเด็นรัฐยะไข่ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร โดยอาเซียนจะต้องก้าวข้ามแนวคิดนี้ไปให้ได้หากอาเซียนต้องการคงการมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค ประการสุดท้ายคือไทยยังไม่สามารถผลักดันให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางได้มากเท่าที่ควร รวมถึงการเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมมากขึ้นของภาคประชาสังคมในการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอาเซียน และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

ด้านท่านทูตธานีกล่าวว่า การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 และเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนในแวดวงวิชาการ คณะทูตและสาธารณะชนผู้สนใจในกรุงฮานอย นอกจากนี้สถานทูตยังต้องการกระชับความร่วมมือกับสถาบันการทูตเวียดนามด้วย ที่ผ่านมามีการจัดสัมมนาร่วมกันมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมจำนวนมากจนที่นั่งเต็มทั้งสองครั้ง โดยเฉพาะนักวิชาการ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทูตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนาม คณะทูตต่างประเทศในกรุงฮานอย ตลอดจนนักศึกษาเวียดนามและไทย มีการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์

“ผมเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นวาระของประเทศใดในการเป็นประธานอาเซียน ก็ต้องการการเตรียมการอย่างมากจากประเทศนั้นๆ ทั้งการขับเคลื่อนด้านนโยบาย สารัตถะ และด้านพิธีการ การประชาสัมพันธ์ และการบริหารการขับเคลื่อนการประชุมต่างๆ ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องสนับสนุนประเทศที่เป็นประธานอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม หรือประเทศใดอย่างเต็มที่ การจัด ASEAN Dialogue Series ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนั้น”ท่านทูตธานีกล่าว

ท่านทูตธานีกล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนและมีบทบาทสร้างสรรค์มาโดยตลอดจึงมีบุคลากรในแวดวงต่างๆ ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับอาเซียนหลายคน ที่ผ่านมาจึงขอให้ผู้รู้เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นคุณกวี จงกิจถาวร อดีตบรรณาธิการอาวุโส หรือคุณสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและหัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนของไทย ไปแบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์เพื่อช่วยกันผลักดันและเสริมสร้างการทำงานของอาเซียนร่วมกัน ซึ่งก็ถือเป็นการมีส่วนร่วมของไทยใน track 1.5 อีกทางหนึ่ง ขณะที่ในการจัดกิจกรรมร่วมกับสถาบันการทูตเวียดนาม สถานเอกอัครราชทูตก็จะถือโอกาสสอดแทรกเสน่ห์ของอาหารของว่างและเครื่องดื่มแบบไทยๆ ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับประทานกันด้วย

เมื่อถามถึงการเตรียมความพร้อมของเวียดนามในการรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปี 2563 ท่านทูตธานีกล่าวว่า “ในฐานะเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนาม ผมทราบว่ารัฐบาลเวียดนามได้เริ่มเตรียมการโดยแต่งตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติหนึ่งปีล่วงหน้าคือตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 และได้จัดการสัมมนาเตรียมการมาเป็นระยะๆ ในปี 2562 ทำให้ได้หัวข้อหลักที่ครอบคลุม สอดคล้องกับสถานการณ์ในภูมิภาคที่ผันผวน และตรงกับความจำเป็นและความต้องการของอาเซียน ทั้งในแง่ของ cohesive คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารงานในสำนักเลขาธิการอาเซียนและความสามัคคีในหมู่ประเทศสมาชิก และในแง่ responsive คือการขับเคลื่อนอาเซียนเพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ภัยคุกคามต่อกรอบความร่วมมือกฎระเบียบในกรอบพหุภาคี รวมทั้งประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาค สิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่ในประเทศสมาชิกเองล้วนแต่ต้องการ response หรือการตอบรับที่มีประสิทธิภาพและ “ตอบโจทย์” ร่วมกันของอาเซียนทั้งสิ้น”

ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงควรสนับสนุนเวียดนามอย่างเต็มที่ในฐานะประธานผู้ขับเคลื่อนบทบาทของอาเซียน เพื่อประโยชน์และเสถียรภาพร่วมกันของภูมิภาค รวมถึงความผาสุก อยู่ดี กินอิ่ม ปลอดภัยของ “ประชาชนอาเซียน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image