วิเทศวิถี : ประเด็นท้าทาย การตปท.ไทย2563

เผลอเพียงไม่นานปีใหม่ก็เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง และเผลอเพียงแป๊บเดียวก็ย่างเข้าสู่กลางเดือนมกราคมกันแล้ว เลยถือโอกาสย้อนมองสถานการณ์ด้านการต่างประเทศของไทยในปีที่ผ่านมา รวมถึงสิ่งที่ถือเป็นความท้าทายด้านการต่างประเทศที่ไทยต้องเผชิญในปีนี้

หากมองภาพรวมเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยในปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าสิ่งที่โดดเด่นและเป็นที่รับรู้ของคนไทยทั่วทั้งประเทศย่อมต้องเป็นการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยที่มีกิจกรรมการประชุมต่างๆ มากมายตลอดทั้งปี 2562

สิ่งสำคัญที่สุดของไทยคือการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 สามารถลบภาพจำในอดีตเมื่อปี 2552 ที่ล้มเหลวในการควบคุมความสงบเรียบร้อยอย่างไม่เป็นท่าจนทำให้การประชุมผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาล่ม แน่นอนว่าสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ยังไม่อาจพูดได้ว่ากลับสู่สภาวะปกติ แต่รัฐบาลก็สามารถควบคุมและจัดการประชุมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยตลอดทั้งปี แม้ว่าจะต้องเลื่อนการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งแรกที่เป็นการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกันเองจากเดือนเมษายนมาเป็นเดือนมิถุนายน เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อนก็ตาม

ต้องบอกว่าเมื่อใดก็ตามที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระหว่างประเทศ ประเทศสมาชิกของกรอบความร่วมมือต่างๆ ล้วนแต่ยินดีและอยากมาเยือนไทยด้วยกันทั้งสิ้น อาจเป็นเพราะ “ความเป็นไทย” มีเสน่ห์พิเศษในความรู้สึกของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นศิลปะวัฒนธรรม อาหาร หัตถกรรม หัตถศิลป์ และรายละเอียดต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเรามีความใส่ใจและยินดีต้อนรับต่อแขกผู้มาเยือนด้วยน้ำใสใจจริง

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่ของเนื้อหาสาระที่เป็นผลจากการประชุมก็ไม่ได้น้อยหน้า เราได้ผลักดันทั้งเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของภูมิภาคในหลากมิติ ตั้งแต่เรื่องที่ทั้งโลกจับตาอย่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) เอกสารแนวคิดอินโด-แปซิฟิกของอาเซียน ไปจนถึงเรื่องอื่นๆ อย่างการเชื่อมโยงความเชื่อมโยงต่างๆ ที่มีเข้าด้วยกัน การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงวัย การจัดการกับปัญหาขยะทะเล ไปจนถึงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมในปีแห่งวัฒธรรมอาเซียน

แน่นอนว่าประเด็นทั้งหมดที่อาเซียนได้ตกลงกันไว้ต้องมีการสานต่อเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป เช่นเดียวกับที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พูดไว้ ว่าสิ่งสำคัญสำหรับการการทำงานของอาเซียนคือต้องมีความต่อเนื่อง เพื่อที่จะผลักดันความตกลงต่างๆ ที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในอาเซียนที่ถือเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการผลักดันความร่วมมือต่างๆ ระหว่างกัน ในปีนี้ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการเป็นประธานอาเซียนของเวียดนามภายใต้แนวคิดหลัก “Cohesive and Responsive” ของเวียดนามจะนำพาอาเซียนไปในทิศทางใดต่อไป

(แฟ้มภาพ) REUTERS

กลับมาว่ากันถึงประเด็นที่เป็นความท้าทายของการต่างประเทศไทยในปีหนู แน่นอนว่าความท้าทายประการสำคัญยังคงอยู่ที่ “การเมืองภายในประเทศ” เช่นเดียวกับ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าปัจจุบันเราจะพูดได้ว่าไทยได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามปกติ แต่ความวุ่นวายทางการเมืองในไทยยังห่างไกลจากคำว่ายุติมากนัก

