รายงาน : ‘ดอน’ กับภารกิจ 1 สัปดาห์ 2 ภูมิภาค

ภาพจาก SPA

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข้อกล่าวหาจากทางรัฐสภาว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ยอมมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการในกรณีข่าวคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเหตุโจมตีสังหารนายพลอิหร่านของสหรัฐในอิรัก ซึ่งในความจริงหากทราบข้อมูลก็จะเข้าใจได้ว่ารัฐมนตรีดอนไม่ได้หนีหน้าหรือหนีการชี้แจงตามที่ถูกกล่าวหา เพราะตั้งแต่วันที่ 11-13 มกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน ก่อนจะกลับมาร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 14 มกราคม จากนั้นก็เดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่เมืองญาจาง ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 15-17 มกราคม

ประเด็นสำคัญยิ่งของการเยือนตะวันออกกลาง 3 ประเทศใน 3 วัน อยู่ที่การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งถือเป็นการเยือนครั้งแรกในรอบ 30 ปี หลังจากที่ทั้งสองประเทศมีปัญหาระหว่างกันกันมาหลายกรณี แน่นอนว่าเราไม่อาจคาดหวังได้ว่าการเยือนครั้งแรกนี้จะได้ข้อสรุปใดๆ ที่ถึงขั้นเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ แต่การเยือนดังกล่าวย่อมถือเป็นพัฒนาการในทางบวกสำหรับความสัมพันธ์สองประเทศที่สำคัญยิ่ง เพราะอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศกำลังมองไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ประสบภาวะชะงักงันมานาน

ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีความพยายามจากกระทรวงการต่างประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องที่จะปรับความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย แต่ด้วยปัจจัยการเมืองในไทยและปัญหาอันเนื่องมาจากการดำเนินคดีในหลายๆ กรณีที่ทำให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียมองว่าฝ่ายไทยยังไม่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่จะพยายามแก้ไขประเด็นที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียยังติดขัดคับข้องใจอย่างเต็มที่ มาถึง ณ วันนี้ ที่มีการเยือนซาอุดีอาระเบียของรัฐมนตรีดอนก็แสดงให้เห็นว่า ความปรารถนาที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นได้ก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว

ระหว่างการเยือนซาอุดีอาระเบีย นายดอนได้หารือกับ เจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย กับ นายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบและมีบทบาทด้านการต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียโดยตรง โดยประเด็นหลักที่ได้มีการพูดคุยกันคือการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งนายดอนระบุว่า การเยือนครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดี และถือเป็นพัฒนาการในทางบวกที่จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศต่อไป

Advertisement

ถือเป็นการเริ่มต้นปีด้วยภารกิจที่จะยังประโยชน์ให้กับการเดินหน้าปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียอย่างที่อยากจะเห็นกันมานาน

สำหรับการเยือนโอมานเป็นการเดินทางไปในฐานะผู้แทนของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยนายดอนได้เข้าเฝ้า สุลต่านฮัยซัม บิน ฏอริก อาล ซะอีด แห่งโอมาน เพื่อแสดงความเสียใจในการสวรรคตของ สุลต่านกอบูส บิน ซาอิด อัล ซาอิด ที่นายดอนระบุว่า พระองค์เป็นผู้ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าทรงมีบทบาทในการพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจและเปลี่ยนแปลงโอมานให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งยังมีบทบาทในความริเริ่มเพื่อสันติสุขของโลกเป็นอย่างมากซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีในเวทีระหว่างประเทศ

Advertisement

ขณะที่การเยือนบาห์เรน ก็ได้มีการหารือกับ เชค คาหลิด บิน อาเหม็ด บิน โมฮัมหมัด อัล คอลิฟะห์ รัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่ยาวนานระหว่างกัน ซึ่งทวีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และพูดคุยเกี่ยวกับการหารือในกรอบต่างๆ ในอนาคต ที่จะช่วยสานต่อความร่วมมือในทุกมิติต่างอย่างครอบคลุมและเกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ในส่วนของการร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการประชุมแรกของปีสำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จัดขึ้นในเดือนมกราคมของทุกปี การหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนี้จะเป็นการกำหนดกรอบแนวทางของการทำงานของอาเซียนภายใต้การเป็นประธานของเวียดนามตลอดทั้งปี 2563 นอกจากการหารือถึงภาพรวมของการสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในภูมิภาคและในโลกแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังได้หยิบยกประเด็นต่างๆ ที่เห็นว่ามีความสำคัญขึ้นมาพูดคุยกันอีกด้วย