Advertisement

ปัญหาการเมืองภายในประเทศเริ่มต้นจากสภาวะปริ่มน้ำของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดูจะสร้างความวุ่นวายได้เป็นประจำสม่ำเสมอในการประชุมรัฐสภา เพราะรัฐบาลนี้มีทั้งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่สมาชิกพรรคออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างหนักคนอาจมีคนเข้าใจว่าเป็นพรรคฝ่ายค้าน หรือกระทั่งการลงมติโหวดในประเด็นสำคัญต่างๆ ก็ปรากฎปัญหารัฐบาลมีเสียงไม่เพียงพอ เพราะแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลที่เสียงปริ่มน้ำอยู่แล้วก็ยังไม่ได้โหวดไปในทิศทางเดียวกัน จนต้องหันไปใช้บริการทั้งจากฝ่ายค้านอิสระและฝ่ายค้านจริงๆ จนเกิดข้อกล่าวหาฤาษีเลี้ยงลิงออกมาเป็นระยะ

ยิ่งในช่วงเร็วๆ นี้ พรรคอนาคตใหม่กำจะต้องเจอกับคำพิพากษาในหลายคดี ไม่ว่าคดีอิลลูมินาติ ที่มีการกล่าวหาว่าพรรคอนาคตใหม่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่เนื่องจากการที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคกู้ยืมเงินไปใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งหากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจริงก็อาจเกิดการซื้อตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนาคตใหม่ ที่จำเป็นต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วันตามมา

แม้แต่กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในวันที่ 12 มกราคมนี้ ที่หลายคนมองว่าเป็นการหยั่งเชิงวัดกำลังแนวร่วม ก่อนที่จะขยายไปสู่การนำการเมืองลงสู่ถนนอีกครั้ง หากสถานการณ์สุกงอมและมีผู้สนับสนุนมากเพียงพอ ก็ดูจะเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ที่ว่ามาข้างต้นเป็นเพียงประเด็นบางส่วนที่สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองภายในประเทศยังคงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย เพราะการเมืองภายในที่ยังไม่นิ่งย่อมทำให้ประเทศต่างๆ ที่จับตาดูสถานการณ์การเมืองไทยมีคำถามอะไรหลายอย่างตามมา ทำให้การผลักดันนโยบายต่างประเทศยังต้องเสียเวลาไปกับการอธิบายพัฒนาการของสถานการณ์การเมืองไทยอย่างไม่สิ้นสุดนั่นเอง

อีกปัจจัยหนึ่งที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเกือบจะทุกประเทศในโลกขณะนี้ ย่อมหนีไม่พ้น “การประลองกำลังกันระหว่างชาติมหาอำนาจ” ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในเรื่องสงครามการค้าโดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่แม้ว่าในวันที่ 13-15 มกราคม จะมีการลงนามในความตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างกันแล้วก็ตาม แต่เชื่อเถิดว่าเรื่องนี้ไม่จบง่าย เพราะประเด็นความขัดแย้งระหว่างกันไม่ได้มีเฉพาะประเด็นการขึ้นกำแพงภาษี แต่ยังลุกลามไปถึงเรื่องอื่นๆ อีก อาทิ การพยายามที่จะปัดแข้งปัดขาบริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน ที่คงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกกันต่อเนื่องต่อไป
หรือความตึงเครียดที่ขยายตัวในขณะนี้อันเนื่องมาจากการที่สหรัฐสังหาร นายพลคัสเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ ของกองทัพปฏิวัติอิหร่าน ที่บานปลายกลายเป็นความวุ่นวายในภูมิภาคตะวันออกกลาง ภายใต้ความหวั่นวิตกว่าจะเกิดสงครามตัวแทนตามมา

AFP

เหล่านี้เป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยต้องวางจุดยืนของเราให้พอเหมาะพอดี เพื่อที่จะรับมือกับประเด็นที่อยู่นอกเหนือการควบคุมแต่มีผลกระทบกับเราอย่างเลี่ยงไม่พ้น จะทำอย่างไรที่เราจะรักษาผลประโยชน์ของไทยในเวทีโลกให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์โลกทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยปัญหาวุ่นวายและอยู่ได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image