แน่นอนว่าประเด็นแรกๆ ซึ่งมีการหารือกันย่อมต้องเป็นเรื่องรัฐยะไข่ของเมียนมา โดยเฉพาะการส่งกลับผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่เข้าไปอยู่ในค็อกซ์บาซาร์ของบังคลาเทศ ประเด็นดังกล่าวดูยังจะวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ คือการเรียกร้องให้เมียนมาพูดคุยกับบังคลาเทศมากขึ้น และยังเน้นย้ำความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอชซีอาร์)และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่สหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) อุปสรรคสำคัญคือความไม่แน่ใจของชาวโรฮีนจาว่าจะกลับมาเจอกับอะไร เมื่อเงื่อนไขสำคัญคือต้องไม่มีการบังคับให้กลับเมียนมา แต่ต้องเป็นการเดินทางกลับโดยความสมัครใจเท่านั้น

ชาติสมาชิกอาเซียนพร้อมที่จะช่วยเหลือเมียนมาอย่างเต็มที่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นได้โดยเร็ว ซึ่งหลังจากมีการส่งคณะทำงานเข้าไปประเมินสภาพพื้นที่ในเบื้องต้นแล้ว ในไม่ช้าอาเซียนจะส่งคณะทำงานอีกชุดหนึ่งเข้าไปในเมียนมาเพื่อประเมินความต้องการแบบครอบคลุม เพื่อที่อาเซียนจะได้ให้ความช่วยเหลือเมียนมาได้ตรงตามความต้องการต่อไป

สิ่งที่อาเซียนให้ความสำคัญยังรวมถึงการดูแลให้ชาวโรฮีนจาที่เดินทางกลับเข้าไปยังเมียนมาต้องสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็มีหลายประเทศและหลายองค์กรที่ได้เข้าไปทำโครงการช่วยเหลือต่างๆ ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งการฝึกอาชีพ การเกษตร ฯลฯ จึงเหลือเพียงว่าเมียนมาจะสามารถโน้มน้าวให้ชาวโรฮีนจากลับมาได้อย่างไรเท่านั้น

การแก้ไขปัญหารัฐยะไข่ของเมียนมายังพันกับการที่ประเทศแกมเบีย ในฐานะผู้แทนขององค์การความร่วมมืออิสลาม(โอไอซี) ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) ซึ่งศาลจะต้องมีคำสั่งเรื่องมาตรการชั่วคราวออกมา และอาจจะกระทบกับการแก้ไขปัญหาโรฮีนจาในภาพรวม เพราะรัฐบาลเมียนมาจะต้องทุ่มเทสรรพกำลังไปกับการแก้ไขปัญหาในศาลโลก และที่จ่อจะขึ้นอีกศาลในอีกไม่นานก็คือศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่มีผู้จองกฐินเอาไว้แล้วเช่นกัน

อีกหนึ่งประเด็นที่จะไม่พูดถึงเสียมิได้ก็คือประเด็นทะเลจีนใต้ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้เน้นย้ำถึงจุดยืนที่ต้องการให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรือง ทั้งยังสนับสนุนให้มีความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้(ซีโอซี) เพื่อให้ได้ข้อยุติในการจัดทำซีโอซีที่มีประสิทธิผลและมีสาระอันสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายทะเล 1980 โดยเร็ว พร้อมกับเรียกร้องให้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจรจาเพื่อจัดทำซีโอซี ทั้งยังเรียกร้องให้มีมาตรการที่ทำได้จริงที่จะช่วยลดความตึงเครียดและความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความไม่เข้าใจ และการคาดการณ์สถานการณ์ที่ผิดพลาด

สำหรับคำเชิญของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่ได้เชื้อเชิญผู้นำอาเซียนให้ไปหารือกันเป็นกรณีพิเศษที่สหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากที่ทรัมป์ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่าผู้นำอาเซียนพร้อมที่จะเดินทางไปพบปะกับทรัมป์ตามคำเชิญ ส่วนวันที่อาเซียนยังไม่ได้เปิดเผยออกมาก็มีข่าวว่าจะเป็นวันที่ 14 มีนาคม ที่นครลาสเวกัสของสหรัฐนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image